หมอฟัน ผู้ที่ต้องสู้กับความกลัวของคนไข้มากเป็นพิเศษ
“เคยมีคนไข้บอกว่า คลอดลูกยังไม่กลัวเท่าทำฟัน”
เชื่อว่ามีหลายคน ที่ต่อให้เคยผ่านการทำหัตถการใหญ่ อาทิ การผ่าตัด การใช้เลเซอร์บำบัด แต่ก็ยังหวาดกลัวทุกครั้งที่ต้องทำฟัน หมอฟันจึงเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความท้าทาย ที่นอกจากจะต้องบริหารจัดการพื้นที่ทำงานที่แคบมากอย่างช่องปากของมนุษย์แล้ว ยังต้องรับมือกับความรู้สึกหวาดกลัว วิตกกังวลของคนไข้ด้วย MedPark Stories ในตอนนี้ จะชวนมาพูดคุยกับ หมอเมย์ ทพญ.วิมลกาญจน์ ดำรงรัตน์นุวงศ์ ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ ว่าในเส้นทางสายทันตกรรม มีอะไรที่น่าสนใจและคาดไม่ถึงบ้าง
เป็นหมอฟัน เพราะอยากทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
ทำแบบนี้ก็ได้ด้วยหรือ คำถามที่มาพร้อมความประหลาดใจ ที่เกิดขึ้นตอนที่พบกับองค์ความรู้ใหม่ ๆ จุดประกายให้หมอเมย์ตัดสินใจเลือกเส้นทางทันตแพทย์ด้านโรคเหงือก
“ตอนสอบเอนทรานซ์มีความมุ่งมั่นทางสายการแพทย์อยู่แล้วค่ะ ตอนนั้นตัดสินใจเลือกคณะทันตแพทย์เป็นอันดับหนึ่ง เพราะไม่ต้องอยู่เวร เลือกเวลาทำงานให้ตัวเองได้ เป็นวิชาชีพติดตัวไปทำงานที่ไหนก็ได้ และได้มีเวลาดูแลตัวเองด้วย”
“ช่วงจบทันตแพทย์ใหม่ๆ มีโอกาสได้เข้าฟังประชุมวิชาการ ได้เห็นงานของอาจารย์แล้วรู้สึกทึ่ง เพราะทันตแพทย์สามารถปลูกกระดูกคนไข้ได้ จากที่ฟันของคนไข้มีแนวโน้มต้องถอนออก ก็กลับมาแข็งแรงขึ้น และสามารถเก็บรักษาฟันไว้ได้ เลยพบว่าหมอฟันด้านโรคเหงือกก็สามารถทำสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และมอบความหวังให้คนไข้ได้ด้วย วันนั้นเลยเป็นวันที่ตัดสินใจเรียนเฉพาะทางด้านนี้เลยค่ะ อยากทำได้แบบนี้ เหมือนไฟติดขึ้นมาเลยค่ะ”
คุณหมอเล่าว่า พอได้มาทำงานจริง ๆ แล้วยิ่งพบว่า งานด้านทันตกรรมโรคเหงือกนั้นเหมาะกับตัวเอง เพราะได้พูดคุย ได้รักษา ได้จุดประเด็นและให้ข้อมูลบางอย่างที่คนไข้อาจไม่รู้มาก่อน พอการรักษาช่วยให้คนไข้ดีขึ้นตามที่ตั้งใจไว้ จากที่ป่วย กินอะไรไม่ค่อยได้ กลับมากินได้อร่อยอีกครั้ง ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของคุณหมอแล้ว
สู้กับความกลัวของคนไข้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป
“ไม่ว่าจะเป็นหมอด้านไหน แต่ละด้านก็จะมีความยากในตัวเองค่ะ อย่างหมอฟันส่วนใหญ่ก็จะต้องสู้กับความกลัวของคนไข้เป็นพิเศษ”
หมอเมย์อธิบายว่า เป็นปกติที่คนไข้จะกลัวหรือมีความกังวล เพราะไหนจะเสียงเครื่องมือ ไหนจะต้องนำอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาในปาก หายใจลำบาก อ้าปากนาน ๆ รู้สึกเกร็งไปหมด
“เคยมีคนไข้บอกว่า คลอดลูกยังไม่น่ากลัวเท่าทำฟันคนไข้ที่กลัว จะมีทั้งคนที่บอกเลยว่ากลัวมากนะ และคนที่ไม่บอกอะไร แต่จะมีท่าทางบางอย่าง ที่จากประสบการณ์ของหมอจะรู้ได้ว่า คนไข้คนนี้กลัว หมอก็จะบอกก่อนว่า ถ้ากลัว รู้สึกกังวล ไม่ต้องเกรงใจหมอ ไม่ต้องกดดันตัวเอง เพราะความกลัวเป็นเรื่องปกติ มีอะไรระหว่างทำให้ยกมือบอกกันได้เลย”
หมอเมย์จะใช้วิธีตรวจดูก่อนแล้วมาคุยกับคนไข้ ว่าต้องทำอะไรบ้างมากน้อยขนาดไหน จากนั้นจะค่อย ๆ เริ่มทำทีละนิด หากวันนี้คนไข้ไหวให้ทำได้แค่ส่วนเดียว ไม่สามารถทำทั้งปาก ก็หยุดแล้วครั้งหน้ามาใหม่
“ถามว่ามาครั้งต่อไปความกลัวยังมีไหม ก็ยังมีค่ะ แต่คนไข้จะรู้แล้วว่าครั้งแรกทำอะไรไป และมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แล้วก็จะสามารถทำได้จนจบเคส”
คุณหมอบอกว่า ทุกครั้งที่ทำงาน หมอเองก็ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะไม่อยากให้คนไข้นอนอ้าปากทำฟันนาน ๆ จึงต้องวางแผนและตั้งใจเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีตั้งแต่หลังทำไปจนถึงระยะยาว ให้สมกับที่คนไข้ไว้ใจเลือกมารักษา
ทันตกรรมโรคเหงือก ต้องทำให้เต็มที่ เพื่อผลลัพธ์ที่คุ้มค่า
งานทันตกรรมโรคเหงือก เป็นงานที่ต้องใช้ความเข้าใจ และความร่วมมือจากคนไข้อย่างมาก คุณหมอเล่าเคสที่ประทับใจให้ฟัง
“เคยเจอเคสมีอาการเหงือกบวม แสบร้อนในปาก ฟันโยกหลายซี่ เป็นหนองหลายรอบ รักษามาหลายที่ยังไม่หาย จึงกังวลใจมากเพราะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร หลังจากคุณหมอตรวจเอกซเรย์ดูฟิล์ม บอกขั้นตอนการรักษาว่าต้องทำอะไรบ้าง และต้องมาหาหมอกี่ครั้ง อธิบายว่าคาดหวังจะเห็นผลอย่างไรในแต่ละขั้นตอน”
“พอผลการรักษาออกมาเห็นผลดี ฟันที่โยกหาย ไม่มีหนองแล้ว ก็แฮปปี้กันทุกฝ่ายค่ะ คนไข้เองก็ได้รับรู้ว่าหมอทำงานเต็มที่ บางท่านก็พาคุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้องมาให้หมอดูแลด้วย บอกว่าหมอทำงานละเอียดมาก รู้สึกยินดีมาก ๆ ค่ะ เพราะโรคในช่องปาก ตรวจพบแต่เนิ่น ๆ ก่อนโรคลุกลามจะเป็นผลดีต่อคนไข้ที่สุด”
วันว่างคือการดูแลตัวเอง เพื่อที่จะได้กลับมาดูแลคนไข้ได้
“งานอดิเรกของหมอ คือ เน้นการดูแลตัวเองให้ทำงานต่อได้ค่ะ”
คุณหมอตอบเมื่อถามถึงกิจกรรมยามว่าง พร้อมอธิบายว่า เนื่องจากทันตแพทย์ด้านโรคเหงือกนั้นมีน้อย ลาหยุดนิดหน่อย คนไข้ก็ต้องรอนานหลายสัปดาห์ จึงพยายามดูแลตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ
“ส่วนใหญ่ก็มักจะพักผ่อน เล่นพิลาทิส และอ่านหนังสืออัปเดตเรื่องราวใหม่ ๆ ไม่ลืมที่จะออกไปหาร้านอาหารอร่อย ๆ ทาน เท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวย เท่านี้ก็มีความสุขแล้วค่ะ”
ก่อนจบการพูดคุย หมอเมย์ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลช่องปากที่หลายคนอาจยังมองข้าม
“ในช่องปากแต่ละคนไม่เหมือนกัน การดูแลของแต่ละคนเลยมีเทคนิคแตกต่างกันออกไป การใช้งาน อาหารที่ชอบทาน ก็มีผลให้ฟันสึก ฟันร้าวโดยไม่รู้ตัว ฟันที่เคี้ยวได้ไม่ดี อาหารไม่ละเอียด ก็จะมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้”
“ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะสามารถสรุปได้ก็ต่อเมื่อมาตรวจว่ามีปัญหามากน้อยแค่ไหนค่ะ สิ่งสำคัญคือการใส่ใจดูแลช่องปาก หมั่นมาพบทันตแพทย์เพื่อวางแผนการดูแลช่องปากอย่างถูกต้องเหมาะสมในแต่ละคน”
การรับมือกับความกลัวคือความเข้าใจ ทุกอย่างต้องใช้เวลา ค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ เปิดใจ ทันตแพทย์มีส่วนช่วยให้คนไข้ข้ามผ่านจุดนี้ไปได้ เพื่อผลการรักษาที่น่าพอใจที่สุด