ผศ.(พิเศษ) นพ.มาร์วิน เทพโสพรรณ วิสัญญีแพทย์เฉพาะทางด้านระงับปวด - Assoc.Prof.Dr Marvin Thepsoparn, an anesthesiologist specializing in pain management

คนไข้ไม่จำเป็นต้องทนทุกข์ทรมานกับความปวด ถ้ามาถูกที่ ถูกเวลา

“Pain Clinic ทำให้เกิดการรักษาแบบองค์รวม ซึ่งจะเกิดขึ้นในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่หมอทุกคนเข้าใจกัน” เล่าถึงเส้นทางกว่าจะมาเป็นหมอระงับปวด พร้อมเผยวิธีหยุดความเจ็บปวดในแบบของ Pain Intervention Specialist

แชร์

คนไข้ไม่จำเป็นต้องทนทุกข์ทรมานกับความปวด ถ้ามาถูกที่ ถูกเวลา

“Pain Clinic ทำให้เกิดการรักษาแบบองค์รวม ซึ่งจะเกิดขึ้นในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่หมอทุกคนเข้าใจกัน”

Dr. Marvin MedPark Story หมอระงับปวด หมอเฉพาะทางที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า หมอ Pain กันมาบ้าง Pain Management Doctor คือแพทย์ที่คอยดูแลความปวดของคนไข้ ซึ่งแต่ก่อนมักจะใช้ยาเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมี Pain Intervention Specialist ผู้ชำนาญด้านการทำหัตถการที่ซับซ้อน เพื่อจัดการความปวดอย่างเด็ดขาด และรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องใช้ยา

MedPark Story วันนี้ มีโอกาสได้คุยกับ ผศ. (พิเศษ) นพ. มาร์วิน เทพโสพรรณ วิสัญญีแพทย์เฉพาะทางด้านระงับปวด โรงพยาบาลเมดพาร์ค ที่จะมาเล่าถึงเส้นทางกว่าจะมาเป็นหมอระงับปวด พร้อมเผยวิธีหยุดความเจ็บปวดในแบบของ Pain Intervention Specialist มาติดตามกันเลย

Dr. Marvin Med Park Story Treatment

หมอระงับปวด หมอเฉพาะทางที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก

หลังจากจบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ. มาร์วิน ได้ไปเป็นแพทย์ประจำบ้าน สาขาวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จากประสบการณ์การตรวจคนไข้มากมาย ทำให้ได้ข้อคิดว่าความปวดไม่ใช่ส่งผลแค่คนไข้เท่านั้น แต่ยังกระทบไปได้หลายคนทั้งต่อร่างกาย จิตใจ และกลายเป็นแรงผลักดันให้คุณหมอตัดสินใจเบนเข็ม ไปเรียนเพิ่มเติมทางด้าน Pain Management 

“ช่วงแรก ๆ ที่ได้ออกตรวจคนไข้ รู้สึกสงสารมาก เขามาด้วยความปวดกันทั้งนั้น อันที่จริงแล้วหมอทุกคนก็อยากให้คนไข้หายป่วยจากโรค ระหว่างการรักษาอาจต้องปวดหน่อย ไม่มีใครอยากปวดหรอก พอปวดขึ้นมาแล้ว คนไข้มาหาหมอเองไม่ไหว ต้องให้ลูกหลานพามา กลายเป็นภาระอีก เพราะเขาอาจต้องหยุดงาน เสียเวลาไปเป็นวัน”

“คนไข้บางคนเป็นเสาหลักของครอบครัว ปวดจนทำงานไม่ไหว ต้องลาออกมารักษาตัว ขาดรายได้ บางคนปวดแล้วหงุดหงิด อารมณ์เสีย ทะเลาะกับสามีภรรยาเกือบจะเลิกกันก็มี ก็เลยคิดว่า ถ้าเราช่วยให้เขาหายปวดได้ก็คงดี ก็เลยไปเรียนเฉพาะทางด้านระงับปวดที่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นสาขาที่เรียนยากมาก ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ แทบไม่ได้ใช้ความรู้ทางด้านวิสัญญีที่เรียนมาเลย”

และหมอ Pain ในประเทศไทย ตอนนั้นมีจำนวนน้อยมาก แม้แต่หมอด้วยกันเองบางคนก็ยังไม่รู้จัก และไม่รู้แนวทางการรักษาของหมอระงับปวดด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้คุณหมอตัดสินใจโดยไม่ลังเล

ยาแก้ปวด มอร์ฟีน อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด Dr. Marvin MedPark Story

ยาแก้ปวด มอร์ฟีน อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด

คุณหมอมาร์วิน พูดถึงวิธีการระงับปวดที่ไม่ต้องพึ่งพายาแก้ปวดเสมอไป

“สมมติว่าคนไข้ปวดใช่ไหม เดี๋ยวหมอสั่งยาแก้ปวดให้นะ หรือคนไข้มะเร็งที่รักษาแบบประคับประคองจนถึงระยะสุดท้าย เขาเริ่มปวด หมอก็ใช้มอร์ฟีนช่วย แต่มันไม่ใช่แนวทางหลักของ Pain Intervention Specialist เราเรียนมาทางด้านนี้โดยตรง เราไม่อยากแนะนําให้ใช้ยา เพราะยังมีวิธีอื่น ๆ ที่จะทำให้คนไข้ไม่จำเป็นต้องทนทุกข์ทรมานกับความปวด ถ้าเขามาถูกที่ ถูกเวลา”

หลังจากเรียนจบแล้ว นพ. มาร์วิน กลับมาเมืองไทย ได้เริ่มทำงานเป็นแพทย์ประจำคลินิกระงับปวด ฝ่ายวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระหว่างนั้นได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการจัดการความปวด และมีงานวิจัยออกมาหลายชิ้นด้วยกัน โดยผลงานวิจัยที่โดดเด่นมากที่สุดก็คือ การระงับปวดจากอาการหัวไหล่ฉีกด้วยวิธีฉีดเกล็ดเลือดฟื้นฟูเอ็นข้อหัวไหล่ 

“งานวิจัยนี้ เป็นการเทียบกันระหว่างการฉีดสเตียรอยด์กับการฉีดเกล็ดเลือดของคนไข้เอง อย่างที่รู้กันว่าการฉีดเกล็ดเลือดยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับมากนัก แต่หลังจากนำผลมาเทียบทั้งคนไข้เอง และเทียบโดยเอ็มอาร์ไอ พบว่าเอ็นที่ฉีกขาดนั้นกลับมาสมานติดกันได้ดี กล้ามเนื้อได้รับการฟื้นฟู คนไข้ไม่ต้องทนปวดเรื้อรัง ไม่ต้องผ่าตัด และลดความเสี่ยงจากกินยาแก้ปวดเป็นเวลานานด้วย”

งานวิจัยดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร เว็บไซต์ และถูกพูดถึงอย่างมาก ทำให้คนทั่วไปเริ่มรู้จักกับ หมอ Pain และ Pain Intervention Specialist มากขึ้น

Pain Intervention Specialist เน้นแก้ปัญหาตรงจุดปวด Dr. Marvin MedPark Story

Pain Intervention Specialist เน้นแก้ปัญหาตรงจุดปวด

คุณหมอมาร์วินเล่าให้ฟังว่า หมอที่รักษาคนไข้ อาจจะพยายามหาสาเหตุของอาการปวด แต่สำหรับ Pain Intervention Specialist มักจะไม่สนใจเรื่องเหล่านี้

“คนไข้ปวดกระดูก ปวดข้อ ปวดฟัน ปวดมะเร็ง ปวดศีรษะ ไม่ว่าจะปวดส่วนไหนก็ไม่ดีต่อคนไข้ทั้งนั้น ยิ่งถ้ามันกลายเป็นการปวดเรื้อรัง ปวดนาน 3 เดือนขึ้นไป แบบนี้ก็ไม่ไหว ถ้าส่งมาที่คลินิกระงับปวดหมอมักจะไม่ถามสาเหตุ แต่จะทําให้คนไข้หายปวดเอง มันไม่มีอะไรยาก มันมักจะตรงไปตรงมา ปวดตรงไหนก็ทําลายเส้นประสาทตรงนั้น”

สำหรับหัตถการที่ช่วยบําบัดความปวด ที่ Pain Intervention Specialist ชำนาญเป็นอย่างมาก ก็คือ “การทําลายเส้นประสาทที่ทําให้เจ็บปวดนั้นทิ้งไป” ฟังแล้วหลายคนอาจกลัวว่า ถ้าทำลายเส้นประสาทไปแล้วจะเดินหรือขยับไม่ได้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างที่คิด คุณหมออธิบายเพิ่มเติม

“มีการศึกษาอย่างละเอียดจนพบว่าเส้นประสาทของคนเรามีชนิดที่รับแต่ความปวด ไม่รับอย่างอื่น แล้วด้วยความที่เส้นประสาทมันมีหลากหลายชนิด เราก็จะเลือกทําลายเฉพาะเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการปวดนั้น ๆ ไปเลย เช่น ปวดหัวไมเกรนก็จี้เส้นประสาทตรงหัว ปวดเข่าก็ทำลายเส้นประสาทที่เลี้ยงข้อเข่า แค่นี้คนไข้ก็จะไม่ปวดแล้ว”

คุณหมอยกตัวอย่าง คนไข้มะเร็ง ที่ได้รับการระงับปวดไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

“ยารักษามะเร็งสมัยนี้พัฒนาไปมาก จนสามารถทำให้คนไข้มีชีวิตอยู่ได้อีกหลายปี แต่ระหว่างการรักษา คนไข้ก็ต้องทนทรมานจากผลข้างเคียงอยู่ดี มีเคสหนึ่งมาโรงพยาบาลไม่ไหว ลูกของคนไข้ก็เลยอัดคลิปวิดีโอมา หมอเห็นคนไข้นอนเพ้อ พูดจาไม่รู้เรื่อง หมอก็เลยแนะนําให้ใส่มอร์ฟีนเข้าทางไขสันหลัง ซึ่งเป็นวิธีที่สมัยนั้นยังไม่ค่อยทํากัน”

“หลังจากทำไปแล้ว เขาส่งรูปมาให้ คนไข้ไปกินข้าว ไปเดินห้างสรรพสินค้ากับหลาน ยิ้มแย้มแจ่มใส นอนหลับเหมือนคนปกติเลย เป็นช่วง 1-2 เดือนสุดท้ายของชีวิตที่ไม่ปวดเลย จนกระทั่งวันสุดท้าย คนไข้จากไปอย่างสงบ ไม่ปวด ไม่ทรมาน ลูกของเขาก็ขอบคุณมาก ๆ ที่มีสิ่งนี้มาช่วยคุณพ่อของเขาไว้”

Dr. Marvin Med Park Story 4

คลินิกระงับปวด (Pain Clinic) รพ.เมดพาร์ค กับการรักษาแบบองค์รวม

หากพูดถึง คลินิกระงับปวด ในประเทศไทย เรียกได้ว่ายังมีไม่มากนัก ส่วนมากจะอยู่ในโรงพยาบาลรัฐฯ ขนาดใหญ่ เช่น จุฬาฯ รามาฯ ศิริราช และด้วยจำนวนหมอระงับปวดที่ค่อนข้างหายาก ทำให้คนไข้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรักษาจากหมอเฉพาะทางด้านนี้จริง ๆ แต่ถึงอย่างไร นพ. มาร์วิน ก็คาดหวังว่าอย่างน้อย แพทย์ทุกสาขา ทุกโรงพยาบาล ควรเข้าใจคอนเซ็ปต์ แนวทางการรักษาของหมอระงับปวด เพื่อให้เกิดการทํางานแบบองค์รวม 

“หมอได้เข้ามาดูแลคนไข้ที่คลินิกระงับปวด โรงพยาบาลเมดพาร์ค ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่เพิ่งเปิดใหม่ สัมผัสได้ว่าที่นี่มีจุุดเด่น ในเรื่องของอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ ที่ค่อนข้างทันสมัย มีห้องผ่าตัดไฮบริดที่ใช้เครื่องเอกซเรย์เวอร์ชั่นใหม่ ทำให้เวลาหาเส้นประสาทที่มีความจําเพาะเจาะจงมาก ๆ จะสามารถหาได้อย่างแม่นยํามากขึ้น แล้วพยาบาลก็ใส่ใจมาก ๆ ดูแลคนไข้อย่างดี มีการโทร.ไปสอบถาม ติดตามอาการคนไข้ด้วย”

คุณหมอสังเกตได้ว่า คนไข้ของคลินิกระงับปวด โรงพยาบาลเมดพาร์ค ส่วนมากจะถูกส่งต่อมาจากศูนย์อายุรศาสตร์โรคมะเร็งและโลหิตวิทยา และศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ

“เคสที่ถูกส่งมามากที่สุดก็คือ ปวดมะเร็ง ปวดหลัง ปวดกระดูกสันหลังนี่เป็นท็อปฮิตเลย พออายุประมาณ 50-60 ก็เริ่มปวดกันแล้ว บางคนอายุน้อยแต่เป็นออฟฟิศซินโดรม ซึ่งก็เป็นโรคในกลุ่มเดียวกับกระดูกสันหลัง คนไข้ที่ Walk in เข้ามาโดยตรงเลยก็มี ส่วนมากจะเป็นคนไข้ต่างชาติ เขารู้ว่าที่นี่ทําให้หายปวดได้โดยไม่ต้องผ่าตัด

“การส่งคนไข้มาที่ Pain Clinic ทำให้เกิดการรักษาแบบองค์รวม ซึ่งการรักษาแบบองค์รวมแบบนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเป็นในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่หมอทุกคนเข้าใจตรงกัน ใครเก่งด้านไหนก็ดูด้านนั้นไป แล้วดีมากตรงที่เมดพาร์คมีหมอครบทุกแผนกเลย”

บรรยากาศของ Pain Clinic โรงพยาบาลเมดพาร์ค แม้จะยังไม่คึกคักมากเมื่อเทียบกับแผนกอื่น แต่หากเวลาผ่านไปสัก 2 ปี คนไข้เริ่มบอกต่อกันมากขึ้นแล้ว คิวการรักษาของหมอ Pain อาจจะแน่นยาวไปหลายเดือนเลยก็ได้

เผยแพร่เมื่อ: 03 มิ.ย. 2024

แชร์