SPACEOAR Vue Hydrogel เทคโนโลยีช่วยลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงหลังการฉายรังสี รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งพบบ่อยในผู้ชายวัยสูงอายุ โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ โดยโอกาสหายขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค ซึ่งวิธีการรักษามีทั้งการรับประทานยา การผ่าตัด และการใช้รังสีรักษา
แต่เนื่องจากตำแหน่งของต่อมลูกหมากนั้นอยู่ในอุ้งเชิงกราน การเข้าถึงเพื่อทำการผ่าตัดจึงค่อนข้างยาก ทำให้การรักษาด้วยการฉายรังสีระยะไกลจากภายนอก และการฉายรังสีระยะใกล้หรือการฝังแร่ กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะสามารถลดผลไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดจากการผ่าตัดได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ต่อมลูกหมาก ก็เป็นอวัยวะที่อยู่ใกล้ชิดกับอวัยวะอื่น ๆ โดยรอบ การใช้รังสีรักษาบริเวณต่อมลูกหมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่อวัยวะข้างเคียงจะได้รับรังสีไปด้วย ทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์หลังการรักษาได้เช่นกัน อาทิ
- การขับถ่ายผิดปกติ
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
หนึ่งในอวัยวะข้างเคียงที่จัดเป็นอวัยวะสุ่มเสี่ยง (Organ at Risk : OAR) ก็คือ ลำไส้ตรง คนไข้อาจเกิดภาวะลำไส้ตรงเป็นพิษ จากการได้รับรังสีแล้วเกิดผลข้างเคียง โดยจะมีอาการ เช่น เจ็บ ท้องเสีย เลือดออก ปัสสาวะบ่อย
SPACEOAR Vue Hydrogel ช่วยสนับสนุนรังสีรักษาได้อย่างไร
ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่นำมาใช้ร่วมกับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการฉายรังสีหรือการฝังแร่ เพื่อให้ผู้ป่วยหลังรับการรักษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นั่นก็คือ SPACEOAR Vue Hydrogel เป็นการนำไฮโดรเจลชนิดดูดซึมได้ มาฉีดเข้าไประหว่างต่อมลูกหมากและลำไส้ตรง ให้ไฮโดรเจลไปขยายพื้นที่ เพิ่มระยะห่างระหว่างต่อมลูกหมากและลำไส้ตรงขึ้นมาชั่วคราวประมาณ 1.3 เซนติเมตร (หรือมากกว่า) เพื่อที่จะลดโอกาสการสัมผัสรังสีของลำไส้ตรงขณะที่แพทย์ทำการฉายรังสี และยังช่วยลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นหลังการทำรังสีรักษาด้วย
ลักษณะของไฮโดรเจลที่ใช้ เป็นเนื้อเจลอ่อนนุ่ม ผลิตจากน้ำและโพลีเอธิลีน ไกลคอล (polyethylene glycol : PEG) ซึ่งเป็นสารประกอบที่มักใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ (medical Implants) โดยเนื้อเจลจะคงรูปร่างอยู่ในร่างกายประมาณ 3 เดือน และหลังจากนั้นประมาณ 6 เดือนจะถูกดูดซึมและถูกขับออกทางปัสสาวะ
ผลจากการใช้ไฮโดรเจลร่วมกับรังสีรักษา
จากผลการวิจัยที่มีการรับรองทางคลินิก เผยว่า การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างระยะห่างระหว่างต่อมลูกหมากกับลำไส้ตรง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตหลังการรักษาด้วยรังสีในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ดังนี้
- ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนในลำไส้
โอกาสที่ผู้ป่วยจะเผชิญกับอาการข้างเคียง อาทิ ท้องเสีย กลั้นอุจจาระไม่อยู่ ลดลงถึง 71% - ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินปัสสาวะ
โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการไม่พึงประสงค์ลดลงถึง 60% - ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบสืบพันธุ์
ผู้ป่วย 67% กลับมามีสมรรถภาพทางเพศเป็นปกติในเวลา 3 ปี
สรุปความคาดหวังในการใช้ การใช้ SPACEOAR Vue Hydroge
- การใช้ SPACEOAR Vue Hydrogel ช่วยให้ผลการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากปลอดภัยขึ้น ลดอาการไม่พึงประสงค์ แต่กระนั้นก็เหมือนกับการทำหัตถการอื่น ๆ ที่ยังมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้
- การใช้ไฮโดรเจลเพิ่มระยะห่างระหว่างต่อมลูกหมากและลำไส้ตรง จะช่วยลดโอกาสที่รังสีจะไปสัมผัสลำไส้ตรงโดยไม่ตั้งใจ และก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หลังการรักษาด้วยรังสี
- ไฮโดรเจลชนิดนิ่มนี้คงรูปแค่ ‘ชั่วคราว’ และจะถูกดูดซึมและขับออกทางปัสสาวะโดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย
การใช้รังสีรักษาในโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและเห็นผล หากผนวกกับเทคโนโลยีไฮโดรเจล จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหลังได้รับการรักษาอย่างมาก
โรงพยาบาลเมดพาร์ค สนับสนุนและเปิดรับเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาอยู่เสมอ จึงให้ความสนใจในเทคโนโลยี SPACEOAR Vue Hydrogel ที่จะช่วยยกระดับผลลัพธ์การรักษาโรคด้วยรังสีรักษา
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้จัดงานสัมมนาวิชาการ SPACEOAR Vue Hydrogel Workshop ขึ้น โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ John SP Yuen แพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ จาก Singapore General Hospital ให้เกียรติมาเป็นผู้บรรยายและแนะนำเทคโนโลยีการรักษา ร่วมกับ นพ.ไพบูลย์ บุญญะพานิชสกุล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ที่มาเวิร์กช็อปเพื่อสาธิตการใช้ไฮโดรเจลในกระบวนการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แก่แพทย์และบุคลากรของโรงพยาบาล
นพ. ไพบูลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ความพยายามที่จะลดผลข้างเคียงของรังสีต่ออวัยวะที่อยู่ติดกับอวัยวะที่จะฉายแสงนั้นมีมาโดยตลอด Hydrogel นับว่าเป็น Breakthrough ของการใช้เพื่อแยกลำไส้ตรงให้ห่างจากต่อมลูกหมาก ทำให้สามารถให้รังสีที่สูงขึ้น เพื่อฆ่ามะเร็งต่อมลูกหมากโดยที่ไม่กระทบ หรือกระทบน้อยมาก ต่อลำไส้ตรง ในอนาคตคาดว่าจะพัฒนาไปใช้ในอวัยวะอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้การให้รังสีได้ผลดีขึ้น และลดผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียงได้มากขึ้น”