เคล็ดไม่ลับ รับมือกับความเครียดป้องกันโรคหัวใจ (Tips to Manage Your Stress to Prevent Heart Disease )

เคล็ดไม่ลับ รับมือกับความเครียดป้องกันโรคหัวใจ

ความเครียดเป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายและจิตใจต่อความกดดันหรือสิ่งที่เข้ามากระทบต่อชีวิตในด้านต่าง ๆ ความเครียดในระดับพอเหมาะ นั้นอาจเป็นแรงกระตุ้น สร้างแรงจูงใจและสมาธิ

แชร์

เคล็ดไม่ลับ รับมือกับความเครียด ป้องกันโรคหัวใจ

ความเครียดเป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายและจิตใจต่อความกดดันหรือสิ่งที่เข้ามากระทบต่อชีวิตในด้านต่าง ๆ ความเครียดในระดับพอเหมาะ นั้นอาจเป็นแรงกระตุ้น สร้างแรงจูงใจและสมาธิ นำเราไปสู่เป้าหมายที่มุ่งหวัง แต่การที่ต้องรับมือกับความเครียดอย่างยืดเยื้อยาวนานอาจทำให้สภาพร่างกายและจิตใจของเราเหนื่อยล้าได้

ร่างกายของคนเราตอบสนองต่อความเครียด โดยแสดงออกมาในรูปของอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดท้อง เป็นต้น ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยที่ความเครียดส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ ความเครียดทำให้ความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้น และอาจทำให้เรารับประทานอาหารมากเกินไปหรือสูบบุหรี่เพื่อบรรเทาความเครียด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยลบที่ทำให้ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นโรคหัวใจ รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง ตลอดจนภาวะหัวใจวายสูงขึ้นได้

คนแต่ละคนมีวิธีรับมือและจัดการกับความเครียดแตกต่างกันไป บางคนมองว่าความเครียดสร้างโอกาสที่จะได้ก้าวออกจากสิ่งที่คุ้นเคย แต่บางคนมองว่าความเครียดนั้นเป็นภัยคุกคามที่รบกวนกิจวัตรประจำวัน การเรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียดจะสามารถช่วยสร้างความสามารถในการรักษาและส่งเสริมสุขภาวะทางร่างกายและอารมณ์ได้

เพื่อการรับมือกับความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ เราควรจะ

  • รู้ว่าเวลาเครียดเรามีอาการแสดงออกทางร่างกายอะไรบ้าง
  • รู้ว่าอะไรที่กระตุ้นให้เราเกิดความเครียด
  • ยอมรับว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ดังใจ
  • รู้จักปล่อยวาง

มีวิธีมากมายที่เราสามารถทำได้ง่าย ๆ ในแต่ละวันเพื่อช่วยลดและจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • การออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • การรักษาน้ำหนักให้อยู่ตามเกณฑ์
  • การนอนหลับอย่างมีคุณภาพและเพียงพอ
  • การเลิกสูบบุหรี่
  • การลดการบริโภคคาเฟอีน

นอกเหนือการประกอบกิจวัตรประจําวันที่ดีต่อสุขภาพแล้ว การลองทำสิ่งใหม่ ๆ ก็ช่วยปรับอารมณ์และความรู้สึกของเราได้ ได้แก่

  • การรู้จักและชื่นชมจุดแข็งของตัวเอง รวมถึงสิ่งที่เราทำได้ดีทั้งในอดีตและปัจจุบัน
  • การเขียนบันทึกประจําวันเป็นช่องทางระบายความรู้สึกส่วนตัวและทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน การเขียนความรู้สึกออกมาช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้าได้ ถือว่าเปิดใจกับตัวเองและรู้จักปล่อยวางสิ่งที่รบกวนจิตใจอยู่
  • การลองทำสิ่งใหม่ ๆ เช่น งานอดิเรกใหม่ ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เราอาจพบว่าเรามีความสามารถพิเศษ ทำสิ่งท้าทายใหม่ ๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้มาก่อนและก้าวออกมาจากความกลัวอย่างมีสติ
  • การเป็นอาสาสมัครและมีส่วนร่วมในสังคม การช่วยเหลือผู้คนเป็นวิธีง่าย ๆ ในการแสดงออกถึงความมีน้ำใจ รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และยังช่วยให้เรายิ้ม เป็นสุข และอบอุ่นหัวใจ คิดขึ้นมาทีไรก็จะช่วยให้เราเห็นคุณค่าของการมีชีวิตขึ้นได้

หากลองทําทุกวิธีที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ยังรู้สึกเครียดหรือหดหู่อยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อพูดคุยปรึกษาหาเทคนิคการผ่อนคลายหรือลดความเครียดเพิ่มเติม เพราะการที่เราสามารถระบุสาเหตุของความเครียดและรู้จักวิธีจัดการกับความเครียดนั้นได้ตั้งแต่ระยะแรกจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งจิตใจและร่างกายของเรา ตลอดจนความสัมพันธ์และคนรอบตัวในชีวิตของเราได้แน่นอน




บทความโดย
นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวชศาสตร์
ประวัติแพทย์

เผยแพร่เมื่อ: 07 ก.พ. 2023

แชร์