วิสัญญีแพทย์ในเด็ก Pediatric Anesthesiologists

วิสัญญีแพทย์ในเด็ก ลมหายใจคนไข้ ที่พ่อแม่ฝากไว้ในมือ

วิสัญญีแพทย์ หนึ่งในสายงานแพทย์ที่อาจไม่ได้รักษาคนไข้โดยตรง แต่เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการรักษาหรือการทำหัตถการต่าง ๆ เช่นการผ่าตัดตั้งแต่ไม่ซับซ้อน ไปจนถึงซับซ้อนมาก ๆ และมีชีวิตของผู้ป่วยเป็นเดิมพัน

แชร์

วิสัญญีแพทย์ผู้ทำหน้าที่ดูแลดวงใจของพ่อแม่ขณะเข้ารับการผ่าตัด

“เราทำให้เขาหลับ เราก็ต้องดูแลสัญญาณชีพและทางเดินหายใจของเขาให้ปลอดภัย”

Dr Ngamjit Pattaravit  Banner 6

วิสัญญีแพทย์ หนึ่งในสายงานแพทย์ที่อาจไม่ได้รักษาคนไข้โดยตรง แต่เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการรักษาหรือการทำหัตถการต่าง ๆ เช่นการผ่าตัดตั้งแต่ไม่ซับซ้อน ไปจนถึงซับซ้อนมาก ๆ และมีชีวิตของผู้ป่วยเป็นเดิมพัน ยิ่งงานวิสัญญีในเด็ก ยิ่งเป็นงานที่ซับซ้อน และท้าทาย

MedPark Stories นี้ จะมาพูดคุยกับวิสัญญีแพทย์เฉพาะด้านการให้ยาระงับความรู้สึกสำหรับผู้ป่วยเด็ก ผ่านประสบการณ์ในแง่มุมต่าง ๆ ของ แพทย์หญิงงามจิตร์ ภัทรวิทย์ วิสัญญีแพทย์ ที่ต้องดูแลคนไข้ตัวน้อยให้ปลอดภัย ตลอดจนให้แนะนำแก่คุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

เลือกเป็นวิสัญญี เพราะชอบงานที่ค่อนข้าง ‘ฉุกเฉิน’

คุณหมองามจิตร์เล่าว่า ตอนที่เป็นนิสิตแพทย์ เมื่อเริ่มเรียนในชั้นคลินิก ก็ค้นพบว่าตัวเองสนใจในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉิน และด้วยความที่ตัวเองเป็นคนรูปร่างเล็ก หากให้ไปทำงานศัลยกรรมกระดูกและข้อแบบหมอออร์โธฯ ก็คงไม่ไหว งานในสาขาวิสัญญีและแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินจึงเข้ามาอยู่ในตัวเลือก จนกระทั่งได้ฝึกปฏิบัติครบทุกสาขาแล้ว ก็พบว่าชอบงานด้านวิสัญญีมากที่สุด

“วิสัญญีแพทย์ให้การระงับความรู้สึก ช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย สำหรับผู้ป่วยเด็ก จะให้การระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว (ดมยา) เป็นหลัก ซึ่งเท่ากับว่าระหว่างที่เด็กหลับจะช่วยเหลือตัวเองเราจึงต้องดูแลเรื่องการหายใจ และสัญญาณชีพของผู้ป่วยให้ปลอดภัยตลอดการ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก ที่จะต้องคำนวณปริมาณยา สารน้ำ อย่างแม่นยำและเหมาะสม จึงเป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญและรอบคอบมาก ๆ ค่ะ”

Dr Ngamjit Pattaravit  Banner 4

งานวิสัญญีในเด็ก ที่ต้องสื่อสารทั้งกับพ่อแม่ และคนไข้ตัวน้อย

งานวิสัญญี จะนับว่าเป็นวิสัญญีในเด็กก็ต่อเมื่อ คนไข้มีอายุไม่เกิน 15 ปี และจะใช้วิสัญญีแพทย์ที่มีความชำนาญด้านการดูแลคนไข้เด็ก

“วิสัญญีแพทย์ ไม่ใช่แค่รับมือกับคนไข้ในตอนไม่ได้สติอย่างเดียว เพราะต้องอยู่ในขั้นตอนพูดคุยและอธิบายให้คนไข้ทราบว่าจะทำอะไรบ้าง กระบวนการเป็นอย่างไร ต้องพูดคุยเพื่อให้คนไข้ไว้ใจในตัวเราที่จะเป็นคนดูแลเขา หรือดูแลลูกของเขาในช่วงเวลาที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จึงไม่ใช่แค่แจ้งให้ทราบ แต่เป็นการสร้างความเชื่อใจ”

เมื่อถามถึงการรับมือระหว่างคนไข้ผู้ใหญ่กับคนไข้เด็ก ว่าแตกต่างกันอย่างไร คุณหมอตอบว่าค่อนข้างแตกต่าง เนื่องจากในกรณีผู้ใหญ่ เขาคือคนไข้เอง จึงสามารถพูดคุยและอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ให้รับทราบโดยตรง แต่ในกรณีที่คนไข้เป็นเด็ก คนที่ต้องอธิบายให้ฟังจะเป็นพ่อแม่ ซึ่งไม่ใช่คนไข้โดยตรง

“คนไข้ของเราคือเด็ก เราอาจเจอเด็กที่ไม่ให้ความร่วมมือ ร้องไห้ กอดพ่อแม่แน่น หรือหนีเรา กรณีนี้นอกจากคุยกับพ่อแม่ ให้เข้าใจกระบวนการทั้งหมดแล้ว ก็ต้องทำให้เด็กอุ่นใจ และไว้วางใจเราด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ต้องเลือกใช้คำและวิธีพูดคุยที่เหมาะกับช่วงวัย เช่น หากจะให้เขาหายใจด้วยออกซิเจน ก็บอกให้เขาเป่าลูกโป่ง ให้เขารู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น”

เมื่อคนไข้เด็กเข้าใจ เชื่อใจ ก็มีแนวโน้มที่จะให้ความร่วมมือกับแพทย์มากขึ้น ในด้านของคุณพ่อคุณแม่ เมื่อเข้าใจขั้นตอนการดูแลรักษาจนเกิดความเชื่อมั่น จะช่วยลดความกังวลของพ่อแม่ ซึ่งพบว่าช่วยลดความวิตกกังวลของเด็กลงอีกด้วย

ภาษากายก็มีส่วนในการรับมือคนไข้เด็ก

คุณหมอให้ความเห็นว่า การสื่อสารประกอบด้วยภาษากายและภาษาพูด การเป็นหมอที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนไข้เด็ก ไม่จำเป็นจะต้องมีรูปร่างเล็ก เป็นผู้หญิงเสียงเล็ก ๆ เสมอไป สามารถเป็นคุณหมอผู้ชายสูงใหญ่เสียงทุ้มได้ จุดสำคัญคือวิธีการเข้าหาเด็ก และสื่อสารกับเด็กต่างหากที่สำคัญ

“เวลาเราเข้าไปคุยกับเด็ก ภาษากายของเราจะเป็นตัวบอกว่าอยากจะพูดคุยสื่อสารกับเขาหรือไม่ การโน้มตัวเข้าหา สบสายตาระหว่างพูดคุย จะสร้างความเชื่อใจให้กับเด็ก เพราะเด็กอาจไม่ได้ฟังแค่สิ่งที่เราพูด เขาจะรับรู้ถึงลักษณะท่าทางของเราด้วย”

Dr Ngamjit Pattaravit  Banner 5

แล้วลักษณะทางกายภาพของเด็ก ทำให้งานวิสัญญียากขึ้นไหม…

“ผู้ใหญ่ตื่นเต้น วิตกกังวล เขายังควบคุมความรู้สึกและอยู่นิ่ง ๆ ได้ แต่กับเด็กจะไม่ใช่แบบนั้น ทำให้ในคนไข้เด็กจึงจะใช้วิธีระงับความรู้สึกทั้งตัว บรรยากาศในห้องผ่าตัดเองก็มีผล หากมีเสียงเครื่องไม้เครื่องมือ คนเยอะ เด็กก็อาจเกิดความกังวล และอาจส่งผลต่อความเร็วหรือช้าของการหลับของเด็กได้ค่ะ”

ความประทับใจของหมอดมยา คือคนไข้ทุกคนตื่นมาอย่างปลอดภัย

“สำหรับงานวิสัญญี ไม่จำเป็นเลยค่ะที่คนไข้จดจำหรือขอบคุณเรา สำหรับตัวเองแล้ว การที่คนไข้ตื่นขึ้นมา แข็งแรง หัตถการผ่านไปอย่างราบรื่นเรียบร้อย เราก็รู้สึกดีใจและมีความสุขแล้ว”

“ในคนไข้เด็ก ด้วยความที่เขาเป็นเด็ก จะมีความน่าเอ็นดูอยู่แล้ว เขาก็จะมีพฤติกรรมหรือทำอะไรที่เรามองว่าน่ารัก ทำให้หมออย่างเราก็อยากดูแลเขาค่ะ อย่างก่อนดมยา เราสัญญาว่าจะให้รางวัลเขา พอหลังดมยา เขาตื่นขึ้นมา เขาก็ทวงเลย คือเขาจำได้นะ อะไรแบบนี้”

ตามที่กล่าวไป คุณหมอบอกว่า งานวิสัญญีในเด็กนั้นความจริงค่อนข้างเครียด เพราะเด็กจะเกิดภาวะพร่องออกซิเจนได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ แต่ความน่ารักน่าเอ็นดูของคนไข้เด็ก ก็ช่วยชดเชยให้การทำงานไม่เครียดจนเกินไปได้ด้วย

Dr Ngamjit Pattaravit  Banner 3

ที่เมดพาร์คมีความพร้อมด้านงานวิสัญญีในเด็ก

เมื่อมีคนไข้เด็กเข้ามา แล้วต้องรับการผ่าตัด ศัลยแพทย์กับกุมารแพทย์จะทำงานร่วมกัน ประเมินความพร้อมของเด็กในเบื้องต้น และวิสัญญีแพทย์ในเด็กก็จะเข้าไปร่วมให้การประเมิน ว่าต้องเตรียมการด้านไหนเพิ่มเติมไหม หากต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์พิเศษที่มีมาตรฐาน ที่โรงพยาบาลก็จำเป็นต้องมีรองรับเพียงพอ

“การดูแลคนไข้เด็กสักคน เราจะร่วมมือทำงานกันเป็นทีมสหวิชาชีพค่ะ ไม่ใช่แค่หมอคนใดคนหนึ่ง ต้องใช้หมอเฉพาะทาง วิสัญญีแพทย์ พยาบาลและบุคลากรหลาย ๆ ภาคส่วน เพื่อดูแลเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด”

หมอดมยาที่ชอบงานฝีมือ

คุณหมอแชร์ให้ฟังว่า ช่วงแรก ๆ ในการเป็นวิสัญญีแพทย์ วิถีชีวิตจะยังไม่สมดุลนัก เพราะงานค่อนข้างยุ่ง กว่าจะถึงบ้าน กว่าจะได้นอน และติดนิสัยนอนดึก แต่พอทำงานได้ระยะเวลาหนึ่ง รู้สึกว่าต้องปรับเปลี่ยน ปรับเวลานอนให้เร็วขึ้น มีเวลาก็พักผ่อนหย่อนใจ หางานอดิเรกที่ช่วยคลายเครียด

“ส่วนมากจะเป็นงานอดิเรกที่ทำได้ที่บ้านค่ะ พวกงานฝีมือ ถักโครเชต์ เย็บผ้า มันช่วยให้เราฝึกโฟกัสกับสิ่งที่ทำ ใจเย็น และรู้สึกภูมิใจเวลาทำงานสำเร็จออกมาสักชิ้นหนึ่ง”

และเพราะงานทุกชิ้นเป็นการฝึกทำตามแบบหรือแพทเทิร์นที่มีสอนในอินเทอร์เน็ต ไม่ได้ไปเรียนจริงจัง จึงอาจมีขนาดที่ไม่พอดี ต้องมาปรับแก้บ้าง อาจมีที่ทำออกมาแล้วเบี้ยว ๆ ไม่ตรงบ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องซีเรียสอะไร กลับกันทำให้คุณหมอค่อนข้างยืดหยุ่นกับการทำงานฝีมือ ที่มันอาจจะไม่ได้เพอร์เฟกต์ แต่ก็มาจากความตั้งใจ ความพยายาม และเห็นคุณค่าของงานทุก ๆ ชิ้น

Dr Ngamjit Pattaravit  Banner 2

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดมยา

ก่อนจบการพูดคุย คุณหมอได้แนะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์เรื่องหนึ่ง คือ ความเชื่อที่ว่า ตอนคลอดลูก หากทำการบล็อกหลังแล้ว จะทำให้ปวดหลัง พออายุมากเข้า ปวดหลัง ก็มักจะโทษว่า เพราะตอนสาว ๆ คลอดลูกแล้วบล็อกหลังจึงทำให้ปวด แต่ความจริงแล้วเป็นความเข้าใจที่ผิด

“โครงสร้างกระดูกของคนเราเป็นไปตามวัยค่ะ อายุมากเข้า ร่างกายผ่านการใช้งาน หรือมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกสรีระบ่อย ๆ ก็ส่งผลให้หมอนรองกระดูกเคลื่อน หมอนรองกระดูกเสื่อม จนเกิดอาการปวดหลังตามมาได้”

“และอีกเรื่องหนึ่งคือ ในปัจจุบันการให้ยาสลบมักทำผ่านการฉีดเข้าเส้นเลือดค่ะ จะไม่ค่อยใช้วิธีดมยาสลบผ่านทางระบบทางเดินหายใจเหมือนเมื่อก่อนแล้ว พอก่อนผ่าตัดแล้วหมอให้ดมออกซิเจน คนไข้มักเข้าใจผิดว่าเป็นแก๊สดมยาสลบค่ะ”

นับว่าเป็นหนึ่งในสายงานที่น่าสนใจมากทีเดียว กับงานด้านวิสัญญีวิทยา ที่จะคอยสนับสนุนให้ทุก ๆ การผ่าตัดรักษา หรือการทำหัตถการต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น วิสัญญีแพทย์ทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญในการรักษาและดูแลทุก ๆ ลมหายใจของคนไข้ให้ตื่นกลับมาได้อย่างปกติที่สุด

เผยแพร่เมื่อ: 04 ก.พ. 2025

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    พญ. งามจิตร์ ภัทรวิทย์

    พญ. งามจิตร์ ภัทรวิทย์

    • วิสัญญีวิทยา
    • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    วิสัญญีวิทยา, Pediatric Anesthesia