"ยาเบาหวาน ไม่ได้ทำให้ไตเสื่อม" หมอจิ๊ง พญ.ศศิภัสช์ ชวนมาทำความเข้าใจกันใหม่ - Diabetes medications are not the culprit of kidney failure

ไตวายเพราะยาเบาหวาน ความเข้าใจผิดที่ทำให้โรคแย่ลง

โรคเบาหวาน หนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้หลากหลาย หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ ไตเสื่อม ไตวาย

แชร์

ไตวายเพราะยาเบาหวาน ความเข้าใจผิดที่ทำให้โรคแย่ลง 

โรคเบาหวาน หนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้หลากหลาย หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ ไตเสื่อม ไตวาย

หลายคนเข้าใจว่าเพราะป่วยเป็นเบาหวานแล้วต้องกินยาเยอะมาก ทำให้ไตมีปัญหา จึงกลัวการกินยา หยุดยาเอง ไม่กินยา ผลก็คืออาการเบาหวานแย่ลง และยิ่งทำให้การรักษายุ่งยากซับซ้อนขึ้นมาก บทความนี้ พญ.ศศิภัสช์ ช้อนทอง แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม หรือ หมอจิ๊ง จะมาแนะนำข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อการดูแลร่างกาย และรับมือกับโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ไตวาย เพราะโรคเบาหวาน จริงหรือ ?

สิ่งแรกที่ควรเข้าใจให้ถูกต้อง คือ ไตวาย ไตเสื่อม หรือ โรคไตเรื้อรัง มาจากลักษณะการดำเนินโรคของโรคเบาหวาน ไม่ใช่ยาเบาหวาน โดยโรคเบาหวานนั้นมีอาการตรงตามชื่อ คือ มีน้ำตาลปนออกมากับปัสสาวะ จากภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง (มากกว่า 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) 

“ในคนทั่วไป หากกลไกการทำงานของหน่วยไตเป็นปกติ ร่างกายจะสามารถดูดเอาน้ำตาลกลับไปทางหน่วยไต ไม่ได้ปะปนมากับปัสสาวะ แต่ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไม่ว่าจะมาจากร่างกายขาดอินซูลิน หรือมีภาวะดื้ออินซูลินก็ตาม ทำให้การดูดซึมน้ำตาลของไตไม่มีประสิทธิภาพ น้ำตาลบางส่วนถูกปล่อยออกมา”

“เหตุผลที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้การทำงานของไตผิดปกติ มาจากน้ำตาลในเลือดก่อให้เกิดภาวะอักเสบ โดยเฉพาะในหลอดเลือด พออักเสบ เกิดแผล ร่างกายก็จะพยายามสมานแผล เกิดเป็นหินปูนหรือคราบตะกรันต่าง ๆ มาเกาะตามผนังหลอดเลือด เส้นเลือดจึงมีปัญหา รวมไปถึงเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กที่ไปที่ไต พอเส้นเลือดมีปัญหา ตีบแคบ เกิดความดันภายในหลอดเลือดเหล่านั้น ก็ส่งผลต่อหน่วยไต ช่วงแรกไตอาจยังทำงานได้ตามปกติ แต่จะมีโปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะ และเมื่อไตต้องทำงานหนัก ทำงานเยอะกว่าปกติ อาจส่งผลให้ไตวาย หรือไตเสื่อมได้นั่นเอง”

หากมีโปรตีนรั่วมากับปัสสาวะไปสักระยะหนึ่ง จะทำให้เกิดการตายของหน่วยไต และเซลล์ที่อยู่บริเวณหน่วยไต ทำให้การทำงานในการกรองของเสียออกทางปัสสาวะลดลง จึงเกิดเป็น ภาวะเบาหวานลงไต

เมื่อใคร ๆ ก็โทษยาเบาหวาน

เมื่อป่วยเป็นเบาหวาน และมีภาวะไตเสื่อม ไตวาย บางครั้งแพทย์จำเป็นต้องเปลี่ยนยารับประทาน ในยาบางชนิดต้องขับออกทางไต หลายคนจึงมักเข้าใจว่าเป็นเพราะยาโรคเบาหวานที่เป็นตัวการให้ไตเสื่อม แต่ความจริงแล้ว ยาโรคเบาหวานนั้น มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคไตด้วยซ้ำ

“ที่แพทย์ต้องปรับยา เพราะว่ายาบางชนิดขับออกทางไต เวลาผู้ป่วยมีภาวะไตเสื่อม การทำงานของไตจะลดลงจากภาวะเบาหวานที่คุมไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยจะได้รับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ของยานั้น ๆ เยอะกว่าปกติ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ เลือดเป็นกรด สรุปแล้ว ที่เปลี่ยนยาไม่ใช่เพราะกลัวว่ากินเข้าไปแล้วทำให้ไตวาย แต่กลัวว่าการที่ไตทำงานได้ไม่ดี จะทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยาเยอะขึ้นค่ะ”

ตามหลักแล้ว ยาเบาหวาน ไม่ได้ทำร้ายไต เนื่องจากยาออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ในระยะยาวจะช่วยลดโอกาสเกิดความดันโลหิตสูง ป้องกันความดันไปทำให้เกิดปัญหากับไตได้

ในปัจจุบัน มียากลุ่มใหม่ ๆ ที่มีงานศึกษาวิจัย พบว่าช่วยป้องกันการเกิดภาวะไตเสื่อมได้ ได้แก่ ยากลุ่ม SGLT2 inhibitor มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ขับกลูโคสออกทางไต ทำให้เส้นเลือดที่วิ่งไปยังไตหดตัว จึงไม่ทำให้ความดันโลหิตส่งผลเสียต่อไต และปกป้องไม่ให้ไตเสื่อม

“ในระยะยาว มีการศึกษาในผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ พบว่านอกจากจะลดน้ำตาลในเลือดได้แล้ว ยังทำให้ภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะดีขึ้นด้วย นอกจากยากลุ่มที่กล่าวไปข้างต้น ยังมียากลุ่มอื่นอีก เช่น GLP-1 agonists ซึ่งเป็นยาเบาหวานกลุ่มใหม่ที่สามารถลดภาวะโปรตีนรั่วได้เช่นกัน”

“ยาทั้งสองกลุ่มตอนนี้ราคาจะค่อนข้างสูง มีการเบิกจ่ายตามกรมบัญชีกลาง มีข้อบ่งชี้ในการพิจารณาจ่ายยาให้กับผู้ป่วยกลุ่มที่มีภาวะไตเสื่อม และภาวะโปรตีนรั่ว อีกทั้งยังใช้ได้ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ป่วยที่มีปัญหาน้ำท่วมปอด ในยากลุ่ม GPL-1 agonists ยังสามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบอีกด้วย”

ถึงแม้ยาเบาหวาน จะไม่ใช่ยากลุ่มที่ส่งผลต่อการทำงานของไตอย่างที่เข้าใจ แต่ก็มียาบางกลุ่มที่ส่งผลต่อไต แต่หลายคนอาจมองข้าม และชอบซื้อมารับประทานเอง อาทิ ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs ยาปฏิชีวนะบางชนิด รวมไปถึงยาหม้อ ยาต้ม ยาลูกกลอน ยาสมุนไพร บางครั้งยาเหล่านี้มักก่อให้เกิดปัญหากับไตโดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบ

เมื่อผู้ป่วยหยุดยาเอง ความยากจึงบังเกิด

“มีคนไข้เยอะเลยที่หยุดยาเองเพราะคิดว่ากินยาเบาหวานแล้วทำให้เป็นโรคไต หมอเองก็ต้องคอยปรับความเข้าใจกับคนไข้ ว่าที่ไตแย่ลง เพราะไม่ยอมกินยา ไม่คุมเบาหวาน ไม่ใช่ไตแย่ลงเพราะกินยา”

หลังจากผู้ป่วยเบาหวานหยุดยาเอง ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น และมักจะมาด้วยอาการปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย น้ำหนักลด เหนื่อย เพลีย ไม่มีแรง เพราะร่างกายเอาน้ำตาลส่วนเกินไปใช้ไม่ได้เลย อินซูลินไม่ดึงเอาน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงาน 

“มีบางคนที่อยากน้ำหนักลด จึงปล่อยให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงค่ะ ซึ่งเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เรียกว่าอันตรายเลย หากน้ำตาลในเลือดสูงมาก เลือดก็เป็นกรด ระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ ก่อให้เกิดอาการซึม สับสน ขาดน้ำ และไตวาย”

  • อันตรายที่เกิดกับดวงตา

อย่างที่เข้าใจ ว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงก่อให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดต่าง ๆ จอประสาทตาเองก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีหลอดเลือดขนาดเล็กไปเลี้ยง เมื่อหลอดเลือดเหล่านี้มีปัญหา จอประสาทตาจึงเสื่อม การมองเห็นค่อย ๆ ลดลง บางครั้งอาจมีอาการเฉียบพลัน มองไม่เห็นไปเลย แต่โดยส่วนมากจะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ผู้ป่วยรู้ตัวอีกที จอประสาทตาก็เสื่อม มีเลือดออกในวุ้นลูกตา หรือตาบอดไปแล้ว

  • ชาปลายมือปลายเท้า

ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เส้นประสาทส่วนปลายมีปัญหา จึงเกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า บางราย จะมีอาการที่เชื่อมโยงกับเส้นประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย เช่น ใจสั่น หน้ามืดบ่อย เวียนศีรษะบ่อย บ้างเหงื่อออกผิดปกติ บ้างไม่มีเหงื่อ ขนร่วง มือเท้าเย็น

  • หลอดเลือดใหญ่อักเสบ

หลอดเลือดใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันดี คือ หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง หากมีอาการอักเสบจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ก็อาจทำให้เกิดอาการหลอดเลือดตีบ และถ้ามีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ หลอดเลือดหัวใจจะมีโอกาสตีบสูงมาก ส่วนหลอดเลือดสมอง หากตีบก็อาจเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตได้ 

วลี ‘หวานตัดขา’ มีที่มา

อีกหนึ่งผลกระทบที่มาจากความเสียหายของหลอดเลือด คือ ขา เพราะเมื่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณปลายมือปลายเท้าตีบ อาจทำให้มีอาการเดินแล้วปวดขา ยกขาขึ้นสูงก็จะยิ่งปวด เนื่องจากเลือดลงไปเลี้ยงได้ไม่ดี 

“บางคนมีแผลแล้วไม่รู้ตัว ตรงนี้เกิดจากเส้นประสาทที่ผิดปกติ ได้รับความเสียหายจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเช่นกัน อีกทั้งน้ำตาลยังทำให้ภูมิคุ้มกันผิดปกติ ติดเชื้อง่าย พอเป็นแผลแล้วก็จะหายยาก พอเป็นแผลแล้วไม่รู้ตัวก็ปล่อยลาม หลอดเลือดตีบทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่พอ พอขาดเลือด แผลขยาย ยิ่งติดเชื้อเข้าไปใหญ่ รู้ตัวอีกที ต้องถูกตัดเท้าแล้ว” 

เหตุผลที่ทำให้คนคุมเบาหวานไม่ได้

“ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาด้วยอาการจากโรคเบาหวานที่คุมไม่อยู่ เพราะไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวานค่ะ” หมอจิ๊งตอบคำถามนี้ได้อย่างน่าสนใจ เนื่องจากคนไม่รู้ จึงไม่ได้คุม เมื่อรู้ตัวอีกทีก็ตอนมีอาการแทรกซ้อนแล้ว

“บางครั้งผู้ป่วยก็รู้ตัวว่ามีภาวะผิดปกติอะไรบางอย่าง เพียงแต่บางคนอดทน คิดว่าคงไม่มีอะไรมาก บางคนเชื่อว่าไม่ตรวจก็ไม่เจอ กลัวการตรวจสุขภาพ หรือบางคนก็เพราะละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี จึงไม่รู้ว่าตอนนี้สภาพร่างกายมันเปลี่ยนไปแค่ไหนแล้ว มีความผิดปกติอะไรแสดงออกมาไหม” 

ความจริงแล้ว โรคเบาหวาน อาจไม่มีอาการที่บ่งบอกว่าเป็นเลย กว่าจะตรวจเจอเพราะเกิดความปกติ ก็อาจจะมีพยาธิสภาพของโรคเกิดขึ้นมาก่อนหน้ากว่า 10 ปีแล้ว การละเลยการตรวจสุขภาพประจำปีจึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้กว่าจะรู้ตัว การดำเนินของโรคก็สร้างความเสียหายให้กับร่างกายไปมากแล้วนั่นเอง

นอกจากนี้ ยาสมุนไพรบางอย่าง อาจมีส่วนผสมของสเตียรอยด์โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ กินแล้วรู้สึกกระชุ่มกระชวย ผิวพรรณดี เปล่งปลั่ง หายปวดเมื่อย เจริญอาหาร เหมือนยาครอบจักรวาล พอหยุดกินจะอ่อนเพลียทันที ยาเหล่านี้หากกินต่อเนื่องในระยะยาวจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และไตวายได้

“ปัญหาอีกอย่างที่แก้ไม่ตก คือ พฤติกรรมการกินของผู้ป่วย เพราะลักษณะของโรคเบาหวาน คือ มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง แต่ร่างกายของผู้ป่วยเอาไปใช้ไม่ได้ เลยทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและพลังงานไม่เพียงพอ ทำให้อยากกินของหวาน ๆ แล้วไปแอบกิน นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานคุมน้ำตาลไม่ได้ เพราะน้ำตาลเกิน แต่อวัยวะต่าง ๆ มีภาวะขาดน้ำตาล”

ทำไมต้องกินยา ต้องคุมน้ำตาล

ระดับน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากจะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด นำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างแล้ว ยังก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลเป็นพิษ ซึ่งไปทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินน้อยลง หรือทำงานได้ไม่ดี พออินซูลินเอาน้ำตาลเข้าเซลล์ไม่ได้ น้ำตาลก็ค้างอยู่ในเลือด ก็ยิ่งทำให้การอักเสบและการดำเนินโรคแย่ขึ้นไปอีก แต่ถ้าหากผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในลดลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการกินยา หรือควบคุมอาหาร เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในภาวะปกติ ตับอ่อนก็จะกลับมาทำงานได้มากขึ้น เพราะภาวะน้ำตาลเป็นพิษลดลงนั่นเอง

“จุดประสงค์ของการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน คือ ทำยังไงก็ได้ให้การนำน้ำตาลไปใช้ในร่างกาย ใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด”

เมื่อรู้ว่าเป็นเบาหวาน ควรตรวจสุขภาพอย่างละเอียด

“สิ่งสำคัญจริง ๆ คือ ควรรู้ว่าตัวเองเป็นเบาหวานให้เร็ว และเข้าถึงการรักษาให้เร็วที่สุด”

คุณหมอจิ๊ง แนะนำว่า เมื่อรู้ว่าป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรตรวจภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ประเมินระยะของโรค ระดับน้ำตาลในเลือดสะสม รวมไปถึงเช็กว่ามีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่

ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจวัดระดับไขมันในเลือด ความดันโลหิต ตรวจการทำงานของไตและตับ ตรวจจอประสาทตา รวมไปถึงตรวจร่างกายอย่างละเอียดว่ามีภาวะเส้นเลือดสมองตีบอยู่ไหม มีอาการบางอย่างที่บอกว่าอาจมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบแล้วไม่รู้มาก่อนหรือไม่ ที่ขาดไม่ได้คือการตรวจเท้า ว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นแผลเบาหวานมากแค่ไหน

“สิ่งที่สำคัญแต่หลายคนมองข้ามคือการฉีดวัคซีน ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีภูมิคุ้มกันที่ไม่ดี เพราะระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง จะติดเชื้อง่าย ติดเชื้อนิด ๆ หน่อย ๆ ก็จะเป็นหนักกว่าคนอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ”

“โรคที่ว่ามามีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ เมื่อติดเชื้อก็จะช่วยให้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือไม่ทำให้มีอาการหนักจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจได้ โดยวัคซีนที่แนะนำคือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดปีละครั้ง กับวัคซีนปอดอักเสบฉีดห้าปีครั้ง”

การรักษาที่เหมาะสม ช่วยได้

ในผู้ป่วยเบาหวาน แพทย์จะประเมินตามอาการแสดงและระยะของโรคเป็นรายบุคคล ประกอบกับดูภาวะแทรกซ้อน เช่น หากมีภาวะโปรตีนรั่ว จะเลือกยาชนิดที่ช่วยป้องกันโปรตีนรั่ว ในรายที่มีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบไปแล้ว จะเลือกยาที่ป้องกันการตีบซ้ำ 

“หากเพิ่งป่วยเบาหวาน อายุไม่มาก ยิ่งรีบรักษา ยิ่งมีโอกาสที่จะช่วยให้โรคสงบ หยุดยาเบาหวานได้เป็นระยะเวลานาน ตราบใดที่ยังคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ค่ะ”

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังนี้

  • มีดัชนีมวลกายมากกว่า 23 (ภาวะน้ำหนักเกิน)
  • มีประวัติครอบครัวป่วยโรคเบาหวาน
  • มีอาการต้องสงสัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • มีภาวะโรคอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง มีเส้นเลือดต่าง ๆ ผิดปกติ เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบ

“ที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค มีทีมแพทย์และบุคลากรเฉพาะทางที่พร้อมให้คำแนะนำปรึกษา มีเทคโนโลยีทางการแพทย์และยา ที่จะสนับสนุนให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมน้ำตาลได้ เอาง่าย ๆ คือทีมพร้อมจะช่วย มียาพร้อมจะให้ ขอแค่ไม่ละเลยในการตรวจเช็กสุขภาพ เมื่อมีอาการผิดปกติที่สงสัย หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ควรมาพบแพทย์ อย่ารีรอค่ะ”

โรคเบาหวาน แม้จะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง แต่เป็นโรคที่สามารถพบสัญญาณเตือนล่วงหน้าได้ อย่ากลัวที่จะมาพบแพทย์ อย่าละเลยการกินยา หากทำได้ก็สามารถคุมระดับน้ำตาล และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 23 ส.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ณิชกานต์ หลายชูไทย

    พญ. ณิชกานต์ หลายชูไทย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    โรคต่อมหมวกไต, ความผิดปกติของแคลเซียมและกระดูก, อินซูลินปั๊ม, โรคต่อมไร้ท่อทั่วไป, ไขมันในเลือดสูง, โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน, โรคต่อมใต้สมอง, โรคไทรอยด์
  • Link to doctor
    พญ.  ปิยนุช  ปิยสาธิต

    พญ. ปิยนุช ปิยสาธิต

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    อายุรกรรมทั่วไป, โรคต่อมไร้ท่อทั่วไป, อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
  • Link to doctor
    พญ. วชรพรรณ อัสนุเมธ

    พญ. วชรพรรณ อัสนุเมธ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. วิน ภาคสุข

    นพ. วิน ภาคสุข

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
  • Link to doctor
    นพ. กวิน ตังธนกานนท์

    นพ. กวิน ตังธนกานนท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคไต
    ไตวายเฉียบพลัน, โรคไตอักเสบ, การบําบัดทดแทนหน้าที่ไตโดยการฟอกเลือด, โรคความดันโลหิตสูง, นิ่วในไตและทางเดินปัสสาวะ, การปลูกถ่ายไต, การกรองพลาสมา, การดูแลป้องกันไตเสื่อม, การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ, โรคและความผิดปกติทางไต, โรคไตจากเบาหวาน, การฟอกเลือดทางหน้าท้อง, ความผิดปกติ แปรปรวนของสภาวะสารน้ำและเกลือแร่, ความผิดปกติของกระดูกจากโรคทางไต รวมทั้งกระดูกพรุน, โภชนบำบัดในโรคไต
  • Link to doctor
    พญ. ประภาพร พิมพ์พิไล

    พญ. ประภาพร พิมพ์พิไล

    • อายุรศาสตร์
    โรคเบาหวาน, อายุรกรรมทั่วไป, โรคความดันโลหิตสูง, โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน, โรคกระดูกพรุน, สุขภาพนักเดินทาง การให้วัคซีน และประเมินสุขภาวะก่อนและหลังกลับจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง
  • Link to doctor
    พญ. ปฐมา จรรย์แสง ผ่องสุวรรณ

    พญ. ปฐมา จรรย์แสง ผ่องสุวรรณ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    ไทรอยด์ และมะเร็งไทรอยด์
  • Link to doctor
    พญ. ศศิภัสช์ ช้อนทอง

    พญ. ศศิภัสช์ ช้อนทอง

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    โรคความผิดปกติของต่อมหมวกไต, โรคทางเมแทบอลิก, ความดันโลหิตสูงจากภาวะผิดปกติของต่อมไร้ท่อ, ความผิดปกติ แปรปรวนของสภาวะสารน้ำและเกลือแร่, โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน, โรคต่อมใต้สมอง, โรคไทรอยด์, เนื้องอกและมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • Link to doctor
    พญ. ฐิตินันท์ อนุสรณ์วงศ์ชัย

    พญ. ฐิตินันท์ อนุสรณ์วงศ์ชัย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. อมรพรรณ เลิศฤทธิ์

    นพ. อมรพรรณ เลิศฤทธิ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    โรคต่อมไร้ท่อทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. ธีรวุฒิ คลังเจริญชัย

    นพ. ธีรวุฒิ คลังเจริญชัย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม