อาหารระหว่างการให้เคมีบำบัด
การดูแลเรื่องอาหารระหว่างการให้เคมีบำบัดเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากร่างกายจะอยู่ในสภาวะอ่อนแอและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น อีกทั้งการให้ยาเคมีบำบัด สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการที่ส่งผลต่อการรับประทานอาหารได้ ดังนั้นการเลือกอาหารที่เหมาะสมจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดผลข้างเคียงจากการรักษาได้
ผลข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัด
- คลื่นไส้และอาเจียน: เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุด อาจเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง หลังได้รับยาเคมีบำบัด และอาจยาวนานถึง 3-7 วัน
- เบื่ออาหาร: ยาเคมีบำบัดสามารถทำให้การรับรสอาหารเปลี่ยนแปลง และความอยากอาหารลดลง
- แผลในปากและเจ็บคอ: ทำให้การกินอาหารเป็นเรื่องยากและเจ็บปวด
- ท้องเสียหรือท้องผูก: การเปลี่ยนแปลงในระบบทางเดินอาหารสามารถทำให้การย่อยอาหาร และการดูดซึมสารอาหารมีปัญหา
- อ่อนเพลีย: ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยล้าและไม่มีแรงที่จะรับประทานอาหาร
อาหารที่ควรรับประทานระหว่างให้คีโม
- อาหารปรุงสุกใหม่ เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
- อาหารที่มีพลังงานสูง ได้แก่ การเติมไข่หรือนมลงในอาหาร เช่น ไข่ตุ๋นใส่นม ครีมซุปใส่ไข่ ผัดผักใส่ไข่ การเติมน้ำมันดีลงในอาหาร เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก ลงในอาหารประเภทโจ๊กที่ใส่เนื้อสัตว์ หรือซุปข้น ทาแยมหรือเนยบนแครกเกอร์ บิสกิต หรือขนมปัง เป็นต้น
- อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลา นม และไข่ไก่ต้มสุก เนื่องจากโปรตีนมีความสำคัญในการเสริมสร้างเซลล์ในร่างกายที่ถูกทำลายไป
- ผักและผลไม้ ทานผักและผลไม้สดให้หลากหลาย จะได้รับวิตามินและแร่ธาตุช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้ ป้องกันการขาดน้ำ และช่วยให้ไตขับยาเคมีบำบัดออกจากร่างกายให้มากที่สุด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง หรือกลิ่นฉุน เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้
- เลือกอาหารที่ย่อยง่าย มีลักษณะชุ่มชื้น หรือเนื้อสัมผัสข้นเป็นครีม เช่น ซุปใส ซุปครีม ข้าวต้ม หรือผลไม้ที่มีน้ำเยอะ
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างให้คีโม
- อาหารค้างคืน มีความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับเชื้อโรคจากการกินอาหาร
- อาหารหมัก ดอง ดิบ กึ่งสุก กึ่งดิบ มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย
- เนื้อสัตว์แปรรูป และควรจำกัดการบริโภคเนื้อ
- แอลกอฮอล์และสิ่งมึนเมา อาจกระตุ้นการทำงานของเซลล์มะเร็งและลดประสิทธิภาพในการรักษาโดยควรจำกัดปริมาณการดื่ม ในผู้หญิงไม่ควรเกิน 1 ดริ๊งค์ ในผู้ชายไม่ควรเกิน 2 ดริ๊งค์ (1 ดริ๊งค์ เท่ากับ เบียร์ 1 กระป๋อง 330 ml, ไวน์ 1 แก้ว 150 ml, วิสกี้ 45 ml)
คำแนะนำเพิ่มเติม
- อย่าปล่อยให้น้ำหนักลด การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมมีความสำคัญมาก
- รับประทานอาหารให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารที่มีพลังงานสูงและโปรตีนสูง หรือ
อาจแบ่งเป็นมื้อย่อย 5-6 มื้อ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ หากจำเป็นอาจเสริมอาหารทางการแพทย์ - หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ เช่น ไอเสียรถยนต์ หรือควันบุหรี่
คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
ผลข้างเคียงของเคมีบำบัด เช่น ปากแห้ง การรับรสเปลี่ยนไป อ่อนเพลีย แผลในปาก คลื่นไส้ อาจทำให้การรับประทานอาหารกลายเป็นเรื่องท้าทาย การที่ผู้ป่วยเข้าใจว่าควรรับประทานอาหาร เช่น อาหารรสจืดหากมีแผลในปาก อาหารที่ชุ่มชื้นเนื้อสัมผัสข้นเป็นครีมเมื่อมีอาการปากแห้งหลังทำเคมีบำบัดจะทำให้การรับประทานเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น การบำรุงร่างกายด้วยอาหารอันมีประโยชน์และระมัดระวัง เรื่องความสะอาดจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะอาหารเป็นพิษ หากเคี้ยวหรือกลืนลำบาก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป