หมอกระดูกที่รักษาผ่านกล้อง จากแผลเล็ก ๆ สู่คุณภาพชีวิตที่ได้กลับคืน
“ความท้าทายของหมอผ่าตัดส่องกล้อง คือเทคโนโลยีที่พัฒนาไว แพทย์ก็ต้องตามให้ทัน”
หมอออร์โธปิดิกส์ เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความสำคัญอีกอาชีพหนึ่ง เพราะเป็นหมอที่ต้องดูแลอวัยวะที่เป็นเหมือนโครงสร้างและเสาหลักของร่างกายอย่างกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบ ๆ กระดูกด้วย
วันนี้ MedPark Stories มีโอกาสได้พูดคุยกับนายแพทย์สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องข้อ หนึ่งในการผ่าตัดรักษาที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่นิยม
หมอกระดูก มักมาจากความชอบในกลไก
จากประสบการณ์การพูดคุยกับหมอกระดูกหลายท่าน เมื่อถามถึงเหตุผลที่เลือกมาเป็นเรียนด้านออร์โธปิดิกส์ ส่วนใหญ่มักมีเหตุผลคล้าย ๆ กัน คือชอบงานที่เกี่ยวกับโครงสร้าง และงานช่าง ซึ่งนายแพทย์สรวุฒิก็มีเหตุผลคล้ายกัน
“ส่วนตัวผมเป็นคนชอบสิ่งที่เป็นกลไก อยู่บ้านก็ชอบซ่อมนั่นซ่อมนี่ จึงคิดว่าออร์โธปิดิกส์ดูจะเข้าทาง พอเรียนจบมาแล้วต้องเลือกสาขาย่อย สาขาที่เลือกเมื่อก่อนจะยังไม่ได้ใช้คำว่าเวชศาสตร์การกีฬาครับ แต่จะเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งในตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เป็นสาขาใหม่ที่เริ่มเข้ามาพัฒนาวงการแพทย์ เลยทำให้อยากเรียนรู้เพิ่มขึ้นครับ”
แน่นอนว่าการเลือกมาเรียนสาขาที่ยังใหม่ในประเทศไทย ทำให้ต้องพยายามในการฝึกฝน เพื่อเพิ่มความชำนาญความคุ้นเคย และเพราะเป็นสาขาที่ยังมีบุคลากรน้อยมาก ๆ จึงต้องขวนขวายในการหาเวิร์กช้อป หาคนที่ชำนาญจากต่างประเทศที่จะสอนเพิ่มเติมได้
เคยอยากเป็นหมอมือ เพราะชอบโครงสร้างเล็ก ๆ มากกว่า
ช่วงแรก ๆ นอกจากสาขาผ่าตัดผ่านกล้อง อีกหนึ่งความสนใจของนายแพทย์สรวุฒิคือสาขาเฉพาะทางด้านมือ ซึ่งคุณหมอเล่าว่านักเรียนแพทย์หรือแพทย์จบใหม่ ๆ มักจะมีบุคคลต้นแบบ หรือ Role Model อยู่ อาจเป็นอาจารย์แพทย์เก่ง ๆ ที่เป็นไอดอล สำหรับคุณหมอคืออาจารย์ที่เฉพาะทางด้านมือ เพราะมีบุคลิก มีองค์ความรู้ ท่าทางการทำงานต่าง ๆ ที่ดูน่าสนใจ
“พอได้มาทำงานจริง ๆ ก็พบว่าตัวเองชอบและถนัดกับการส่องกล้องข้อต่อครับ ซึ่งที่ทำอยู่เป็นข้อไหล่ ข้อเข่าที่ทำจนชำนาญมากขึ้น”
เมื่อถามว่ากว่าจะทำตรงนี้จนชำนาญ มีสิ่งที่ยากหรือมีอุปสรรคอะไรบ้างไหม คุณหมอก็ยอมรับ ว่ามีแน่นอน
“เพราะเป็นสาขาใหม่ และเป็นสาขาที่กำลังเติบโตในขณะนั้น จริงอยู่ว่าความรู้ทางการแพทย์ ด้านกายวิภาคมันอยู่ตัวแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่นิ่งคือเทคโนโลยีครับ ซึ่งก็คือการส่องกล้อง พอสาขาเริ่มใหญ่ มีบุคลากรเข้ามาทำด้านนี้เยอะขึ้น เกิดการพัฒนา อัปเกรดต่าง ๆ วิธีการทำ วิธีใช้งานอุปกรณ์ย่อมปรับเปลี่ยนปรับปรุงตลอด เราจะทำแบบเดิมไม่ได้ ก็ต้องเรียนรู้ใหม่เรื่อย ๆ ซึ่งแพทย์ทุกคนจำเป็นต้องตามให้ทันครับ”
ตามองจอ สองมือทำ หมอส่องกล้องฝึกนานไหม
หลายคนคงสงสัย ว่าศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดส่องกล้อง หรือผ่าตัดผ่านกล้องนั้น ตาต้องมองจอมอนิเตอร์ แต่มือทำหัตถการอยู่กับร่างกายผู้ป่วย มีสับสน หลงทิศทางบ้างไหม ใช้เวลานานไหมกว่าจะชิน
“แน่นอนครับ ทุกคนต้องไปเรียนรู้กันทั้งนั้น ใช้เวลาฝึกสักระยะให้ชิน จะทำคล่องได้ช้าเร็วก็ขึ้นอยู่กับหมอแต่ละคน ส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครทำปุ๊บแล้วถูกทิศทางกันแต่แรกครับ”
ในแง่ของทีมบุคลากรในห้องผ่าตัดเอง คุณหมออธิบายว่า ในการผ่าตัดเฉพาะทาง บ้างก็จะใช้อุปกรณ์ที่เพิ่มเข้ามาจากการผ่าตัดทั่วไป นางพยาบาลในห้องผ่าตัดก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ทำงานได้สะดวก หากมีความรู้ความชำนาญก็จะช่วยให้การผ่าตัดราบรื่นมากขึ้น
“ในปัจจุบัน เคสผ่าข้อส่วนใหญ่จะใช้วิธีผ่าตัดผ่านกล้องทั้งนั้น อาจมีบางเคสที่ยากจริง ๆ ที่ต้องผ่าตัดเปิดแผล แต่ก็น้อยมาก และการผ่าตัดผ่านกล้องก็เป็นที่นิยม คนไข้ส่วนใหญ่ก็จะถามหาวิธีนี้กัน เพราะแผลเล็ก ฟื้นตัวไว ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำหัตถการ ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่จึงต้องผ่าตัดด้วยวิธีนี้ให้ได้ และจะพิจารณาผ่าตัดผ่านกล้องก่อน แต่หากเจอบางเคสที่ยาก ทำผ่านกล้องได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าไร แพทย์ก็จะบอกคนไข้ว่าผลอาจไม่ดีเท่าการผ่าตัดปกตินะ”
ถึงอย่างไร การผ่าตัดผ่านกล้อง หรือการผ่าตัดส่องกล้อง ยังเป็นวิธีการผ่าตัดที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะมีอุปกรณ์ยิบย่อยเยอะกว่า เครื่องมือชิ้นเล็กชิ้นน้อยเยอะ แต่ก็แลกมากับขนาดแผลที่เล็กลง ภาวะแทรกซ้อนที่น้อยลง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติไวนั่นเอง ซึ่งในแง่การแพทย์ ถือว่าคุ้มค่า
เป็นหมอออร์โธ ดูแลตัวเองอย่างไร
ในเวลาว่าง แน่นอนว่านอกจากงานแพทย์ที่ยุ่งแล้ว คุณหมอสรวุฒิจะพยายามออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ซึ่งก็เลือกสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ อย่างการวิ่งและปั่นจักรยาน
“ผมจะหาเวลาออกกำลังกายอย่างน้อยสักสามวันต่ออาทิตย์ครับ สถานที่ก็เลือกเอาที่สะดวก ส่วนใหญ่จะเป็นที่สวมลุมฯ ครับ”
วิ่ง กับ ปั่นจักรยาน แนะนำอย่างไหนดี
“ทั้งสองอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ จักรยานเป็นการออกกำลังกายที่ปลอดภัยต่อข้อต่อต่าง ๆ ทำได้ง่าย แต่ก็ต้องมีอุปกรณ์ คือจักรยาน ส่วนวิ่งนั้นเป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ แต่ก็เกิดแรงกระทำที่ข้อ คนที่มีปัญหาเรื่องข้อ หรืออายุเยอะ ๆ ก็อาจจะทำไม่ได้ จึงต้องเลือกให้เหมาะกับตัวเองครับ”
นอกเหนือจากการออกกำลังกาย คุณหมอยังแชร์ให้ฟังว่า ชอบไปเดินพิพิธภัณฑ์ อาร์ตแกลอรี่ ดูงานศิลป์ วิเคราะห์งานศิลป์ต่าง ๆ โดยเฉพาะงานที่เป็นนามธรรม ช่วยให้ได้จินตนาการ ได้พยายามคิดต่อว่าศิลปินต้องการสื่อสารอะไร
“ผมว่ามันยากนะครับ เหมือนเราเอาตัวเข้าไปเรียนรู้ศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่ต่างจากสายอาชีพของตัวเอง แล้วพยายามใช้ตรรกะของเราหาคำอธิบายความหมายของงานศิลป์ ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วตัวศิลปินอาจไม่ได้ทำอะไรเป็นเหตุเป็นผล หรือมีคำอธิบายอะไรเลย”
ทิ้งท้ายจากหมอกระดูก สิ่งที่คนออกกำลังกายมักทำพลาดกันเยอะ
นายแพทย์สรวุฒิให้ความเห็นว่า สิ่งที่คนออกกำลังกายมักทำพลาดบ่อย ๆ คือ การออกกำลังกายตาม YouTube ตามคลิปในอินเทอร์เน็ต ซึ่งแนะนำไว้ถูกแล้ว แต่คนที่ทำตามอาจทำไม่ถูก สรีระไม่ถูก พอทำท่าผิด ๆ ไปมาก ๆ เข้า ก็ก่อให้เกิดปัญหา บาดเจ็บ แทนที่จะดีขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น กลายเป็นปวดมากขึ้น
“ถ้าอยากออกกำลังกายจริงจัง ควรหาเทรนเนอร์ช่วยคุมและดูท่าทางครับ เพราะการเล่นท่าจริงจัง ถ้าทำท่าผิด จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี และหากมีเงื่อนไขทางสุขภาพ ร่างกายมีปัญหาอะไร ควรคุยกับแพทย์ ให้แพทย์เป็นคนแนะนำจะดีกว่า ในเบื้องต้นลองสังเกตตัวเอง หากออกกำลังกายไปแล้วปวด อาการปวดนั้นปกติไหม เพราะบางทีอาจเป็นการปวดเพราะทำท่าไม่ถูกก็ได้ จึงต้องระมัดระวังครับ”