ผ่าตัดส่องกล้องข้อ ให้ทุก ๆ การเคลื่อนไหวราบรื่น เต็มประสิทธิภาพ
ข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย นับเป็นส่วนที่เกิดปัญหาได้ง่ายและบ่อย มีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เมื่อข้อต่อมีปัญหา แล้วไม่รีบแก้ไข อาจทำให้อาการเจ็บปวด ไม่สะดวกสบาย ลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
Special Scoop ในตอนนี้ จะชวนมาพูดคุยกับ นพ.สุนิคม ศุภอักษร ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ที่ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ผู้มีประสบการณ์ด้านการผ่าตัดส่องกล้องรักษาข้อมามากมาย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับส่วนเล็ก ๆ ที่สำคัญอย่าง ข้อต่อ และการผ่าตัดส่องกล้อง
รู้จักศาสตร์การผ่าตัดส่องกล้องข้อ Arthroscopic Surgery
“เขาเรียกหมอที่เชี่ยวชาญสาขานี้ว่า หมอซ่อมเอ็น”
คุณหมอสุนิคมอธิบายว่า การผ่าตัดส่องกล้องข้อ คือการผ่าตัดเพื่อช่วยในการวินิจฉัย และรักษาปัญหาที่เกิดในข้อต่อ โดยแพทย์จะนำท่อขนาดเล็ก ที่มีเลนส์และเซนเซอร์ของกล้องที่ปลายท่อเชื่อมกับสายไฟเบอร์ออปติกนำแสงและภาพ สอดเข้าไปในข้อต่อที่มีปัญหาผ่านแผลขนาดเล็ก ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ซึ่งภาพจากกล้องวิดีโอ ก็จะแสดงบนจอภาพความละเอียดระดับ Full HD
“ศัลยแพทย์จะสามารถมองเห็นในข้อต่อได้โดยไม่ต้องผ่าตัดแผลใหญ่ ให้รายละเอียดที่ค่อนข้างดี สามารถวินิจฉัยแล้วก็ซ่อมแซมได้หากเจอความเสียหายในขณะนั้นเลย คือเปิดแผลครั้งหนึ่ง อาจทำได้ทั้งตรวจทั้งรักษาครับ”
ไม่ใช่หมอออร์โธฯ ทุกคนที่ทำได้
สำหรับการผ่าตัดส่องกล้องข้อนั้น จะอยู่ในอนุสาขาเวชศาสตร์การกีฬา ที่แพทย์ในสาขานี้จะรับผิดชอบเรื่องการผ่าตัดส่องกล้องเป็นหลัก โดยเทคนิคดังกล่าว ต้องผ่านการเทรน อาศัย Learning Curve หรือการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างความชำนาญ
ส่องกล้องข้อ รักษาอะไรได้บ้าง
เมื่อถามถึงปัญหาเกี่ยวกับข้อ ที่ต้องใช้การรักษาด้วยวิธีส่องกล้องที่พบบ่อย คุณหมอสุนิคมยกตัวอย่างข้อต่อหลัก ๆ ที่มักมีปัญหา ได้แก่ ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อสะโพก ข้อศอก ข้อมือ และข้อเท้า
การรักษา สามารถรักษาได้ตั้งแต่มีพังผืดที่ข้อ ข้อติด กระดูกอ่อนเสียหายจากการได้รับบาดเจ็บ เยื่อบุข้ออักเสบ เอ็นฉีกขาด เอ็นไขว้หลังฉีกขาด เอ็นหัวไหล่ฉีกขาด รวมไปถึงข้อต่อไม่มั่นคง อาทิ แหวนรองข้อไหล่ฉีกขาด
“ข้อจำกัดของการส่องกล้องข้อคือ ไม่ใช่การบาดเจ็บทุกกรณีที่จะสามารถรักษาด้วยการส่องกล้องข้อได้ครับ กรณีมีภาวะเสื่อมมาก กระดูกผิวข้อสึกไปเยอะ วิธีนี้จะไม่ตอบโจทย์ และหากมีกระดูกหัก ผิดรูป เอ็นฉีกขาดเยอะ ๆ ที่การส่องกล้องอย่างเดียวอาจไม่พอในการรักษา หมอก็ต้องพิจารณาผ่าตัดเปิดร่วมด้วยครับ”
และที่เมดพาร์ค มีศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านต่าง ๆ รวมไปถึงศัลยแพทย์ที่สามารถรักษาด้วยวิธีส่องกล้องข้อพร้อมดูแล ครอบคลุมทุกข้อที่มักเกิดปัญหาตามที่กล่าวมา
ข้อดีของการส่องกล้องรักษาข้อ
“แน่นอนว่าแผลเล็กกว่าก็จะช่วยลดการเสียเลือด ลดอาการบวม การอักเสบที่จะเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดได้ครับ เมื่อกล้ามเนื้อหรืออวัยวะโดยรอบบาดเจ็บน้อยลง ก็จะฟื้นตัวได้เร็วกว่า ทำกายภาพและกลับบ้านได้เร็ว ที่สำคัญคือความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะน้อย เพราะไม่ได้เปิดแผลให้มาเจอเชื้อโรคในอากาศนาน ๆ”
แล้วข้อดีกับตัวศัลยแพทย์ผู้ทำหัตถการเอง มีอะไรบ้าง
“ผ่าตัดส่องกล้องในปัจจุบัน กล้องจะมีความละเอียดสูงครับ ขนาด 4K ซึ่งแสดงผลบนจอที่มีความคมชัด แพทย์ก็จะเห็นรายละเอียดได้เยอะและให้ความรู้สึกชัดกว่าใช้ตามองในบางกรณี เพราะบางจุดมันลึกเข้าไปในข้อ การผ่าตัดเปิดแผลก็ยังเห็นได้ไม่ชัดอยู่ดี แต่กล้องมันสามารถเข้าไปส่องให้เราดูได้ครับ”
อาชีพหรือกิจกรรมอะไร ที่เสี่ยงมีปัญหาที่ข้อมากที่สุด
แน่นอนว่าอาชีพที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับข้อที่สุด คงหนีไม่พ้นนักกีฬา ซึ่งกีฬาแต่ละประเภท ก็มีความเสี่ยงต่อข้อแตกต่างกันไป ซึ่งคุณหมอสุนิคมจึงได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
“หากเป็นข้อเข่า มักพบปัญหานี้ในนักกีฬาที่ต้องใช้ความว่องไวในการเคลื่อนที่ มีการวิ่งซิกแซก มีการกระโดดและลงสู่พื้น เช่น นักกีฬาฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล หากเคลื่อนไหว ลงน้ำหนักผิดมุมผิดจังหวะ ข้อเข่าก็บิดได้ และมีโอกาสที่เอ็นไขว้หน้าขาดได้ครับ”
นอกจากนี้ ในนักกีฬาบาสเกตบอล วอลเลย์บอล หรือเล่นกีฬาที่ต้องเหวี่ยงแขน ก็อาจมีปัญหาเอ็นหัวไหล่บาดเจ็บได้เช่นกัน รวมไปถึงการกระโดดบ่อย ๆ ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ข้อเท้าได้เช่นกัน
เคยเจอคนไข้ที่กังวลว่าจะไม่สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้มีประสิทธิภาพเหมือนเดิมบ้างไหม?
“มีบ้างครับ จริงอยู่ว่าผ่าตัดส่องกล้องมีจุดเด่นที่ฟื้นตัวได้เร็ว กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็ว แต่อีกอย่างที่คนไข้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนักกีฬา จะกังวลว่าเขาจะไม่สามารถกลับมาเต็มร้อย มีสมรรถภาพเหมือนเดิม และกังวลว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน ถึงจะกลับไปเล่นกีฬาได้เต็มที่เหมือนก่อนที่จะบาดเจ็บ ซึ่งตรงนี้จะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการครับ”
เนื่องจากการซ่อมแซมรักษา จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อให้เนื้อเยื่อและอวัยวะรอบ ๆ ฟื้นฟู เข้าที่เข้าทาง การกลับไปเดิน หรือใช้ชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป อาจทำได้เร็วหน่อย แต่การจะกลับไปเล่นกีฬาได้เต็มที่นั้น จะไม่สามารถทำได้ในทันทีทันใด
“ไม่ใช่ว่าผ่าตัดเสร็จแล้วจบครับ หากจะกลับมาเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย เพื่อฟื้นฟูความแข็งแรง ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น แต่รับรองว่าหากผ่านกระบวนการทุกอย่าง ผลที่ได้คุ้มค่าครับ”
เมื่อถามถึงเปอร์เซ็นต์การกลับมามีสมรรถภาพในการเล่นกีฬาหลังการรักษา คุณหมอสุนิคมจึงยกตัวอย่างเคสการผ่าตัดเย็บซ่อมเอ็นหัวไหล่
“หลังรักษา โดยส่วนใหญ่ฟังก์ชันการใช้งานจะกลับมาประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ครับ แต่คนไข้ก็ต้องขยันทำกายภาพบำบัด ผมจะบอกคนไข้ว่า ถ้าอยากฟื้นฟูแบบ full recovery ใกล้เคียงปกติเลย ต้องใช้เวลา 4-6 เดือน แล้วแต่รายไปครับ”
“ต้องเข้าใจว่า ถึงผ่าตัดส่องกล้องข้อจะมีแผลเล็กก็จริง แต่ระยะเวลาการฟื้นตัวของข้อมันจะไม่ได้เล็กตามแผล เพราะบริเวณข้อต่อ มันเกี่ยวโยงกับกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ไม่เหมือนกระดูกที่หัก ต่อติดก็ใช้ได้ แต่การรักษาข้อ ทุกอย่างต้องฟื้นฟูและกลับมาทำงานร่วมกันได้ครับ”
ทั้งนี้ ความชำนาญของศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปร ที่จะช่วยให้การรักษาและฟื้นฟู เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งอาการหรือปัญหามีความซับซ้อน บาดเจ็บรุนแรง ปวดรุนแรง เสื่อมมาก การรักษาก็ต้องอาศัยแพทย์ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ รวมไปถึงมีแพทย์ด้านกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดที่ร่วมมือกัน ช่วยดูแลให้การฟื้นฟูเป็นไปอย่างราบรื่น และได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ
วิธีสังเกต เมื่อข้อต่อมีปัญหา ควรมาพบหมอออร์โธฯ
ย้อนกลับมาในมุมของคนไข้ หลายคนไม่รู้หรอก ว่าที่เป็นอยู่มันคืออะไร ข้อติด ข้อเสื่อม เอ็นอักเสบ คุณหมอสุนิคมจึงแนะนำวิธีสังเกตอาการที่อาจหมายถึงมีความผิดปกติบางอย่าง และควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
“หากขยับข้อต่อแล้วรู้สึกเจ็บแปลบ อยู่นิ่ง ๆ ไม่ปวด พอขยับหรือลงน้ำหนักแล้วปวด มีอาการบวม ตึง พอเอามือจับแล้วมีอุณหภูมิที่สูง เช่น จับข้อนี้ มันร้อนกว่าอีกข้อนึง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการอักเสบ และบ่งบอกว่าข้อกำลังมีปัญหาได้ครับ”