การดูแลตนเองหลังคลอด (Postpartum Self-Care)

การดูแลตนเองหลังคลอด

ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังคลอด ทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะดูท่วมท้นไปเสียหมด เป็นเวลาที่คุณแม่จะต้องปรับตัวเข้ากับชีวิตบทใหม่และพักรักษาฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอด

แชร์

การดูแลตนเองหลังคลอด

หลังคลอดบุตรแล้วก็ได้เวลาที่คุณแม่จะได้เริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่พร้อมกับลูกน้อย ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังคลอด ทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะดูท่วมท้นไปเสียหมด เป็นเวลาที่คุณแม่จะต้องปรับตัวเข้ากับชีวิตบทใหม่และพักรักษาฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอด การดูแลทารกและการที่คุณแม่ดูแลตนเองจึงมีความจําเป็นไม่แพ้กัน เพราะหากแม่มีปัญหาทางด้านสุขภาพกายและใจก็จะส่งผลต่อลูกน้อยเป็นอย่างมาก  

เราจึงได้รวบรวมเคล็ดลับการดูแลตนเองหลังคลอดสําหรับคุณแม่เอาไว้ ซึ่งใช้ได้กับทั้งคุณแม่ที่คลอดบุตรตามธรรมชาติหรือผ่าคลอด

  • พักผ่อนเพื่อจะได้ฟื้นตัวได้เร็ว
    เมื่ออยู่ที่โรงพยาบาล แม่อาจไม่ได้พักผ่อนหรือนอนหลับได้มากนัก เมื่อกลับไปที่บ้าน จึงควรพยายามนอนพร้อมลูก ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากการคลอดบุตรได้เร็วขึ้น
  • ทําเรื่องดูแลลูกให้ง่ายเข้าไว้
    ในฐานะแม่ แม่จำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจตารางเวลาและความต้องการของทารกแรกเกิด แม่อาจไม่มีเวลามากนักที่จะมาทําความสะอาดบ้านอย่างสะอาดเอี่ยมอย่างที่เคยทำ อย่าไปอารมณ์เสียหากบ้านจะรกบ้าง ลองขอความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือญาติเรื่องซักผ้ารีดผ้า ทําอาหาร ทํางานบ้าน หรือดูแลบุตรคนอื่น ๆ
  • ล้างมือบ่อย ๆ
    ล้างมือบ่อย ๆ หลังเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม และก่อนให้นมลูก
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
    หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรืออะไรที่หนักกว่าลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังผ่าตัดคลอด
  • หลีกเลี่ยงการทำให้แผลตึง
    หลีกเลี่ยงการทำให้แผลตึง (แผลผ่าตัดคลอด) เช่น การขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ
  • ปฏิเสธไม่ให้คนมาเยี่ยม
    แม่อาจปฏิเสธไม่ให้คนมาเยี่ยมได้หากรู้สึกไม่พร้อม
  • พบแพทย์ตามนัดหลังคลอดทุกครั้ง
    ควรไปพบแพทย์ตามนัดหลังคลอดทุกครั้ง แพทย์จะดูแลฝีเย็บและให้คําปรึกษาเรื่องอาการหลังคลอดได้
  • รับประทานวิตามินบำรุงครรภ์
    รับประทานวิตามินบำรุงครรภ์ที่แพทย์เคยสั่งให้ต่อไปได้
  • ไม่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือสวนล้างช่องคลอด
    ไม่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือสวนล้างช่องคลอดในช่วง 4-6 สัปดาห์แรก ใช้แผ่นอนามัยแบบแผ่นปกติ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว
    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว เช่น น้ำสะอาด นม หรือ น้ำผลไม้ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  • ออกกําลังกายเบา ๆ
    เริ่มออกกําลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน ซึ่งสามารถช่วยให้ฟื้นตัวสร้างความแข็งแรงและได้มีเวลาพักสมองจากเรื่องการดูแลลูก โดยก่อนเริ่มออกกําลังกายใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • งดการมีเพศสัมพันธ์
    แม่ควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าร่างกายจะฟื้นตัวเต็มที่ ควรรอให้แผลผ่าตัดที่ท้องหรือฝีเย็บหายเป็นปกติเสียก่อน และใช้อุปกรณ์คุมกําเนิดเพื่อป้องกันไม่ให้ตั้งครรภ์ใหม่เร็วจนเกินไป โดยสามารถปรึกษาแพทย์ได้ว่าวิธีการคุมกําเนิดแบบใดที่เหมาะสมที่สุด


การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์

หลังคลอดคุณแม่ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ก่อนคลอดบุตรจึงควรพูดคุยกับแพทย์ถึงการเปลี่ยนแปลงหลังคลอดที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อให้มีความพร้อมและรู้วิธีรับมือกับอาการต่าง ๆ  

  • เต้านมคัดตึง
    เต้านมคัดตึงเกิดจากการที่เต้านมมีน้ำนมมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วง 3-5 วันแรกหลังคลอด จนทําให้เต้านมตึงและบวม อาจบรรเทาอาการได้โดยการประคบอุ่นหรือเย็นที่บริเวณเต้านมหรือปั๊มนมออกด้วยมือทุก 2-3 ชั่วโมง เต้านมจะค่อย ๆ ปรับการผลิตน้ำนมจนเหมาะกับความต้องการของทารก
  • อาการท้องผูก
    อาการท้องผูกเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ผ่าคลอด การรับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูงและการดื่มน้ำมาก ๆ สามารถบรรเทาอาการได้ หากเป็นโรคริดสีดวงทวาร แพทย์อาจแนะนําให้ทาครีมหรือแช่น้ำอุ่น (sitz bath)
  • ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
    ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่อ่อนแอหรือฝีเย็บฉีกขาดสามารถดีขึ้นได้ด้วยการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel exercise)
  • ตะคริวและอาการปวดท้อง
    ตะคริวและอาการปวดท้องจากการหดตัวของมดลูกหลังคลอด ควรสอบถามแพทย์ว่ายาแก้ปวดชนิดใดที่ปลอดภัยและรับประทานได้
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
    เหงื่อออกตอนกลางคืนจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนมักหายได้เอง เพื่อให้รับมือกับอาการเหงื่อออกได้ อาจปรับห้องนอนให้เย็นสบายและสวมชุดนอนที่ระบายอากาศได้ดี
  • น้ำคาวปลา
    น้ำคาวปลาเป็นเรื่องที่พบได้ปกติในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกเนื่องจากเนื้อเยื่อมดลูกและเลือดจะถูกกำจัดออกมา ควรสวมใส่แผ่นอนามัยแทนผ้าอนามัยแบบสอดและงดการสวนล้างช่องคลอด เพื่อป้องกันการติดเชื้อในมดลูก การมีเลือดออกนั้นถือเป็นเรื่องปกติหากเลือดที่ออกนั้นไม่มาก หากมีเลือดออกทางช่องคลอดจนต้องเปลี่ยนแผ่นอนามัยทุก 2 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมาระหว่างตั้งครรภ์
    น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมาระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงหลายคนกังวล อย่างไรก็ตามในช่วงหลังคลอดนี้ ไม่ควรกังวลเรื่องนี้จนเกินไป เมื่อเริ่มออกกําลังกายได้ อาจเดินหรือออกกําลังกายแบบหนักปานกลาง รับประทานอาหารครบห้าหมู่จะช่วยให้ทั้งแม่และลูกได้รับสารอาหารอย่างพอเพียงและช่วยเรื่องลดน้ำหนัก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังสามารถเผาผลาญแคลอรี่เพิ่มได้ 500-700 แคลอรีต่อวัน
  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
    ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือเบบี้บลูส์ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลังคลอด ทำให้รู้สึกเศร้า วิตกกังวลเหนื่อยล้าและสิ้นหวัง พูดคุยระบายความรู้สึกและขอความช่วยเหลือจากเพื่อนและครอบครัว โดยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้
  • อารมณ์แปรปรวน
    อารมณ์แปรปรวนหรือซึมเศร้าเกือบตลอดทั้งวันเกินกว่า 2 สัปดาห์ติดต่อกัน
  • คิดเรื่องทําร้ายตัวเองหรือบุตร
  • ไม่สามารถทํากิจวัตรประจําวัน ดูแลลูกน้อยและตัวเองได้
  • รู้สึกวิตกกังวล ไร้ค่า และสิ้นหวัง




บทความโดย
นพ.วรชัย ชื่นชมพูนุท

สูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
ประวัติแพทย์

 

เผยแพร่เมื่อ: 13 ก.พ. 2023

แชร์