นายแพทย์เลิศฤทธิ์ วรรณะเอี่ยมพิกุล แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน - Dr Lertrit Wannaeiampikul

ณ ห้องฉุกเฉิน สิ่งสำคัญที่สุดคือสติ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของคนไข้ให้มากที่สุด

“คนไข้ที่ต้องมาห้องฉุกเฉิน มีแต่อาการหนัก หมอฉุกเฉินต้องมีสติมาก เพื่อช่วยเหลือคนไข้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” นายแพทย์เลิศฤทธิ์ วรรณะเอี่ยมพิกุล แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

แชร์

ณ ห้องฉุกเฉิน สิ่งสำคัญที่สุดคือสติ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของคนไข้ให้มากที่สุด

“คนไข้ที่ต้องมาห้องฉุกเฉิน มีแต่อาการหนัก หมอฉุกเฉินต้องมีสติมาก เพื่อช่วยเหลือคนไข้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”

Dr Lertrit Wannaeiampikul 3

เมื่อพูดถึงโรงพยาบาล สิ่งที่เป็นเหมือนด่านหน้าในการต่อสู้ เพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยก็คือ ห้องฉุกเฉิน แผนกที่รับหน้าที่สำคัญแบบไม่มีหยุดพัก ต้องคอย Stand-by ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด

ในวันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณหมอโต้ง นายแพทย์เลิศฤทธิ์ วรรณะเอี่ยมพิกุล แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลเมดพาร์ค มีประสบการณ์รักษา และดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินมามากมาย  ในวันนี้คุณหมอได้เล่าถึงบทบาทของหมอฉุกเฉิน กับการทำงานที่ไม่ได้รออยู่ที่แผนกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเริ่มดูแลผู้ป่วยตั้งแต่จุดเกิดเหตุ

Dr Lertrit Wannaeiampikul 2

หมอฉุกเฉินขาดแคลน ปัญหาใหญ่ในยุคก่อน ที่ทำให้เลือกเดินในทางสายนี้

จุดเริ่มต้นในการเป็นแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินของคุณหมอโต้งนั้น มาจากการเห็นปัญหาในช่วงใช้ทุนหลังจากเรียนจบใหม่ ซึ่งในยุคสมัยนั้น แพทย์ประจำห้องฉุกเฉินส่วนใหญ่ มักจะเป็นแพทย์มือใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์มากนัก ซึ่งสวนทางกับความต้องการ รวมถึงความร้ายแรงของอาการเจ็บป่วย

“ในช่วงนั้นเนี่ย ประเทศไทยเรายังไม่มีการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางในด้านนี้มากนัก บ้านเราเพิ่งจะเปิดสอนกันมาประมาณ 10 กว่าปีหลังนี้เอง ผมก็เป็นรุ่นแรก ๆ เลย ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว คนไข้ที่เขาต้องมาห้องฉุกเฉินเนี่ย มีแต่คนไข้อาการหนักทั้งนั้น เป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถคาดเดาอาการอะไรได้เลย เราไม่รู้ว่าเขาเจ็บป่วยมาด้วยโรคกลุ่มไหน สาขาไหน เราก็เลยคิดว่า ถ้ามีหมอที่เรียนจบด้านนี้ ผ่านการอบรมด้านนี้เพิ่มขึ้น แล้วได้อยู่ตรงนั้น ในวันที่เกิดเหตุไม่คาดคิดนั้น โอกาสรอดชีวิตของคนไข้ รวมถึงผลลัพธ์ในการรักษาที่ดี จะต้องมีเพิ่มขึ้นแน่นอน”

Dr Lertrit Wannaeiampikul

‘มีสติ ปั๊มหัวใจ วินิจฉัยแม่นยำ’ และคำขอบคุณที่ยังคงประทับใจถึงทุกวันนี้

แน่นอนว่า ชีวิตการเป็นหมอฉุกเฉินนั้น ย่อมได้เจอกับเคสที่ไม่คาดคิด ตัวผู้ป่วยที่ต้องมาห้องฉุกเฉินนั้น ทุกคนไม่ได้มาพร้อมกับอาการเจ็บป่วยร้ายแรงเพียงเท่านั้น แต่ยังพกความวิตกกังวลมาแบบเต็มพิกัด ซึ่งญาติผู้ป่วยที่มาด้วยก็เช่นกัน ดังนั้นในฐานะแพทย์ที่ต้องเป็นด่านหน้าในการรับมือ ณ จุดนี้ จึงต้องมีสติ พยายามวินิจฉัยและดูแลรักษาด้วยความใจเย็น เพื่อให้การดูแลรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น

“ย้อนไปตอนเรียนเฉพาะทาง เราได้เจอเคสยาก ๆ มาเยอะเลย แต่มันมีวันนึงตอนที่เรายังเป็นแพทย์ประจำบ้าน ในช่วงหัวค่ำของวันนั้น มีคนไข้มาห้องฉุกเฉินด้วยอาการเหนื่อย เราก็เข้าไปดู ระหว่างที่เรากำลังซักประวัติเขา หัวใจเขาก็หยุดเต้นไปต่อหน้าต่อตาเราเลย”

“เราก็ต้องรีบทำการกู้ชีพ ปั๊มหัวใจ ทำ CPR จนเขารอด ชีพจรเขากลับมา แล้วก็รีบทำการตรวจต่อเพิ่มเติมจนเจอสาเหตุว่าเขามีลิ่มเลือดอุดตันในปอด เราก็ส่งต่อให้ ICU ดูแล แล้วในวันที่เขากลับบ้านได้ เขาเดินกลับมาหาเรา มาขอบคุณที่ช่วยเหลือเขาไว้ บอกเราว่าในตอนนั้นที่หัวใจเขาหยุดเต้นไปแล้ว แต่เขายังมีสตินะ เขาได้ยิน เขารู้ว่าเราช่วยเหลือเขาอย่างไรบ้าง ก็เป็นเรื่องที่เราประทับใจจริง ๆ”

Dr Lertrit Wannaeiampikul 4

หน้าที่ของหมอฉุกเฉิน ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ห้องฉุกเฉิน

หมอฉุกเฉินนั้น ต้องรู้เกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุหรือไม่ รู้วิธีการดูแลผู้ป่วยในทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ รู้จักวิธีการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ที่จุดเกิดเหตุ ว่าอาการแบบนี้ ควรดูแลอย่างไร และต้องรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุมายังโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเคลื่อนย้ายทางบก ทางน้ำ หรือว่าอากาศ

“ในอนาคตจะต้องมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการวินิจฉัยผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น มีเทคโนโลยีที่ช่วยดูแลรักษาคนไข้เพื่อให้พวกเขาปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาล แต่ต้องรวมถึงการดูแลคนไข้ตั้งแต่จุดเกิดเหตุให้ดีขึ้นด้วย อย่างเช่นช่วงโควิดเนี่ย เราก็ได้พัฒนาเรื่อง Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล ซึ่งมันก็นำมาใช้กับแผนกฉุกเฉินได้นะ รวมถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วย ทั้งระหว่างจุดเกิดเหตุมารพ. หรือแม้แต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างประเทศ ก็ต้องมีการพัฒนายิ่งขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ”

Dr Lertrit Wannaeiampikul 5

ที่แผนกฉุกเฉิน เมดพาร์ค ทุกคนมีความตั้งใจ อยากให้คนไข้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากการรักษา

เหตุผลที่คุณหมอโต้ง ได้เลือกมาเป็นคุณหมอฉุกเฉิน ที่โรงพยาบาลเมดพาร์คนั้น เพราะคุณหมอเชื่อว่าการที่โรงพยาบาลมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ จะสามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด ด้วยทีมเวิร์คของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ 

“แพทย์ฉุกเฉินไม่ได้ทำงานคนเดียวครับ เราต้องทำงานร่วมกับแพทย์อื่น ๆ ซึ่งที่เมดพาร์คเนี่ย นอกจากทีมแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินแล้ว ยังมีทีมแพทย์สาขาต่าง ๆ ที่พร้อมดูแลคนไข้ฉุกเฉินร่วมกับเรา ทั้งการดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาล หรือแม้แต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เรากับทีมฉุกเฉินก็ค่อนข้างพร้อมนะ ที่นี่เรามีแม้แต่การดูแลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยข้ามประเทศด้วย ดังนั้น สิ่งที่ประทับใจที่สุดในการทำงานที่นี่ คือเพื่อนร่วมงานครับ ทุกคนมีความตั้งใจ มีศักยภาพ เราอยากให้คนไข้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด”

และเมื่อถอดชุดกาวน์ออก คุณหมอก็มักจะหาเวลาว่างไปออกกำลังกาย

“แต่ก่อนปกติแล้ว ตอนมีเวลาว่างผมชอบไปวิ่งนะ แล้วก็มีเล่นฟุตบอลบ้างบางครั้ง แต่ตอนนี้พอมีลูกเล็ก ก็เลยต้องเพลา ๆ กิจกรรมอื่นลงไปครับ”

เผยแพร่เมื่อ: 05 พ.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. เลิศฤทธิ์ วรรณะเอี่ยมพิกุล

    นพ. เลิศฤทธิ์ วรรณะเอี่ยมพิกุล

    • เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
    การประเมิน และดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างครอบคลุม, การดูแลผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล, การดูแล เคลื่อนย้าย และขนส่งผู้ป่วย, การช่วยชีวิตขั้นสูง