เลือกหัวข้อที่อ่าน
- EF (Executive function) มีวิธีส่งเสริมอย่างไร
- กิจกรรมสำหรับเด็กอายุ 6-18 เดือน
- กิจกรรมสำหรับเด็กอายุ 18 เดือน-3 ปี
- กิจกรรมสำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี
- กิจกรรมสำหรับเด็กอายุ 5-12 ปี
- กิจกรรมสำหรับวัยรุ่น
EF (Executive function) ทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร
EF (Executive function) ทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร และ SR การควบคุมตนเอง (Self-Regulation) คือ ทักษะขั้นสูงของสมองส่วนหน้า (frontal lobe) ที่ทำหน้าที่กำกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมเพื่อให้ทำงานตามเป้าหมายได้สำเร็จ EF หรือทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร และ SR หรือ การควบคุมตนเอง เป็นทักษะที่ไม่ได้มีติดตัวแต่กำเนิด แต่สามารถฝึกฝนพัฒนาการได้ตั้งแต่วัยทารก วัยรุ่น จนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เพื่อช่วยให้เด็กมีทักษะการบริหารจัดการที่ดี มีสมาธิแน่วแน่ในการทำงาน และสามารถทำงานจนสำเร็จตามแผนที่วางไว้ ทั้งยังช่วยให้สามารถเรียนรู้อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของผู้อื่นในสังคมเพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
EF (Executive function) มีกี่ประเภท
EF หรือ ทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร และ SR หรือ การควบคุมตนเอง ประกอบไปด้วยทักษะสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่
- ทักษะความจำเพื่อนำมาใช้งาน (Working Memory) คือ ทักษะในการจดจำ เก็บประมวลผลข้อมูล และนำข้อมูลที่ถูกจัดเก็บในคลังสมองออกมาใช้ในระยะเวลาอันสั้นเพื่อการทำงาน การแก้ไขสถานการณ์ และการดำเนินชีวิตประจำวัน
- ทักษะความยืดหยุ่นทางความคิด (Cognitive or Mental Flexibility) คือ ความสามารถในการคงความสนใจในสิ่งที่ทำ ในขณะที่ก็มีความยืดหยุ่นทางความคิด สามารถปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันกับผู้อื่นได้ เช่น คุณครูสั่งให้เด็กวาดรูปที่มีองค์ประกอบของวงกลม เด็กสามารถจดจำคำสั่ง และสามารถวาดรูปวงกลมได้สำเร็จ ทั้งนี้เด็กสามารถพลิกแพลงวิธีการวาดรูปวงกลมได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ใช้ดินสอวาดวงกลมด้วยมือ ใช้วัตถุทรงกลมทาบลงบนกระดาษแล้ววาดตามแบบ หรือใช้วงเวียนในการวาดวงกลม
- ทักษะการยับยั้งชั่งใจและการควบคุมตนเอง (Inhibitory Control or Self-Control) คือ ความสามารถในการควบคุมความคิด และการกระทำของตนต่อการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ล่อใจหรือดึงดูดความสนใจ ช่วยให้คิดไตร่ตรองถึงผลดี-ผลเสียก่อนการกระทำหรือก่อนพูด ช่วยยังยั้งไม่ให้ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เช่น การที่เด็กสามารถทำการบ้านได้อย่างต่อเนื่องจนเสร็จ แม้ว่าอยากจะออกไปเล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือเพื่อน ๆ
EF (Executive function) มีวิธีส่งเสริมอย่างไร
EF ทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร และ SR การควบคุมตนเอง สามารถส่งเสริมให้เต็มศักยภาพได้ด้วยแนวทาง 3 ประการดังนี้
- การมีความสัมพันธ์ที่ดี (Good Relationship) พื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีเริ่มจากบุคคลใกล้ชิด เช่น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง คุณครู ไปจนถึงเพื่อน ๆ และบุคคลในสังคมคนอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเด็ก โดยเด็กจะสามารถพัฒนาทักษะการรู้คิดเชิงบริหารและการควบคุมตนเองได้ดีโดยมีคุณพ่อ คุณแม่เป็นต้นแบบ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เด็กทำ ให้กำลังใจในความพยายามของเด็ก สร้างความมั่นใจให้แก่เด็ก คอยช่วยเหลือเด็กให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และช่วยป้องกันอันตรายจากภายนอกที่อาจขัดขวางกระบวนการพัฒนาทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร และการพัฒนาขีดความสามารถของเด็ก
- ส่งเสริมกิจกรรมที่เด็กได้มีส่วนร่วม (Promote Learning Activities) เด็กเล็กในช่วงปฐมวัยควรได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาไปพร้อม ๆ กัน โดยหลักการสำคัญของกิจกรรม คือต้องไม่สร้างความตึงเครียดให้กับเด็กมากจนเกินไป โดยในระหว่างกิจกรรม ควรช่วยให้เด็กสามารถจัดการกับความตึงเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่งเสริมกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย กิจกรรมที่ฝึกการสื่อสาร และส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้กับเด็ก และควรเพิ่มความท้าทายของกิจกรรมให้มีความยากขึ้นทีละขั้นตามลำดับ
- สิ่งแวดล้อมที่ดี (Good Environment) สิ่งแวดล้อมที่ดีจะช่วยให้การพัฒนาทักษะต่าง ๆ เป็นไปได้ด้วยดี คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครูควรจัดให้มีพื้นที่กิจกรรมที่ได้ใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ การออกสำรวจ หรือการออกกำลังกายโดยควรเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก และสอดคล้องกับเศรษฐสถานะทางสังคมของเด็ก
กิจกรรมส่งเสริมทักษะ EF (Executive function) ในแต่ละช่วงวัย
ทักษะสมอง EF หรือทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร และทักษะการควบคุมตนเอง SR สามารถพัฒนาได้ตั้งแต่วัยทารก วัยรุ่น จนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3-5 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญในการสร้างพื้นฐานพัฒนาการทางสมองและสติปัญญา คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองควรจัดกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะสมอง EF และการควบคุมตนเอง SR เพื่อให้เด็กฝึกการจดจำ การทำตามคำสั่ง การวางแผนงาน การฝึกการสื่อสาร การแก้ไขปัญหา และการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตามช่วงวัย ดังต่อไปนี้
กิจกรรมสำหรับเด็กอายุ 6-18 เดือน
หัวใจสำคัญของกิจกรรมสำหรับเด็กในวัยนี้คือ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองโดยการเลือกกิจกรรมที่เด็กสนใจและสนุกสนานไปพร้อม ๆ กัน โดยควรให้เด็กเป็นผู้กำหนดระยะเวลาในการเล่นเอง และหากเด็กหมดความสนใจควรเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ แทน
ตัวอย่างกิจกรรม
- การเล่นจ๊ะเอ๋ การเล่นตบแผะ หรือร้องเพลงที่มีเสียงสัมผัสคล้องจอง
- การเล่นซ่อนของ โดยอาจเริ่มต้นที่ซ่อนของใต้ผ้า 1 ผืน แล้วเพิ่มความยาก โดยการซ่อนของไว้ในถ้วย 1 จาก 3 ใบที่ปิดคว่ำอยู่ และหมุนถ้วยทั้ง 3 ใบสลับที่ไปมา แล้วให้เด็กบอกว่าของที่ซ่อนอยู่นั้น อยู่ในถ้วยใบไหน เป็นต้น
- เล่นเลียนแบบ เช่น เลียนแบบสีหน้าท่าทางของผู้เลี้ยงดู เช่น เลียนแบบสีหน้าดีใจ เสียใจ หรือเลียนแบบวิธีการเล่นของเล่น เช่น วางท่อนไม้ 1 ท่อน ไว้บนท่อนไม้ท่อนนึง แกล้งทำท่อนไม้ที่วางด้านบนล้ม แล้วให้เด็กต่อท่อนไม้นั้นตามเดิม โดยพบว่าเป็นกิจกรรมที่เด็กปฐมวัยมักชอบและมีความเพลิดเพลิน หรืออาจให้เด็กเลียนแบบกิจกรรมในบ้านของผู้ใหญ่ เช่น การเก็บของเล่น การหยิบไม้กวาดแล้วทำท่ากวาดตาม เป็นต้น
- การเล่นนิ้วมือประกอบเสียงเพลงที่มีจังหวะสนุกสนานแล้วให้เด็กทำตาม เช่น ร้องเพลงนิ้วโป้งอยู่ไหน
- การพูดคุยกับเด็ก เป็นการฝึกการสื่อสาร การบอกความต้องการ และการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยผู้ใหญ่อาจสังเกตว่าเด็กกำลังสนใจอะไร แล้วพูดบอกชื่อของสิ่งนั้น หากเด็กโตขึ้นอีกหน่อย ผู้ใหญ่อาจชี้ชวนให้เด็กสนใจและพูดคุยถึงสิ่งที่กำลังสนใจร่วมกัน
กิจกรรมสำหรับเด็กอายุ 18 เดือน-3 ปี
ในวัยนี้ “ภาษา” เป็นส่วนสำคัญในการฝึกทักษะสมอง EF เพื่อเป็นบันไดไปสู่การฝึกทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร และการควบคุมตนเอง เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่พัฒนาการทางด้านภาษาและการสื่อสารของเด็กจะถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการฝึก อาจฝึกผ่านการเล่นเกมตามกฎ กติกาง่าย ๆ โดยใช้กิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกายเพื่อเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น การโยนและจับลูกบอล การเต้นประกอบเสียงเพลงแบบที่มีสัญญาณให้เริ่มและหยุด เป็นต้น
ตัวอย่างกิจกรรม
- การเล่นที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การวิ่ง การกระโดด การโยนสิ่งของ การเตะลูกบอล หรือการเต้น การได้ฝึกกติกาง่าย ๆ ในการเล่น จะช่วยให้เด็กฝึกความจำระยะสั้นในการจดจำกฎ กติกา และมีทักษะการควบคุมตนเองและความยับยั้งชั่งใจให้เล่นไปตามกฎที่ตั้งไว้ ในเกมการเล่น เด็กจะมีโอกาสได้ฝึกการเรียนรู้สัญญาณเริ่มต้น ฝึกการรอคอยคิวของตนเอง และฝึกการสื่อสารตามกฎการเล่นของเกมนั้น ๆ ทั้งนี้ การเปลี่ยนวิธีการเล่นอยู่เรื่อย ๆ จะช่วยฝึกความยืดหยุ่นทางความคิดให้กับเด็กได้อีกด้วย
- การเล่นเกมจับคู่ เช่น จับคู่สี รูปทรง เงา หรือขนาด
- การเล่านิทาน นิทานเป็นกิจกรรมที่สามารถดึงดูดความสนใจของเด็กให้มีส่วนร่วมกับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครูได้ นิทานช่วยให้เด็กมีความความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยผู้เล่านิทานอาจต่อยอดทางความคิดให้กับเด็ก โดยการให้เด็กคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในนิทาน และเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่านิทานในแบบของเด็กเอง โดยอาจมีการพูดคุยเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในเรื่องเพื่อให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น และเรียนรู้เรื่องอารมณ์ควบคู่กันไปพร้อม ๆ กัน
- การเล่นบทบาทสมมติ (Role play) เช่น เล่นพ่อ แม่ ลูก คุณครู นักเรียน อาชีพต่าง ๆ เช่น คุณหมอ พยาบาล คุณครู หรือการเล่นเชิงจินตนาการ (Imaginative play) เช่น เล่นขายของ เล่นทำกับข้าว หรือเล่นสร้างบ้านด้วยของเล่นเด็ก เป็นต้น
กิจกรรมสำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี
ช่วงวัยอนุบาล หรือช่วงอายุ 3-5 ปี เป็นช่วงเวลาทองหรือ “หน้าต่างแห่งโอกาส” ของการฝึกทักษะสมอง EF การรู้คิดเชิงบริหาร และ SR การควบคุมตนเอง ให้ได้เต็มศักยภาพมากที่สุด เป็นช่วงวัยที่สมองสามารถพัฒนาทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร และการควบคุมตนเองได้เร็วที่สุด ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูควรปรับกิจกรรมให้มีความเหมาะสมกับความสามารถของเด็กอยู่เสมอ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้เด็กสามารถควบคุมตนเองให้ปฏิบัติตามกฎกติกาได้ ดังนั้นเมื่อสังเกตเห็นว่าเด็กมีความพร้อม ผู้ปกครองควรค่อย ๆ ลดการควบคุม ดูแล และช่วยเหลือเด็กลงทีละน้อย
ตัวอย่างกิจกรรม
- ส่งเสริมการเล่นเชิงจิตนาการของเด็กให้มีความซับซ้อนขึ้น โดยให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้สถานการณ์รอบตัวผ่านการอ่านหนังสือ หรือการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลากของการเล่น รวมถึงการให้เด็กได้สร้างสรรค์ของเล่นตามจินตนาการของตนเอง
- การอ่านหนังสือนิทาน เมื่อเด็กมีพัฒนาการการอ่านในระดับหนึ่งแล้ว ควรปรับเปลี่ยนกิจกรรมของเด็กจากผู้ฟังนิทาน เป็นผู้เล่านิทาน ซึ่งอาจให้เด็กเล่านิทานในแบบของเด็กเอง โดยนอกจากเด็กจะอ่านนิทานกับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครูแล้ว ผู้ปกครอง หรือคุณครูยังสามารถสร้างกิจกรรมการเล่านิทานเป็นกลุ่ม หรือจัดให้มีการแสดงบทบาทสมมติตามเนื้อเรื่องในนิทาน ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกการสื่อสารกับเพื่อนในวัยเดียวกันได้อีกด้วย
- เกมฝึกการเคลื่อนไหวร่างกายโดยใช้เพลงเป็นสื่อประกอบการเล่นเพื่อสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยอาจให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายช้าและเร็วสลับกัน เพื่อช่วยให้เด็กได้รู้จักการฝึกควบคุมตนเองให้ปฏิบัติตามคำสั่งที่เปลี่ยนแปลงได้
- เกมที่ต้องใช้ความเงียบหรือสมาธิ เช่น เกมส์จับคู่/จัดกลุ่ม หรือการต่อจิ๊กซอว์ที่ค่อย ๆ เพิ่มระดับความยากขึ้นตามความสามารถของเด็ก
กิจกรรมสำหรับเด็กอายุ 5-12 ปี
การฝึกทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร EF และการควบคุมตนเอง SR สำหรับเด็กวัยนี้ ควรส่งเสริมการเล่นที่มีกฎกติกาชัดเจน หรือมีเงื่อนไขการเล่นที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเพื่อฝึกทักษะการควบคุมตนเอง โดยกติกาการเล่นไม่ควรง่ายจนเกินไป และต้องไม่ยากจนเด็กท้อใจไม่สามารถทำได้ โดยอาจเพิ่มความยากและความท้าทายให้มากขึ้นทีละขั้น ซึ่งจะเป็นบันไดสำคัญในการสร้างนิสัยการฝึกการจัดการกับปัญหาได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างกิจกรรม
- การเล่นเกมไพ่ หรือเกมกระดาน เพื่อช่วยส่งเสริมทักษะการบริหารจัดการ และการควบคุมตนเองให้เล่นตามกฎ กติกา ในขณะเดียวกันก็รู้จักการปรับเปลี่ยน พลิกแพลงตามสถานการณ์ เพื่อเป็นการฝึกความจำระยะสั้น ฝึกการสังเกต ฝึกปฏิภาณไหวพริบ ความคล่องแคล่วว่องไว การแก้ไขสถานการณ์ และการวางแผนการเล่นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เกมกระดานที่เหมาะสำหรับเด็กในช่วงวัยนี้ เช่น หมากล้อม (โกะ) หรือ หมากรุก เป็นต้น
- การเล่นหรือการทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว ได้แก่ การเล่นกีฬาทุกชนิดที่ใช้สมาธิจดจ่อ การตัดสินใจ และการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายช้าหรือเร็วสลับกันไปตามแต่ละชนิดกีฬา นอกจากนี้ ยังอาจให้เด็กได้ฝึกทักษะการควบคุมตนเองตามกฎกติกาด้วยกีฬาที่ใช้สมาธิควบคู่กับการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เทควันโด หรือโยคะ เป็นต้น
- เกม หรือกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การร้องเพลงเป็นหมู่คณะที่มีการตบมือ หรือการแสดงท่าทางประกอบที่มีความซับซ้อนที่ต้องอาศัยทักษะความจำ การฝึกเล่นดนตรี ฝึกเต้นรำตามจังหวะต่าง ๆ หรือฝึกการร้องเพลง เป็นต้น
- เกม หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมสมาธิ การใช้เหตุผล และการวางแผนการเล่น เช่น เกมเขาวงกต เกมปริศนาอักษรไขว้ ซูโดกุ เกมส์ 20 คำถาม หรือเกมส์รูบิค เป็นต้น
กิจกรรมสำหรับวัยรุ่น
วัยรุ่น เป็นวัยที่ทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร EF และการควบคุมตนเอง SR ยังพัฒนาไม่เต็มที่เทียบเท่ากับวัยผู้ใหญ่ การสร้างเสริมกิจกรรมเพื่อช่วยให้เด็กได้ฝึกการรู้คิดเชิงบริหาร และการควบคุมตนเองจึงมีความสำคัญ และควรส่งเสริมอย่างเนื่องเพื่อสร้างความพร้อมให้กับเด็กได้อย่างเต็มที่ก่อนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ โดยมีหลักการในการฝึกดังนี้
ตัวอย่างกิจกรรม
- การวางแผนในระยะสั้นและระยะยาว (Short-term and Long-term planning) วัยรุ่นควรได้รับการฝึกการวางแผนการดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อที่จะไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จผ่านการวางแผนการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน โดยควรมีการตรวจสอบการดำเนินงานเป็นระยะว่าเด็กสามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่
- การตรวจสอบตนเอง (Self-monitoring) วัยรุ่นควรได้รับการส่งเสริมให้มีการตรวจสอบตนเองเป็นระยะ โดย 1.) อาจแนะนำให้วัยรุ่นลองเขียนเรื่องราวของตนเองออกมาในแต่ละวัน เพื่อเป็นการทบทวนตนเองอย่างสม่ำเสมอ 2.) หากมีเรื่องที่ตนยังทำได้ไม่ดี ให้ฝึกการพูดกับตนเองในเชิงบวก (Positive self-talk) ให้กำลังใจตนเองว่าสามารถทำหรือแก้ไขได้ 3.) นอกจากนี้ อาจแนะนำให้ลองแลกเปลี่ยนเรื่องราวการเรียนรู้ของตนเองกับผู้อื่น เป็นต้น
- การเรียนรู้ความสำเร็จและความผิดพลาด (Learning from Mistakes and Success) เมื่อสามารถทำงานหรือกิจกรรมใดได้สำเร็จแล้ว วัยรุ่นควรมีโอกาสได้พิจารณาความสำเร็จ และความผิดพลาดในการทำงานของตน เพื่อเรียนรู้ข้อผิดพลาดและนำส่วนที่ดีมาปรับใช้ เพื่อที่จะพัฒนาการทำงานของตนในครั้งถัดไปให้ดียิ่งขึ้น
EF (Executive function) เพื่อพัฒนาการที่สมวัยของลูกน้อย
การพัฒนาทักษะ EF การรู้คิดเชิงบริหาร และ SR การควบคุมตนเอง ควรได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กับพัฒนาการด้านอื่น ๆ ทั้งทางด้านร่างกาย ความคิด สติปัญญา และอารมณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต การเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทักษะเหล่านี้ จึงเป็นการปูพื้นฐานที่ดีไปสู่อนาคต
การขาดซึ่งกระบวนการในการพัฒนาทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร ทั้งการขาดพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี การขาดโอกาสในการทำกิจกรรม หรือการมีข้อจำกัดทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ย่อมส่งผลให้เด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะการรู้คิดเชิงบริหาร และการควบคุมตนเองได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองที่บ้าน และคุณครูที่โรงเรียน จึงควรให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะ EF การรู้คิดเชิงบริหาร และ SR การควบคุมตนเอง อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะการจัดการทางความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมได้อย่างเต็มศักยภาพตามช่วงวัย เพื่อที่จะได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ และสามารถประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ได้ตั้งใจไว้