“30 ปี ในสายงานรักษาผู้มีบุตรยาก
ผมมีความสุข ประทับใจทุกครั้งที่พ่อแม่พาลูกมาพบเจอ”
“เป็นความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้
ที่แม้จะรักษาสำเร็จไปนานแล้ว ก็ยังอัปเดตข่าวคราวกันเสมอ”
เด็กหลอดแก้ว เป็นวิธีที่คู่สมรสที่มีบุตรยากหลายคู่ให้ความสนใจ แต่กว่าจะได้ตัวอ่อน มาอยู่ในครรภ์และพัฒนาไปเป็นทารกนั้นไม่ง่าย และไม่ใช่ทุกคู่ที่ทำสำเร็จ MedPark Stories วันนี้ เราแวะมาชมบรรยากาศภายใน MedPark IVF ชั้น 20 พูดคุยเรื่องการรักษาผู้มีบุตรยากกับ นาวาอากาศโท นพ.วิวรรธน์ ชินพิลาศ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลเมดพาร์ค
นท. นพ.วิวรรธน์ รับบทบาทเป็นทั้งแพทย์และนักบริหารไปพร้อม ๆ กัน คุณหมอเรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเลือกเรียนต่อเฉพาะทาง สาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา หลังจากเรียนจบแล้ว ได้เริ่มต้นรับราชการเป็น สูตินรีแพทย์ ที่โรงพยาบาลภูมิพล ตั้งแต่ ค.ศ. 1987 - 1992 จนกระทั่ง ปี 1993 จึงหันมาทำธุรกิจส่วนตัว ให้คำปรึกษา และรักษาผู้มีบุตรยาก ทั้งยังเป็นผู้บริหารศูนย์การแพทย์ และคลินิกชั้นนำหลายแห่งด้วยกัน
คู่สมรสยุคใหม่ แต่งงานช้า ไม่วางแผนครอบครัว
จากประสบการณ์ของคุณหมอ ในการให้คำปรึกษาและรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยากมากว่า 30 ปี เราเชื่อว่าหนูน้อยที่คุณหมอเคย ‘ทำให้’ อาจแต่งงานและกำลังจะมีทายาทอีกรุ่นแล้วก็เป็นได้ เราจึงเปิดประเด็นพูดคุยกันสบาย ๆ ด้วยเรื่องของ ไลฟ์สไตล์คู่แต่งงานยุคใหม่
คุณหมอได้ให้ข้อสังเกตว่า คู่สมรสปัจจุบัน มักแต่งงานตอนอายุเริ่มมากแล้ว หรือคู่ที่แต่งงานตอนวัยหนุ่มสาวส่วนหนึ่งก็ยังไม่รีบมีลูกกัน
“การที่คนไข้ โดยเฉพาะฝ่ายหญิง มีอายุมากกว่า 36 ปี เป็นโจทย์ที่พบได้บ่อยที่สุดในปัจจุบันครับ เนื่องจากคนไข้แต่งงานช้า แต่งงานแล้วยังไม่ได้มีบุตรในทันที รอจนกระทั่งอายุเกิน 36 ปีไปแล้ว จึงมาปรึกษาแพทย์ ซึ่งการสู้กับธรรมชาติเป็นเรื่องยากลำบากนะครับ พอผู้หญิงอายุมากขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ คุณภาพของไข่ลดลง ปริมาณไข่ในรังไข่ลดลง ทำให้โอกาสตั้งครรภ์น้อยลงไปด้วย การวางแผนมีบุตรเอาไว้ล่วงหน้าจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้”
“ยกตัวอย่าง คนไข้มาทำเด็กหลอดแก้วตอนอายุ 36 ปี แล้วปล่อยท้องลูกคนแรก ด้วยวิธีธรรมชาติก่อน พอคลอดตอนอายุ 37 ปี เลี้ยงลูกไปจนอายุ 38 อยากมีลูกคนที่สอง ก็นำตัวอ่อน ที่ทำเด็กหลอดแก้วไว้ในตอนแรก มาย้ายกลับเข้าโพรงมดลูก พออายุ 40 ปี อยากมีลูกคนที่ 3 ก็เอาตัวอ่อนที่ฝากไว้กลับมาทำแบบเดิมอีก ซึ่งตัวอ่อนนั้นสามารถแช่แข็งไว้ได้นาน 3 ปี 5 ปี 7 ปีโดยไม่ได้มีปัญหาใด ๆ”
จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีด้านการเจริญพันธุ์ มีบทบาทสำคัญในการช่วยคู่สมรสให้มีบุตรได้ตามปรารถนา แต่ก็ต้องการคนที่มีความเข้าใจ และมีความคิดแน่วแน่ไว้แล้วว่า ครอบครัวของตนเองนั้น ตั้งใจจะมีบุตรกี่คน แต่ละคนอายุห่างกันกี่ปี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนที่เห็นความสำคัญในการวางแผนมีบุตร และเข้าใจเรื่องเหล่านี้จริง ๆ ก็ยังมีไม่มากนัก
โรคทางนรีเวช อีกหนึ่งสาเหตุมีลูกยาก
คู่สมรสอายุน้อย มักคิดว่า ‘ท้องไม่ใช่เรื่องยาก’ หากต้องการมีเจ้าตัวน้อยเมื่อไรก็แค่หยุดคุมกำเนิดเมื่อนั้น แต่อันที่จริงพวกเขาต้องรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ด้วย คุณแม่ท้องหลายราย ท้องแล้วแท้ง ท้องแล้วต้องยุติการตั้งครรภ์ หรือหลายรายพยายามมาหลายปีก็ไม่ท้องสักที จนมาพบแพทย์ถึงรู้สาเหตุ ว่าเกิดจาก โรคทางนรีเวช
“โรคทางนรีเวช ที่หมอพบบ่อยก็คือ โรคเยื่อบุโพรงลูกเจริญผิดที่ ถ้าเกิดที่รังไข่ก็จะกลายเป็นช็อกโกแลตซีสต์ ถ้าเกิดที่มดลูกก็จะเรียกว่า Adenomyosis ถ้าเกิดที่เยื่อบุอุ้งเชิงกรานก็เรียกว่า Pelvic Endometriosis หรือพังผืดในอุ้งเชิงกราน รวมไปถึง โรคเกี่ยวกับเนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งถ้าเนื้องอกนั้นมีขนาดใหญ่ หรืออยู่ในตำแหน่งที่กดทับเยื่อบุโพรงมดลูก ก็จะทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้เช่นกันครับ”
กรณีที่แพทย์รักษาภาวะเหล่านี้เสร็จเรียบร้อยดีแล้ว หากคนไข้อายุยังไม่มาก รังไข่ยังสามารถทำงานได้ดีอยู่ คุณหมอจะแนะนำให้คนไข้ลองมีบุตรเองตามธรรมชาติก่อน ซึ่งหลายคู่ก็ประสบความสำเร็จสมดังปรารถนา โดยไม่ต้องพึ่งพาการทำเด็กหลอดแก้วเสมอไป
คนไข้ต้องเข้าใจและยอมรับปัญหา
หากเทียบกันระหว่าง ปัญหามีบุตรยาก ที่เกิดจากโรคทางนรีเวช กับ อายุที่มากขึ้น พบว่า ‘อายุ’ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุด คนไข้บางคนทำทุกวิถีทาง ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์หลายครั้งแล้วไม่สำเร็จ ก็ยังคงมุ่งมั่น พยายามต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งคุณหมอเองก็อยากให้คนไข้ ‘ยอมรับในความไม่สำเร็จ’ นั้นให้ได้
“หน้าที่ของแพทย์ ต้องค้นหาว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้เขาไม่สำเร็จ ทั้งที่เขาพยายามมาแล้วหลายครั้ง ถ้าสาเหตุนั้นไม่สามารถแก้ไขได้จริง ๆ คนไข้ก็ควรยอมรับให้ได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น มีเนื้องอกของตัวมดลูก ชนิดที่เป็นทั่วทั้งมดลูกจนกระทั่งตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวกับเยื่อบุโพรงมดลูกได้ หรือกรณีคนไข้อายุ 48 ปี ทำ IVF มา 10 หนแล้วยังอยากจะทำเด็กหลอดแก้วโดยใช้ไข่ของตัวเองอีก เราก็ต้องยืนยันว่าโอกาสประสบความสำเร็จด้วยวิธีนี้...แทบจะไม่มีเลย”
คุณหมอค่อนข้างเป็นห่วงคู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี และพยายามเน้นย้ำว่า ไม่ควรปล่อยเวลาให้ยืดยาวออกไป รีบมาปรึกษา วางแผนมีบุตรตั้งแต่เนิ่น ๆ ไว้ดีที่สุด
ทำงานกันเป็นทีม ทั้งแพทย์ และคนไข้
การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัย แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ที่มีความรู้มีประสบการณ์ มีความชำนาญ ในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี
“การค้นหา สาเหตุ ปัจจัย ที่ส่งผลต่อการมีบุตรยากของคนไข้แต่ละรายนั้น แพทย์ต้องใช้ ความละเอียดรอบคอบอย่างมากครับ ในขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาจะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความ ‘นิ่ง’ ในการทำหัตถการ เช่น เก็บไข่ นำไข่ออกจากรังไข่ การวางตัวอ่อน และมีเทคนิคที่จะไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือการกระทบกระเทือนต่อรังไข่ หรือตัวมดลูก หรือเยื่อบุโพรงมดลูก ทักษะเหล่านี้ จะทำได้ก็ต้องมีประสบการณ์มาพอสมควร”
“และความสำเร็จในการรักษาคนไข้ที่มีบุตรยาก ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นโดยแพทย์เพียงคนเดียว จะต้องมีพยาบาล นักวิทยาศาสตร์ ที่ทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย ขาดไม่ได้เลยก็คือ คนไข้ ที่ต้องเข้าใจปัญหา เข้าใจแนวทางการรักษา แล้วก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีครับ”
แม้ต้องทำงานภายใต้ความคาดหวังสูงของคนไข้ แต่คุณหมอไม่กังวลมากนัก เพราะทีมแพทย์จะทำทุกขั้นตอนอย่างรอบคอบ แผนการรักษาต่าง ๆ จะถูกอธิบายให้คนไข้ฟังอย่างชัดเจน ไม่ให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดตกหล่นไป ในขณะเดียวกัน เมื่อเริ่มการรักษาแล้วจะมีการอัปเดตข้อมูลให้คนไข้ทราบตลอดเวลา ก็จะช่วยลดความวิตกกังวลของคนไข้ไปได้
“สำหรับเครื่องมือ เทคโนโลยี ที่เรานำมาใช้ก็เรียกได้ว่าเป็น ‘state of the art’ คือเป็นอุปกรณ์ ที่ได้มาตรฐานระดับสากล สิ่งที่โดดเด่นเห็นได้ชัดเลยก็คือ บรรยากาศ ถ้ามองจากชั้น 20 จะเห็นวิวโดยรอบที่สวยงาม เห็นสวนเบญจกิตติ คุ้งบางกระเจ้า อากาศโดยรอบศูนย์มีคุณภาพดี รู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกถึงความสะอาดสะอ้าน คนไข้เกิดความสบายใจ มีความสุข ก็ถือเป็นสิ่งหนึ่ง ที่ช่วยเสริมให้การรักษาประสบความสำเร็จได้เช่นกัน”
ความสุขของหมอ...ไม่ใช่แค่ตั้งครรภ์ได้
ความสุขของการเป็นแพทย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ไม่เพียงแค่ดูแลคู่สมรสจนกระทั่งมีบุตรสมความปรารถนา แต่เป็นการได้เห็นครอบครัวเหล่านั้นมีลูกที่เติบโตขึ้น ได้รับการเลี้ยงดู ให้การศึกษา เข้าโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัย เรียบจบแล้วก็มีอาชีพการงานทำ
“ผมอยู่ในสายงานนี้มาถึง 30 ปี ผมอาจจะโชคดี กว่าคุณหมอที่อายุน้อยกว่าในแง่ที่ว่า เด็กหลอดแก้วคนนั้น ๆ ปัจจุบันเขาอายุเกือบ 30 ปีแล้ว เราจะมีความสุข ประทับใจ ทุกครั้งที่พ่อแม่พาลูก ๆ มาพบเจอกัน อย่างวันก่อนก็มีคนไข้เข้ามาทัก คุณหมอครับ...จำผมได้ไหม ผมเป็นคนไข้เมื่อ 27 ปีแล้ว นี่ลูกสาวอายุ 26 ปี ที่หมอเป็นคนทำให้ ตอนนี้เรียบจบมหาวิทยาลัย ทำงานแล้วนะ”
“หรือเวลาไปร่วมงานต่าง ๆ เจอคนไข้พาลูกมาสวัสดี คุณหมอคะนี่ลูกสาวที่คุณหมอทำให้ เรียนโรงเรียนราชินีบน จบ ม.ปลาย ตอนนี้เข้าอักษรศาสตร์จุฬาฯ ค่ะ เขาก็มาแสดงความขอบคุณ แล้วก็เอาขนมมาฝาก ก็รู้สึกตื้นตันใจครับ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ ที่แม้จะรักษาสำเร็จไปตั้งเกือบ 20 ปีแล้ว ก็ยังคงอัปเดตข่าวคราวให้ฟังกันเสมอ”
ท่ามกลางแนวคิดของคนเจเนอเรชั่นใหม่ ที่มีความเชื่อและความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ่อ แม่ ลูก แตกต่างกันออกไป คุณหมอก็ยังหวังเล็ก ๆ ว่าผู้ใหญ่จะร่วมด้วยช่วยกัน สร้างสรรค์สังคมที่ดี เพื่อต้อนรับเด็ก ๆ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต
“อยากให้ทุกคนมีทัศนคติเรื่องของการมีลูกไปในเชิงบวกครับ เพราะเดี๋ยวนี้ถามหลาย ๆ คน ก็จะบอกว่า ไม่ต้องการมีลูก เพราะไม่อยากให้เกิดมาในสภาพสังคมที่มีความขัดแย้ง มีความกดดัน หรือว่ากลัวลูกจะเจอทุกข์มากกว่าสุข แต่ผมอยากให้พวกเขามองโลกในอีกด้านหนึ่งมากกว่า ถ้าพวกเราเห็นว่ามีปัญหา ก็ต้องมาช่วยกันแก้ไขครับ เพื่อให้เด็ก ๆ ที่จะเกิดมาในวันข้างหน้าได้เจอโลกที่ดีงามกว่าเดิม ดีงามกว่ารุ่นเรา”