โรคลำไส้แปรปรวน โรคยอดฮิตในคนทำงาน
โรคลำไส้แปรปรวน หรือ โรคไอบีเอส (IBS : Irritable Bowel Syndrome) หนึ่งใน โรคระบบทางเดินทางอาหาร ที่พบได้บ่อยในคนวัยทำงานที่มีชีวิตเร่งรีบ เคร่งเครียด หลายคนมีปัญหาเกี่ยวกับท้องไส้ ติดต่อนาน ๆ โดยคิดว่าเป็นแค่อาการท้องเสีย แต่กินยาแล้วไม่หาย แถมมีอาการมาก่อกวนเป็นระยะ จนเริ่มกระทบกับการใช้ชีวิต
อะไรคือลำไส้แปรปรวน
โรคลำไส้แปรปรวน เกิดจากการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ที่มากเกินไป ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ซึ่งอาการปวดจะสัมพันธ์กับการขับถ่าย บางรายปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ แต่รุนแรงกว่า หลังจากขับถ่ายจะรู้สึกดีขึ้น ขณะเดียวกัน ในบางราย ปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ แต่หลังจากขับถ่าย กลับมีอาการแย่ลง ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งสองแบบ โดยสิ่งที่เป็นสาเหตุ เชื่อว่าเกิดจากความไวต่อปัจจัยกระตุ้นของลำไส้ใหญ่ ได้แก่
- อาหาร
- การเจ็บป่วย
- ความเครียด
- ความวิตกกังวล
สิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดการปวดบีบท้อง รวมไปถึงการติดเชื้อในลำไส้ใหญ่ ท้องเสีย เมื่อหายแล้วแต่ก็อาจส่งผลให้ลำไส้ใหญ่ไวต่อการกระตุ้น และกลายเป็นลำไส้แปรปรวนได้เช่นกัน
อาการที่ควรสังเกต
อาการหลักของโรคลำไส้แปรปรวน คือ อาการปวดท้องบีบบริเวณท้องด้านล่าง บางรายปวดมาก บางรายปวดน้อย ซึ่งในรายที่ปวดมาก อาจปวดจนทนไม่ไหวและต้องไปโรงพยาบาล เพราะอาการรุนแรงรบกวนการใช้ชีวิต จนต้องขาดเรียน ขาดงาน
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า อาการปวดท้องของโรคลำไส้แปรปรวน มักสัมพันธ์กับการขับถ่าย หลังขับถ่ายอาจดีขึ้นหรือแย่ลง สิ่งที่ควรสังเกตคือลักษณะการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป บางคนมีความถี่ในการขับถ่ายมากขึ้น บางคนมีความถี่ในการขับถ่ายน้อยลง ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไป เช่น จากเป็นก้อนปกติ เปลี่ยนเป็นเหลว หรือในบางราย กลายเป็นอุจจาระแข็งกว่าเดิม
นอกจากอาการปวดท้องแล้ว ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการท้องอืดร่วมด้วย เช่น ท้องอืดหลังกินอาหาร ไม่สบายท้องหลังกินอาหาร
โดยอาการของโรคลำไส้แปรปรวน อาจเป็นเรื้อรังต่อเนื่องนาน 2 สัปดาห์ ไปจนถึง 6 เดือนเลยก็มี ซึ่งอาจนานกว่านี้ได้
ทำไมลำไส้แปรปรวนถึงมักเกิดในคนทำงาน
โรคลำไส้แปรปรวน สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย ทุกช่วงอายุ แต่สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคที่พบบ่อยในวัยทำงาน เนื่องจากลำไส้ใหญ่ไวต่อการกระตุ้น และหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการผิดปกติ คือ ความเครียด
ในวัยทำงาน มีการใช้ชีวิตที่รีบเร่ง ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวลได้ง่าย ประกอบกับสิ่งแวดล้อม อาหารที่กิน ทั้งยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการความเครียด การแก้ปัญหาของแต่ละคน วัยทำงาน นอกจากจะเป็นวัยที่มีโอกาสเจอกับความเครียดสูงแล้ว ยังอาจต้องใช้ชีวิตเร่งรีบจนไม่มีเวลาในการดูแลตัวเอง ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ไม่มีเวลาเลือกกินอาหารตามโภชนาการ ทั้งยังใส่ใจสุขภาพได้น้อยลงสวนทางกับปริมาณงาน และความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ทำให้โอกาสที่จะเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้ง่ายตามไปด้วย
เมื่อโรคนี้สัมพันธ์กับความเครียด บางครั้ง ก็สามารถเจอผู้ป่วยในวัยกำลังเรียนได้เช่นกัน โดยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการแบบเดียวกัน เมื่อซักประวัติพบว่าเด็กมีความเครียดเรื่องการเรียนหรือไม่ก็มีปัญหาในการปรับตัวในโรงเรียน จึงสรุปได้ว่า ความเครียด เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มโอกาสป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ตาม
การรักษาในปัจจุบัน
การรักษาจะแบ่งเป็น 2 วิธี คือ การใช้ยา กับไม่ใช้ยา โดยจะประเมินตามอาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ดังนี้
- การรักษาแบบใช้ยา: หากมาด้วยอาการบีบเกร็งของลำไส้ที่มากผิดปกติ จะใช้ยาที่ช่วยให้ลำไส้คลายตัว (ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว) หากมีอาการท้องผูก จะใช้ยาที่ทำให้อุจจาระนุ่มขึ้น ยาระบาย หากมีอาการท้องเสีย จะใช้ยารักษาอาการท้องเสีย
- การรักษาแบบไม่ใช้ยา: อย่างที่ทราบว่าหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นให้ลำไส้บีบเกร็งคืออาหาร แพทย์จะแนะนำอาหารที่ไม่ไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ นั่นก็คือ อาหารที่เรียกว่า Low FODMAPs เป็นกลุ่มอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตชนิดย่อยยากต่ำ เนื่องจาก หากเรากินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ร่างกายย่อยยาก (FODMAPs) เยอะ ๆ แม้ร่างกายจะย่อยไม่ได้ แต่แบคทีเรียในลำไส้ย่อยได้ และจะไปสร้างแก๊ส หากลำไส้ไวต่อการกระตุ้นอยู่แล้ว ก็จะยิ่งปวดท้อง
ยกตัวอย่างอาหาร Low FODMAPs ได้แก่ กล้วย ส้ม ถั่วเขียว แครอท เผือก มันหวาน ข้าวโอ๊ต นมที่ไม่มีแลคโตส
นอกจากนี้ ควรสังเกตอาหารที่กินเข้าไป ว่ากินอะไรแล้วทำให้ปวดท้อง หรือมีอาการแย่ลง เพราะแต่ละคน อาจมีอาการปวดจากอาหารแตกต่างชนิดกัน สิ่งสำคัญคือการสังเกต เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ที่ไม่ใช่อาหาร FODMAPs แต่ก็อาจมีฤทธิ์ทำให้ลำไส้บีบตัวได้ในบางราย น้ำอัดลมที่สร้างแก๊สในลำไส้ ก็จะทำให้ปวดท้องได้ ดังนั้น การกินอาหารในกลุ่ม Low FODMAPs หลีกเลี่ยงอาหารที่กินแล้วกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เมื่ออาการลำไส้แปรปรวนดีขึ้น หรือหาย สามารถค่อย ๆ ปรับการกินให้มากินอาหารอื่น ๆ ได้ตามปกติ โดยการเริ่มกลับมากินทีละชนิด แล้วสังเกตอาการว่ากินแล้วส่งผลอะไรหรือไม่
วิธีรักษาอื่น ๆ ช่วยให้ลำไส้แปรปรวนดีขึ้น
การออกกำลังกายเป็นประจำ ก็ช่วยให้ลำไส้ได้เคลื่อนไหวและทำงานได้ดีขึ้น บางรายที่มีความเครียดแล้วไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาที่ช่วยคลายเครียด ลดอาการปวดได้ด้วย หรือสามารถพบนักจิตบำบัด หรือพบจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำวิธีจัดการกับความเครียด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการโรคลำไส้แปรปรวน ลดปวดได้เช่นกัน
คำแนะนำจากแพทย์
หากเป็นคนวัยทำงาน ต้องเจอกับสภาวะรีบเร่ง และความเครียด สำหรับในการรับมือเบื้องต้น แม้ความเครียดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยาก แต่เมื่อมีความเครียด ควรรู้ตัวว่ากำลังเครียด พยายามจับความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง เมื่อรู้ว่าเครียด จะได้วางแผนจัดการกับความเครียด ทั้งการพิจารณากับตัวเองและผ่อนคลายความเครียดนั้น การปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง และการกินยา
ในด้านของโภชนาการ พยายามเลือกกินอาหารสุก สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีประวัติกินแล้วทำให้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อในลำไส้ที่เป็นเหตุให้เกิดความผิดปกติระยะยาวได้เช่นกัน
แม้โรคลำไส้แปรปรวน จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากอาการของโรค มีความใกล้เคียงกับโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ลำไส้และทวารหนักอื่น ๆ เช่น โรคท้องร่วง โรคมะเร็งลำไส้ หากมีอาการที่สงสัย ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง