18 อาการคนท้องเริ่มแรก ข้อสังเกต วิธียืนยันการตั้งครรภ์ - 18 Early Symptoms of Pregnancy: How to notice and confirm

18 อาการคนท้องเริ่มแรก ข้อสังเกต วิธียืนยันการตั้งครรภ์

อาการคนท้อง (Symptoms of pregnancy) คือ อาการแสดงที่บ่งชี้ว่าอาจกำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่ตั้งครรภ์อาจเริ่มแสดงอาการคนท้อง 1-2 สัปดาห์แรกหลังขาดประจำเดือน เช่น คัดเต้านม เลือดออกกะปริดกะปรอย อ่อนเพลีย และแพ้ท้อง

แชร์

อาการคนท้อง (Symptoms of Pregnancy)

อาการคนท้อง (Symptoms of pregnancy) คือ อาการแสดงที่บ่งชี้ว่าอาจกำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่ตั้งครรภ์อาจเริ่มแสดงอาการคนท้อง 1-2 สัปดาห์แรกหลังขาดประจำเดือน เช่น คัดเต้านม เลือดออกกะปริดกะปรอย อ่อนเพลีย และแพ้ท้อง ซึ่งเกิดจากระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นและอาจทำให้มีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น ตกขาวมากผิดปกติ ปวดหน่วงที่ท้องน้อย ปัสสาวะบ่อย ท้องอืด หรืออารมณ์แปรปรวน อาการคนท้องแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล บางคนอาจมีอาการแพ้ท้องมาก บางคนอาจไม่มีอาการแพ้ท้องเลยทำให้ตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว ผู้ที่มีอาการคนท้อง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจการตั้งครรภ์และฝากครรภ์เพื่อให้ตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยและเตรียมความพร้อมในการเป็นคุณแม่มือใหม่

อาการคนท้อง มีอาการอย่างไร?

อาการคนท้องแตกต่างกันตามแต่ละบุคคลทั้งระยะเวลาเริ่มต้นที่มีอาการคนท้อง ความรุนแรงของอาการแพ้ท้องมาก-น้อยแตกต่างกัน ในขณะที่บางคนอาจแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเลย อาการคนท้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการปฏิสนธิของทารกในครรภ์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายด้าน อาการคนท้องสามารถสังเกตอาการได้ดังต่อไปนี้

1. ขาดประจำเดือน (Missed period)

อาการขาดประจำเดือนเป็นอาการคนท้องแรก ๆ ของผู้ที่เริ่มตั้งครรภ์ โดยเมื่อเกิดการปฏิสนธิระหว่างไข่และอสุจิสำเร็จแล้ว ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอชซีจี (Human chorionic gonadotropin: hCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ถูกผลิตขึ้นในรกหลังการปฏิสนธิแล้ว 8-10 วัน เพื่อช่วยให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโต ส่งผลให้ร่างกายหยุดการตกไข่และเกิดการขาดประจำเดือน อย่างไรก็ตาม อาการขาดประจำเดือนอาจมีสาเหตุจากความเครียด ฮอร์โมนไม่สมดุล การอดอาหาร กลุ่มอาการ PMS หรือการออกกำลังกายมากเกินไป ผู้ที่สงสัยว่าอาจกำลังตั้งครรภ์ในระยะแรกนี้ ควรเข้ารับการตรวจครรภ์หาค่าฮอร์โมน hCG เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์

2. แพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน (Morning sickness, nausea, and vomiting)

แพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียนเป็นอาการคนท้องแรก ๆ ที่พบช่วง 2-8 สัปดาห์หลังการตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้องเป็นอาการเด่นของผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ โดยมักมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ร่วมกับมีอาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ และมักมีอาการในตอนเช้า ในบางรายอาจมีอาการตลอดวัน อาการแพ้ท้องอาจหายไปได้เองภายในสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ และอาจกลับมาเป็นซ้ำในสัปดาห์ที่ 32 ก่อนถึงกำหนดคลอด ผู้ที่มีอาการแพ้ท้องรุนแรง (Hyperemesis gravidarum) อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนอย่างหนักจนอาจเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydration) อาการอ่อนเพลียรุนแรง และเป็นลมหมดสติ ควรรีบนำส่งแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์จำนวนน้อยมากที่แทบไม่มีอาการแพ้ท้องเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล

3. คัดเต้านม หัวนม เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง (Tender, swollen breasts, breast changes)

คัดเต้านม หัวนม เต้านมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอาการคนท้องแรก ๆ ตั้งแต่ 2-3 วันหลังการปฏิสนธิ โดยจะมีอาการคล้ายคลึงกับช่วงก่อนมีประจำเดือน คือ รู้สึกคัดเต้านม รู้สึกเสียวแปลบที่เต้านม เต้านมขยายใหญ่ขึ้นจนรู้สึกคับเสื้อชั้นใน ปานนมหรือสีผิวรอบหัวนมคล้ำขึ้น ผิวหนังบริเวณเต้านมเต่งตึงขึ้นจนมองเห็นเส้นเลือดชัดเจน โดยทั่วไป อาการคัดเต้านมหลังการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เมื่อร่างกายสามารถปรับตัวตามฮอร์โมนในร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้นได้แล้ว อาการคัดเต้านมจะค่อย ๆ ลดลงไปภายใน 3 เดือน

4. ปัสสาวะบ่อยขึ้น ปัสสาวะถี่ขึ้น (Frequent urination)

ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะถี่ขึ้นเป็นหนึ่งในอาการคนท้องแรก ๆ ที่สามารถสังเกตได้ โดยเมื่อตั้งครรภ์ ร่างกายจะผลิตเลือดและของเหลวเพิ่มมากขึ้นเพื่อไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ ทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้นในการกรองของเสียออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ปัสสาวะถี่ขึ้น ปัสสาวะมีสีเข้ม ออกส้ม หรือสีน้ำตาล ร่วมกับการที่มดลูกมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ทำให้เกิดการกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ และทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน

5. อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า (Fatigue)

อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าเป็นอาการคนท้องที่อาจพบได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังการปฏิสนธิ โดยเมื่อตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มสูงขึ้นเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้กระบวนการเผาผลาญทำงานช้าลง ร่างกายใช้พลังงานมากขึ้นในการย่อยอาหาร ส่งผลทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า และอาจเป็นตะคริวบ่อย นอกจากนี้ ความอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ระหว่างการตั้งครรภ์ยังอาจมีสาเหตุจากภาวะโลหิตจาง เนื่องจากการขาดธาตุเหล็ก และการมีเลือดออกกะปริดกะปรอย

อาการคนท้องเริ่มแรก มีอาการอย่างไร? Early Symptoms of Pregnancy Banner

อาการคนท้องเริ่มแรก มีอาการอย่างไร?

อาการคนท้องเริ่มแรก สามารถสังเกตได้ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังจากที่ไข่ตกและมีเพศสัมพันธ์โดยไม่คุมกำเนิดจนเกิดการปฏิสนธิระหว่างไข่และอสุจิเป็นตัวอ่อน ถือเป็นระยะที่การปฏิสนธิระหว่างไข่และอสุจิเสร็จสมบูรณ์ ในระยะนี้ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมน hCG ในระดับสูง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายหลายอย่างที่สามารถตรวจพบได้ในปัสสาวะ โดยหากตรวจการตั้งครรภ์ในระยะนี้มักให้ผลการตรวจที่มีความแม่นยำ อาการคนท้องเริ่มแรกมีอาการแสดงที่สังเกตได้ดังต่อไปนี้

6. เลือดออกกะปริดกะปรอย (Spotting, vaginal bleeding)

เลือดออกกะปริดกะปรอยเป็นอาการคนท้องที่พบได้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ โดยหลังการปฏิสนธิ ตัวอ่อนจะเข้าไปฝังตัวยังผนังมดลูก ส่งผลให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอยระหว่างการตั้งครรภ์แต่ไม่มีอาการปวดท้องเกร็งแต่อย่างใด อาการเลือดออกกะปริดกะปรอยอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ทุกคน ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการเลือดไหลไม่หยุดร่วมกับอาการปวดท้องเกร็ง อาจมีสาเหตุจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก ก้อนเลือดจากรกเด็ก (Subchorionic hematoma) หรือการแท้งลูก ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

7. ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ (Headache)

ปวดหัว วิงเวียนศีรษะเป็นหนึ่งในอาการคนท้องแรก ๆ ที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายร่วมกับการไหลเวียนโลหิตที่เพิ่มมากขึ้น อาการปวดหัวระหว่างตั้งครรภ์อาจมากหรือน้อยไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล โดยอาจมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการหยุดทานคาเฟอีน ผู้ที่มีอาการปวดหัวต่อเนื่องควรพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ

8. ท้องอืด (Bloating)

ท้องอืดเป็นอาการคนท้องที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกาย ทำให้มีแก๊ซในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ มีลมในท้อง มีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายกับช่วงเริ่มมีประจำเดือน และมีการผายลมบ่อย

9. ปวดหน่วงที่ท้องน้อย เป็นตะคริวที่ท้องน้อย (Cramping) 

ปวดหน่วงที่ท้องน้อย เป็นตะคริวที่ท้องน้อยเป็นอาการคนท้องแรก ๆ 1-2 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ โดยจะมีอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อย ปวดจี๊ด ๆ หรือปวดเหมือนเป็นตะคริวที่ท้องน้อยที่บริเวณปีกมดลูกคล้ายอาการปวดประจำเดือน ซึ่งมีสาเหตุจากการที่ร่างกายเร่งผลิตฮอร์โมนเพื่อหล่อเลี้ยงตัวอ่อน และการขยายตัวของมดลูกตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยจะมีอาการปวด 2-3 วัน จากนั้นอาการจึงหายไป อย่างไรก็ตาม อาการปวดหน่วงรุนแรง หรือปวดตะคริวเพียงข้างเดียวอาจมีสาเหตุจากการท้องนอกมดลูก หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ

10. ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง (Food aversion, food cravings)

ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไปเป็นอาการคนท้องที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น อาการหิวตลอดเวลา อาการอยากหรือไม่อยากอาหารบางชนิดโดยไม่สามารถอธิบายได้ เช่น อยากทานอาหารรสเปรี้ยว หรือผลไม้รสเปรี้ยว อยากทานอาหารแปลก ๆ หรือสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร เช่น ดิน หรือกระดาษ รู้สึกชอบหรือไม่ชอบอาหารบางชนิดทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยไม่ชอบหรือชอบ ทั้งนี้ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์บางคนอาจมีความอยากทานอาหารที่ให้พลังงานสูงโดยอัตโนมัติ เช่น นม หรือผลิตภัณฑ์จากนมเพื่อเพิ่มพลังงานและแคลเซียมให้กับร่างกาย

11. ไวต่อกลิ่น (Acute sense of smell) 

อาการไวต่อกลิ่นเป็นหนึ่งในอาการคนท้องที่เกิดจากจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยจะมีอาการไวต่อกลิ่นเป็นอย่างมาก หรือมีการรับกลิ่นเปลี่ยนไปเฉกเช่นเดียวกับการรับรสอาหาร ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจรู้สึกไวต่อกลิ่นบางกลิ่นทั้ง ๆ ที่ก่อนการตั้งครรภ์ไม่มีอาการดังกล่าว หรือรู้สึกเหม็นและไม่สามารถทนต่อกลิ่นที่เคยคุ้นเคยบางกลิ่นได้ บางคนอาจมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียนเมื่อได้กลิ่นบางอย่าง เช่น อาหาร น้ำหอม หรือกลิ่นของผลิตภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้บางชนิด

12. ปวดหลัง (Backache) 

ปวดหลังเป็นหนึ่งในอาการคนท้องที่มีสาเหตุจากการขยายตัวของกล้ามเนื้อส่วนกลาง การคลายตัวของเส้นเอ็น ไขข้อ และกระดูกเชิงกราน การปรับเปลี่ยนสรีระและท่าทางเพื่อรองรับน้ำหนักครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ การมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นยังทำให้เสียสมดุลการทรงตัว การยืน การเดิน การนั่ง และการนอนที่เปลี่ยนไป ซึ่งล้วนทำให้มีอาการปวดหลังทั้งสิ้น อาการปวดหลังจากการตั้งครรภ์ สามารถบรรเทาได้ด้วยการสวมรองเท้าไม่มีส้น ไม่ยกของหนัก การเลือกที่นอนที่รองรับสรีระได้ดี ไม่แข็งหรือนุ่มจนเกินไป รวมถึงการการปรับท่านอนตะแคง หากปวดหลังมาก ไม่ควรซื้อยามาทานเองแต่ควรพบแพทย์เพื่อรับยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น โดยแพทย์อาจพิจารณาการทำกายภาพบำบัด หรือการฝังเข็มเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง

สัญญาณ และอาการคนท้องอื่นๆ มีอะไรบ้าง? - Early Symptoms of Pregnancy Banner 2

สัญญาณ และอาการคนท้องอื่นๆ มีอะไรบ้าง?

ตลอดการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ ร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเนื่องทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ อาการคนท้องอาจแตกต่างกันไปตามสุขภาพร่างกายของแต่ละบุคคล บางคนอาจไม่ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นผู้ที่ประจำเดือนมาไม่ปกติอยู่แล้ว ทำให้สังเกตการตั้งครรภ์ได้ยาก บางคนอาจมีอาการคนท้องแตกต่างจากคนอื่น สัญญาณและอาการคนท้องอื่น ๆ ที่สามารถสังเกตได้เพิ่มเติมมีดังนี้

13. ตกขาวมากผิดปกติ (Vaginal discharge)

ตกขาวมากผิดปกติเป็นอาการคนท้องที่เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกายออกทางช่องคลอดมากกว่าปกติ ทำให้เกิดความชื้น การสะสมของเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราในช่องคลอดจนทำให้เกิดการตกขาวมากผิดปกติแทนการมีประจำเดือน อาการตกขาวจากการตั้งครรภ์จะมีลักษณะเป็นมูกใส ไร้กลิ่น สีขาวขุ่น และไม่มีอาการคัน อาการตกขาวที่มีกลิ่น และมีอาการคัน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ

14. ท้องผูก (Constipation)

ท้องผูกเป็นอาการคนท้องที่มีสาเหตุเดียวกับอาการท้องอืด คือ การมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายสูงขึ้นทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง ร่วมกับการขยายขนาดของมดลูกตามการเจริญเติบโตของทารกที่กระทบต่อการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อาหารหรือของเหลวต่าง ๆ เคลื่อนตัวได้ช้าลง ส่งผลให้มีอาการท้องผูก หรือแน่นท้อง อาการท้องผูกระหว่างการตั้งครรภ์สามารถบรรเทาได้ด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น การทานอาหารกากใยสูง และการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ หรือการเล่นโยคะ ทั้งนี้ ไม่ควรหาซื้อยาระบายมารับประทานทานเอง แต่ควรพบแพทย์เพื่อรับยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น

15. อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย (Mood swings) 

อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายเป็นอาการคนท้องที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ที่ไม่คงที่ มีอารมณ์แปรปรวน ผันผวน หงุดหงิดง่าย โมโหเร็ว อ่อนไหวง่าย ฉุนเฉียวบ่อย ในขณะที่บางคนอาจรู้สึกเปี่ยมสุข ปลื้มปริ่ม อิ่มเอมใจ อันเนื่องการหลั่งของสารเคมีในสมองที่ทำให้รู้สึกดี ทั้งนี้ผู้ที่ตั้งครรภ์บางคนอาจมีอาการหดหู่ วิตกกังวล หรือซึมเศร้าอันเนื่องจากฮอร์โมนหรือความไม่พร้อมในการตั้งครรภ์ ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อประเมินอาการหรือทำการตรวจโรคซึมเศร้า

16. หายใจถี่ (Shortness of breath) 

ายใจถี่เป็นอาการคนท้องที่มีสาเหตุจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ไปขยายขนาดปอดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้สามารถหายใจเอาออกซิเจนเข้าปอดได้มากขึ้นในการนำไปเลี้ยงทารกในครรภ์ อาการหายใจถี่ในผู้ตั้งครรภ์ยังเป็นการเร่งกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายของทั้งแม่และทารกในครรภ์ทำให้หายใจถี่ขึ้น นอกจากนี้ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ยังกดเบียดกระบังลม ทำให้ผู้ที่ตั้งครรภ์หายใจลำบากขึ้น หายใจถี่ขึ้น หรือหายใจลึกขึ้น

17. แสบร้อนกลางอก (Heartburn) 

อาการแสบร้อนกลางอกเป็นหนึ่งในอาการคนท้องที่มีสาเหตุจากการหลั่งของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในระหว่างตั้งครรภ์ที่ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายที่เชื่อมติดกับกระเพาะอาหารเกิดการคลายตัวบ่อยกว่าปกติ ทำให้น้ำย่อยกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารทำให้มีอาการกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นจนกดเบียดและดันกระเพาะอาหารที่มีน้ำย่อยให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ทำให้มีอาการแสบร้อนกลางทรวงอก เรอเปรี้ยว ขมคอ ระคายเคืองลำคอ คลื่นไส้ และอาเจียน จนอาจทำให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบ

18. เป็นสิว (Acne) 

สิวเป็นหนึ่งในอาการคนท้องที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นทันทีที่เริ่มตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นของต่อมน้ำมันใต้ผิวหนังจนทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนและสิวขึ้นบนใบหน้า สิวที่หลัง หรือสิวบริเวณต่อมไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ตรวจการตั้งครรภ์ ช่วยยืนยันอาการคนท้อง - Early Symptoms of Pregnancy Banner 3

ตรวจการตั้งครรภ์ ช่วยยืนยันอาการคนท้อง

อาการขาดประจำเดือน อาจไม่ใช่สัญญาณหรืออาการคนท้องเสมอไป อาการประจำเดือนมาไม่ปกติอาจมีสาเหตุจากความเครียดหรือฮอร์โมนไม่สมดุล เช่นเดียวกับอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนที่อาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ที่จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ วิธีการยืนยันการตั้งครรภ์ที่ดีที่สุดคือการเข้ารับการตรวจการตั้งครรภ์โดยแพทย์ หรือสูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการที่โรงพยาบาล โดยสามารถทราบผลการตรวจได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง และสามารถยืนยันผลการตั้งครรภ์ได้ 100% โดยหากผลการตรวจยืนยันการตั้งครรภ์ ผู้เข้ารับการตรวจสามารถฝากครรภ์ และรับคำแนะนำการฝากครรภ์ รวมถึงการวางแผนดูแลสุขภาพของทั้งว่าที่คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 19 ม.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ศศิวรรณ สุทัสน์มาลี

    พญ. ศศิวรรณ สุทัสน์มาลี

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. มัฏฐวัณณ์ จามิกร

    พญ. มัฏฐวัณณ์ จามิกร

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. กมลภัทร วิจักขณ์พันธ์

    พญ. กมลภัทร วิจักขณ์พันธ์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ธีระภัทร เจริญวิทย์

    ผศ.นพ. ธีระภัทร เจริญวิทย์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine, Fetal Anomalies, Fetal Cardiology
  • Link to doctor
    นพ. นพดล ไชยสิทธิ์

    นพ. นพดล ไชยสิทธิ์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    รศ.นพ. ธีระพงศ์ เจริญวิทย์

    รศ.นพ. ธีระพงศ์ เจริญวิทย์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. ศรพิณ อามาตย์ทัศน์

    พญ. ศรพิณ อามาตย์ทัศน์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    รศ.นพ. บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ

    รศ.นพ. บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ศักนัน มะโนทัย

    ผศ.นพ. ศักนัน มะโนทัย

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine