ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติและขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อฉีดในเด็กอายุระหว่าง 5 - 11 ปี คือวัคซีนชนิด mRNA ของบริษัท Pfizer-BioNTech สูตรสำหรับเด็ก ขนาด 10 ไมโครกรัม โดยต้องเป็นวัคซีนสูตรสำหรับเด็กเท่านั้นบรรจุในขวดจุกสีส้ม
- ข้อมูลจากงานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กอายุ 5 - 11 ปี
พบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้สูง 90.7% (สายพันธ์ Delta) และกระตุ้นระดับ Neutralizing Ab ได้เทียบเคียงกับกับในเด็กโตและผู้ใหญ่ โดยต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ในเด็กที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 แล้วก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันด้วย เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมีความแน่นอนมากกว่า
อาการไม่พึงประสงค์แบบไม่รุนแรงที่พบได้บ่อยหลังจากได้รับวัคซีน ได้แก่
- มีอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ไข้
- อาเจียน
อาการส่วนใหญ่มักเกิดในช่วง 3 วันแรก หลังได้รับวัคซีน
อาการไม่พึงประสงค์รุนแรงหลังจากได้รับวัคซีน ได้แก่
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้นพบได้น้อยมากในเด็กอายุ 5 - 11 ปี อุบัติการณ์ 12 คน ต่อวัคซีน 8.6 ล้านโดส พบในเด็กชายมากกว่า และส่วนใหญ่เป็นการเกิดหลังจากฉีดโดสที่ 2 โดยผู้ที่มีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง สามารถหายเป็นปกติ
- ส่วนอาการแพ้แบบรุนแรงเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้ในผู้ใหญ่จากการรายงานในประเทศสหรัฐอเมริกาพบที่ 4.7 ต่อ 1 ล้านโดส
Source: https://www.cdc.gov/vaccines/acip/meetings/downloads/slides-2021-12-16/05-COVID-Su-508.pdf
แนวทางการดูแลหากเป็นอาการไม่รุนแรง
- สามารถดูแลรักษาด้วยการ ประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการ ปวด บวม แดง เจ็บ บริเวณที่ฉีดวัคซีน ถ้ามีไข้ ปวดเมื่อย แนะนำกินยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้
- หลังฉีดวัคซีนควรพักสังเกตอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 15 - 30 นาที เพื่อสังเกตอาการแพ้รุนแรง หรือ เป็นลมหมดสติ
อาการไม่พึงประสงค์ที่ควรรีบพบแพทย์ ได้แก่
- เจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นเร็ว
- ใจสั่น
- หายใจลำบาก
- เหนื่อยหอบ
- ผื่นลมพิษ
- ปากบวม หน้าบวม
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องรุนแรง
- แขนขาชาหรืออ่อนแรง