หมอด้าย - สุดปรีดา กับสูตรยารักษามะเร็งชั้นดี ที่เรียกว่า “ความเข้าใจ” Dr. Dai – Sudpreeda and the best cancer drug called “Understanding”

หมอด้าย - สุดปรีดา กับสูตรยารักษามะเร็งชั้นดี ที่เรียกว่า “ความเข้าใจ”

หมอทั่วไปที่ไม่ใช่หมอมะเร็ง เขามองได้แต่ภาพรวมว่ามะเร็งแบบนี้ ต้องใช้ยาอะไร แต่ความจริงแล้ว ยาที่เคยใช้กับคนไข้คนหนึ่ง อาจไม่จำเป็นกับอีกคนหนึ่ง

แชร์

หมอด้าย - สุดปรีดา กับสูตรยารักษามะเร็งชั้นดี
ที่เรียกว่า “ความเข้าใจ”


“หมอทั่วไปที่ไม่ใช่หมอมะเร็ง เขามองได้แต่ภาพรวมว่ามะเร็งแบบนี้ ต้องใช้ยาอะไร
แต่ความจริงแล้ว ยาที่เคยใช้กับคนไข้คนหนึ่ง อาจไม่จำเป็นกับอีกคนหนึ่ง”

เป็นมะเร็งระยะที่เท่าไรแล้ว จะมีโอกาสหายไหม มักจะเป็นคำถามแรกที่คนไข้มักจะเอ่ยขึ้น หลังจากทราบว่ามี “เนื้อร้าย” ซ่อนอยู่ในร่างกายของเขา และก้อนเนื้อนั้นจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตต่อไปในวันข้างหน้า หายหรือไม่หาย...หากคุณเป็นแพทย์จะตอบอย่างไร?

นพ.สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ - คุณหมอด้าย บอกกับเราว่า คำตอบเป็นเสมือน ดาบสองคม ที่ส่งผลต่อความรู้สึกของคนไข้ และการตัดสินใจว่าจะรักษาหรือไม่รักษา หลายคนอาจมองว่า คนไข้จะเป็นคนเลือกเอง แต่ความจริงแล้ว การตัดสินใจควรเกิดขึ้นร่วมกัน ทั้งคนไข้ และแพทย์ ซึ่งจากประสบการณ์ของ นพ.สุดปรีดา ที่เคยให้คำปรึกษามาแล้วนับ 10 ปี จะพยายามให้ข้อมูลมากที่สุด เท่าที่คนไข้อยากทราบ พยายามปลุกกำลังใจให้สู้ต่อ เพื่อไม่ให้เขาปล่อยโอกาสในการมีชีวิตยืนยาวให้หลุดลอยไป

“เราจะพยายามพูดให้เขาเข้าใจว่า มะเร็งก็เหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป อย่าง โรคเบาหวาน ความดัน ที่พอใครเป็นแล้วก็ต้องเป็นไปตลอด มันจะไม่ได้หายไปไหน แต่ถ้าเราบอกว่ายังไงก็ไม่หาย คนไข้จะเสียกำลังใจ และอาจจะไม่รักษา

Dr. Sudpreeda Chainitikun 1

เกือบได้สวมหมวกเซฟตี้แทนเสื้อกาวน์

ก่อนจะเรียนจบมาเป็น แพทย์เฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ที่ ศูนย์อายุรศาสตร์โรคมะเร็ง โรงพยาบาลเมดพาร์ค คุณหมอด้ายเล่าย้อนไปในช่วงเรียนมัธยมว่า ต้องไปเรียนพิเศษทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งตนเองนั้นเป็นเด็กค่อนข้างขี้เกียจ แต่สุดท้ายก็สามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์ออกมาได้ดีจนน่าประหลาดใจ

วิศวกรรมศาสตร์ เป็นคณะที่อยากจะยื่นคะแนนเอนทรานซ์ แต่ถ้าหากเลือก คณะแพทย์ศาสตร์ คุณหมอจะได้ของขวัญพิเศษชิ้นใหญ่เป็น “รถยนต์ป้ายแดง” ข้อเสนอนี้ทำให้ตัดสินใจไปสมัครสอบโควต้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เผื่อเอาไว้ก่อน ซึ่งถ้าสอบไม่ได้ก็ยังมีคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นแผนสอง

เมื่อถึงวันสอบโควต้า คุณหมอด้ายกลับอยากจะไปแผนสองมากกว่า จนเพื่อน ๆ ต้องตามตัวมาเข้าห้องสอบด้วยกัน พอผลสอบโควต้าออกมาแล้วปรากฎว่าสอบผ่าน แต่ก็ยังไม่ยอมบอกครอบครัว จนถึงวันมอบตัวเข้าคณะ คุณครูประจำชั้นต้องโทรศัพท์ไปบอกกับผู้ปกครองด้วยตัวเอง เรียกว่ากว่าจะตัดสินใจได้ก็เกือบไม่ทันเวลาเลยทีเดียว

การรักษาต้องไม่ขัดขวางคุณภาพชีวิตของคนไข้

ระหว่างเรียนแพทย์ คุณหมอด้ายเคยถามตัวเองว่า ตนเองจะเป็นหมอได้จริง ๆ หรือเปล่า แล้วเป็นหมอด้านไหนทำงานสบายที่สุด? จนกระทั่งต้องไปเป็นแพทย์ใช้ทุนในโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ที่นั่นทำให้มองเห็นสถานการณ์ว่า คนไข้มะเร็งหลายราย ปฎิเสธการรักษา เพียงเพราะไม่สะดวกเดินทางนานถึง 2 ชั่วโมง เพื่อเข้าไปโรงพยาบาลในตัวเมือง อีกทั้งแพทย์ผู้ชำนาญการก็มีไม่มาก และไม่สะดวกเดินทางมายังโรงพยาบาลแห่งนั้น จึงทำให้คุณหมอได้คำตอบในใจ และมุ่งมั่นจะไปเรียนต่อเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง เพื่ออยากนำความรู้ มารักษาคนไข้มะเร็งในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลความเจริญ

“คนไข้แต่ละประเทศมีความต้องการแตกต่างกัน ช่วงที่ไปอยู่ MD Anderson Cancer Center เชื่อไหมว่า 80% ของคนที่นั่น เขายอมย้ายบ้านมาใกล้ รพ. เพื่อรักษามะเร็งโดยเฉพาะ เขาต้องการการรักษาที่ดีที่สุด ต่างจากคนไทยที่เป็นสังคมครอบครัว อยากอยู่กับพ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลานมากกว่า”

จากประสบการณ์การไปศึกษาต่อที่ MD Anderson Cancer Center ศูนย์วิจัยและรักษาคนไข้มะเร็ง ที่มีชื่อเสียงมากในอเมริกา พบว่ากระบวนการรักษามะเร็งที่นั่นมีมาตรฐานในทุกด้าน แต่เมื่อถึงเวลาต้องกลับมาเมืองไทย นพ.สุดปรีดา จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสังคมไทย ไม่ได้หวังว่ามะเร็งต้องยุบอย่างเดียว แต่ต้องให้คนไข้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีในระหว่างการรักษาควบคู่กันไป

“เราไม่จำเป็นต้องเป๊ะไปหมดทุกอย่าง เช่น ต้องนอนโรงพยาบาล 5 วันแล้วกลับบ้าน แล้วอีก 2 อาทิตย์มาเจอกันใหม่ หรืออะไรขนาดนั้น บางเคสเราอาจจะให้เขาอยู่บ้านกับครอบครัวได้ ไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล เราอยากให้คุณภาพชีวิตคนไข้ดีขึ้นด้วย

Dr. Sudpreeda Chainitikun 2

คู่ต่อสู้ที่ท้าทายคือ “ความเชื่อ”

หากพูดถึงเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ในการใช้ตรวจรักษามะเร็งที่มีความจำเพาะเจาะจง ปัจจุบันมีเครื่อง NGS - Next Generation sequencing เครื่องมือที่จะช่วยให้แพทย์สามารถนำก้อนชิ้นเนื้อมาตรวจหาการกลายพันธุ์ ว่ามะเร็งของคนไข้รายนั้นมีการกลายพันธุ์ตรงส่วนไหนบ้าง ตลอดจนสามารถตรวจหาการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งอาจทำให้ทราบถึงการก่อตัว การพัฒนาของมะเร็ง และความไวในการตอบสนองต่อการรักษาบางอย่าง เพื่อแพทย์จะได้จัดหายาที่เหมาะสมให้ เนื่องจากชิ้นเนื้อของคนไข้แต่ละคนนั้นมีความจำเพาะเจาะจง เช่น คนไข้เป็นมะเร็งเต้านมเหมือนกัน หากเป็นเมื่อก่อน การรักษาจะใช้ยาแบบเดียวกันกับคนไข้มะเร็งเต้านม แต่สมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว ด้วยเทคโนโลยี NGS ทำให้สามารถเลือกยาที่ตอบสนอง และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุดกับคนไข้รายนั้น

“การรักษามะเร็งมันไม่มีสิ้นสุด มันจะมีคำว่า การรักษาตามงานวิจัย ซึ่งการจะคิดสูตรยาขึ้นมาตามงานวิจัยได้ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ คิดขึ้นมาเอง ยาแต่ละตัวผลข้างเคียงเยอะ ไม่ใช่ว่าใส่ยาไปทุกตัวเลยแล้วมาดูว่าตัวไหนตอบสนองดีแล้วเอาตัวนั้น ถ้าเป็นหมอทั่วไปที่ไม่ใช่หมอด้านมะเร็ง เขาอาจจะรู้ไม่ลึกถึงขั้นนี้ เขามองได้แต่ภาพรวมว่าต้องใช้ยาอะไร แต่ความจริงแล้วยาที่เคยใช้กับคนไข้คนหนึ่งอาจไม่จำเป็นกับอีกคนหนึ่งก็ได้”

ในขณะที่เทคโนโลยีพัฒนาไปมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องท้าทายสำหรับคุณหมอรักษามะเร็ง ในทุกยุค ทุกสมัย ก็คือ  ความเชื่อ เกี่ยวกับวิธีการรักษาจากตำราที่ไม่ได้มาจากแพทย์โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาท ทำให้ข้อมูลเหล่านั้นถูกส่งต่อไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คนไข้บางส่วนปฎิเสธการรักษาตามหลักการแพทย์ และเสียโอกาสในการรักษาที่เป็นมาตรฐานและใช้ได้จริง ดังนั้น คนเป็นแพทย์เองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน หากเป็นความต้องการคนไข้ และไม่ทำให้เป็นอันตราย ก็ไม่ถึงกับห้าม แต่จะพยายามให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เท่าที่จะทำได้

Dr. Sudpreeda Chainitikun 3

“อยากบอกคนไข้ทุกคนนะครับ อย่างแรกคือ อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ มะเร็งไม่ได้เป็นแล้วตายทันที ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์เจริญก้าวหน้ามาก ช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น สอง อย่าไปหาสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นมะเร็ง มีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับสาเหตุของมัน และทำกันมานานเป็นร้อยปีแล้ว ยังระบุไม่ได้ชัดเจนเลย สุดท้าย อย่าอยู่คนเดียว อย่าเก็บไว้คนเดียว บอกให้คนใกล้ชิดรู้จะช่วยให้สภาพจิตใจของเราไม่แย่”

ปัจจุบัน นพ. สุดปรีดา เป็นแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง การรักษาโดยเคมีบำบัด การรักษาแบบมุ่งเป้า และการรักษาด้านอิมมูโนบำบัด และการดูแลแบบประคับประคอง โดยเริ่มรักษาตั้งแต่เคสแรกของโรงพยาบาลเมดพาร์ค ที่มาด้วยโรคมะเร็งสมอง จนปัจจุบัน ผ่านมาสามปีแล้ว ก็ยังดูแลกันต่อไปเรื่อย ๆ เรียกได้ว่ากลายเป็นขวัญใจของคนไข้มะเร็งทุกราย ไม่ใช่เพราะประทับใจในประสบการณ์ หรือความชำนาญในการรักษามะเร็งเท่านั้น แต่อาจเพราะคุณหมอด้าย มักหยอดยาชั้นดี คือความเข้าใจ และทัศนคติที่เต็มไปด้วยพลังบวก ให้แก่คนไข้ด้วยเสมอ

เผยแพร่เมื่อ: 04 ต.ค. 2020

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ

    นพ. สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง, การรักษามะเร็งโดยเคมีบำบัด, การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า, การรักษามะเร็งด้านอิมมูโนบำบัด, การดูแลแบบประคับประคอง