ผศ.พญ.นิทรา ปิยะวิเศษพัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยาวินิจฉัย (Diagnostic Radiology) มีประสบการณ์ในการด้านรังสีวินิจฉัยมามากกว่า 20 ปี โดยทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นานถึง 16 ปี ควบคู่กับการทำงานในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ผศ.พญ.นิทรา มุ่งมั่นที่จะนำรูปแบบการทำงานด้านรังสีวิทยาในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศ มาประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยและรักษาที่แม่นยำมีประสิทธิผล โดยจะมุ่งเน้นการทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชา (Multidisciplinary Team) ที่ประกอบด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นรังสีแพทย์ พยาธิแพทย์ อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ หรือแพทย์ในสาขาอื่นๆ ร่วมกันดูแลผู้ป่วยแต่ละราย ในรูปแบบของการสัมมนาหรืออภิปรายร่วมกัน โดยมีการนำเสนอข้อมูลทางคลินิกของผู้ป่วยในแง่มุมต่างๆ ที่อาจมีผลต่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษา มีการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา อันจะส่งผลให้การวินิจฉัย การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย รวมทั้งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ รังสีแพทย์ยังพร้อมไปให้คำปรึกษาในหอผู้ป่วยหนัก (ICU, CCU) เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพมากขึ้น การที่โรงพยาบาลเมดพาร์คมีเป้าหมายและมุ่งมั่นในการเป็นโรงพยาบาลที่เน้นการรักษาโรคยาก โรคซับซ้อน การอ่านผลการตรวจด้วยรังสีด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และการที่รังสีแพทย์สามารถให้คำแนะนำกับแพทย์เจ้าของไข้ได้ทันท่วงที จะช่วยส่งเสริมให้โรงพยาบาลเมดพาร์คสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
เลือกมาทำงานกับเมดพาร์คเพื่อสร้าง “รพ.ทางเลือก ที่พัฒนาเชิงคุณภาพและวิชาการ"
ผศ. พญ.นิทรา กล่าวว่าเข้ามาร่วมงานกับโรงพยาบาลเมดพาร์ค เพราะเชื่อมั่นในความตั้งใจแน่วแน่ของเมดพาร์ค ที่จะเป็นโรงพยาบาลทางเลือกคุณภาพสูง ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งในเชิงคุณภาพและวิชาการไปพร้อมกัน
“จากการทำงานในโรงเรียนแพทย์มานานกว่า 16 ปี และประสบการณ์ในการทำงานในโรงพยาบาลเอกชนอีก 5 ปี เราเห็นว่ายังมีโอกาสพัฒนาการทำงานด้านรังสีวินิจฉัยให้ดีขึ้นได้อีกมาก และเมื่อได้มีโอกาสพบกับผู้บริหารโรงพยาบาลเมดพาร์คก็พบว่ามีผู้บริหารมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และมีเป้าหมายที่จะพัฒนางานทั้งด้านการบริการ และงานวิชาการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยอย่างแท้จริง ทำให้ตนเองเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ และศักยภาพของโรงพยาบาล จึงตัดสินใจมาร่วมงาน”
แม้เทคโนโลยีจะทันสมัยและมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับ พญ.นิทราแล้ว เครื่องมือเหล่านี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ก็ต่อเมื่อผู้ใช้ รู้จักใช้ และสามารถดึงศักยภาพของเครื่องมือออกมาได้เต็มที่ จึงจะช่วยให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของการดูแลและการรักษาผู้ป่วย