- หากคนใกล้ชิดเรามีอาการโรคหลอดเลือดสมอง เราควรทำอย่างไร
ตอบ: เมื่อคนใกล้ชิดเรามีอาการดังกล่าว ควรโทรหา รพ.ที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้เต็มที่ ถูกต้องและรวดเร็ว หรือโทร 1669 เพื่อที่จะได้คำแนะนำและส่งบุคลากรทางการแพทย์พร้อมรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็วจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
- การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับเวลาที่เกิดอาการ ระดับความรุนแรงของโรคและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเป็นสำคัญ
- การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic drug) สามารถช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการภายใน 4.5 ชั่วโมงได้อย่างมีนัยสำคัญ
- การรักษาด้วยการสวนหลอดเลือดเพื่อนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมองออกมา (Mechanical thrombectomy) ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ ปัจจุบันสามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการภายใน 24 ชั่วโมงได้
- ผลการรักษาของการให้ยาละลายลิ่มเลือดและการสวนหลอดเลือดขึ้นอยู่กับเวลาหลังเกิดอาการ ดังนั้นการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ผลเลือด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ควรประเมินอย่างรวดเร็ว
- ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการน้อยและไม่สามารถให้การรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการสวนหลอดเลือดรักษาได้ การให้ยาต้านเกล็ดเลือด 2 ชนิดพร้อมกันภายใน 24 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 21 วัน สามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองครั้งต่อไปได้อย่างมีนัยสำคัญ
- Because Time is Brain
ตอบ: เวลาที่เสียไป ยิ่งทำให้เซลล์สมองถูกทำลายมากขึ้นเรื่อย ๆ การที่คนไข้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่รวดเร็วและถูกต้อง จึงทำให้คนไข้มีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้สูงขึ้น
- ทำไมถึงจำเป็นต้องรีบไปรพ. ให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ตอบ: เพราะการรักษาโรคหลอดเลือดสมองจำเป็นต้องให้ยาสลายลิ่มเลือดที่อุดตันให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันเนื้อสมองถูกทำลายอย่างถาวร ซึ่งการรักษาจะพิจารณาให้ยาสลายลิ่มเลือดกรณีผู้ป่วยมาภายในระยะเวลา 4.5 ชั่วโมงหลังมีอาการ และหากการรักษาด้วยวิธีใช้ยาล้มเหลว แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีสวนหลอดเลือดสมองต่อทันที เพื่อรักษาเนื้อสมองไว้ให้ได้มากที่สุด ป้องกันภาวะพิการและเสียชีวิต
- แนวทางการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองตีบในปัจจุบัน
ตอบ: หากยังไม่เกิดอาการของโรคหลอดเลือดสมองตีบ สามารถป้องกันได้โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดหรืองดการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ รักษาโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง หรือโรคเบาหวาน ให้อยู่ใกณฑ์ที่ดี หากเป็นในกรณีผู้ป่วยเกิดอาการของโรคหลอดเลือดสมองตีบแล้ว นอกจากการปฏิบัติตัวดังกล่าวเบื้องต้นแล้ว ยังมีการรับประทานยาต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดไขมัน เป็นต้น
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตรวจทางรังสีวิทยาสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
- CT scan สมอง สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคืออะไร
ตอบ: คือการตรวจทางรังสีวิทยาโดยใช้รังสีเอกซ์ในการตรวจเนื้อสมองและหลอดเลือดสมอง สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะดูว่ามีเลือดออกหรือไม่ก่อนให้ยาละลายลิ่มเลือด และดูบริเวณเนื้อสมองที่ขาดเลือดไปเลี้ยง รวมถึงหาตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่ตีบหรืออุดตัน เพื่อพิจารณาให้การรักษาต่อไป
- MRI สมอง สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคืออะไร
ตอบ: คือการตรวจทางรังสีวิทยาอีกรูปแบบหนึ่งโดยใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างภาพในการตรวจเนื้อสมองและหลอดเลือดสมอง จะทำในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่ทราบระยะเวลาของอาการแน่ชัด โรคหลอดเลือดสมองส่วนหลัง (posterior circulation stroke) หรือ ผู้ป่วยที่เคยแพ้สารทึบรังสีที่ใช้ในการตรวจ CT
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฟื้นฟูหลังรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
- การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ช่วงไหนถึงจะดีที่สุด
ตอบ: การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอาศัยความร่วมมือของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด ผู้ป่วย ญาติและคนดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูได้มากที่สุดมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 3-6 เดือนแรก ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาทองของการฟื้นฟู
เรียบเรียงโดย
น.อ.นพ.อุดม สุทธิพนไพศาล ร.น.
อายุรแพทย์โรคหลอดเลือดสมองและรังสีร่วมรักษาระบบประสาท
คลิกดูประวัติแพทย์
พญ. จุฑาณัฐ ยศราวาส
อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท
คลิกดูประวัติแพทย์
พญ.มนัสวรรณ์ สันทนานุการ
อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท
คลิกดูประวัติแพทย์
พญ.บุญธิดา หุ่นเจริญ
รังสีแพทย์ผู้ชำนาญการด้านระบบประสาท
คลิกดูประวัติแพทย์
พญ. เพชรพลอย ภูวคีรีวิวัฒน์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู
คลิกดูประวัติแพทย์