หมอผ่าตัดเท้า ช่วยเพิ่มตัวเลือกทางการรักษา เพิ่มความหวังให้กับคนไข้
“เราสามารถซ่อมแซมและรักษาเท้าของคนไข้ ช่วยแก้ไขความพิการ ให้คนไข้กลับมาใช้งานเท้าได้”
เท้า คือหนึ่งในอวัยวะที่คนมักมองข้าม ใช้งานหนักเกินไป ไม่ค่อยทะนุถนอม จนวันหนึ่งเกิดปัญหาหรือความผิดปกติจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ถึงได้ตระหนักว่าเป็นอวัยวะสำคัญ และมีส่วนอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตที่ดี
MedPark Stories ในตอนนี้ จะชวนมาพูดคุยกับ นายแพทย์กฤษฎิ์ พฤกษะวัน ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านการผ่าตัดเท้าและข้อเท้า ที่จะมาแชร์แนวคิดและประสบการณ์การตัดสินใจเป็นหมอเท้า ในวันที่มีแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ เพียง 5 คนในประเทศไทย
แพทย์เฉพาะทางด้านเท้า บุคลากรยังน้อย แต่ช่วยคนได้มาก
นายแพทย์กฤษฎิ์เล่าว่า ในตอนนั้น แพทย์ออร์โธปีดิกส์ที่จบเฉพาะทางด้านเท้าทั้งประเทศมีอยู่แค่ 5 คน จึงมองว่าน่าสนใจ อยากเรียนในสาขาที่มีคนน้อย เพื่อมาเติมบุคลากรเฉพาะทางของประเทศ
“แน่นอนว่าเมื่อมีหมอเฉพาะทางด้านนี้น้อย หมอเท้าจึงขาดแคลน ทั้ง ๆ ที่ในแผนกออร์โธ จะมีคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องเท้าเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งหมอเฉพาะทางจะช่วยรักษาได้ตรงจุด และให้ผลการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้ที่สุดได้ครับ”
“ในคนที่มีปัญหาเรื่องเท้า หากเป็นมาก ๆ เช่น เป็นโรคเท้าที่ซับซ้อน ประสบอุบัติเหตุรุนแรง มีกระดูกหักรุนแรง การรักษาในตอนนั้นจะเป็นการตัดเท้าครับ แต่หากมาพบศัลยแพทย์กระดูกเฉพาะทางด้านเท้าจริง ๆ ในบางกรณีเราจะสามารถซ่อมแซมและรักษาเท้าของคนไข้ไว้ได้ ช่วยแก้ไขความพิการ ให้คนไข้กลับมาใช้งานเท้าได้ เดินได้ดีขึ้น สามารถรักษาคุณภาพชีวิตของคนไข้ไว้ได้ นี่คือประโยชน์ที่เห็นได้ชัดครับ”
เมื่อสามารถช่วยคนไข้ที่อนาคตของเขาอาจไม่มีเท้า หรือต้องใส่ขาเทียมไปตลอดชีวิต ให้ยังคงมีเท้า มีขา มีอวัยวะอยู่ครบ มอบความหวังให้กับพวกเขาได้ สิ่งนี้จึงทำให้นายแพทย์กฤษฎิ์แน่ใจว่ามาถูกทาง
บุกเบิกการผ่าตัดเท้า เป็นงานท้าทาย
“ช่วงแรก ๆ ของการทำงาน ก็จะมีปัญหาอยู่บ้าง ยกตัวอย่างโรคเท้าแบน ซึ่งในเวลานั้น การรักษาด้วยการผ่าตัดมีค่อนข้างน้อย มีความเข้าใจผิดว่า ผ่าตัดเท้าแบนแล้ว อาจจะเดินไม่ได้ ผลการรักษาไม่ดี เราจึงต้องสร้างความเข้าใจ และความมั่นใจว่าแพทย์เฉพาะทางด้านนี้จะเข้ามาช่วยรักษา ในภาวะหรือความผิดปกติที่เมื่อก่อนไม่มีการรักษา หรือรักษาไม่ได้”
ในการทำงานของแพทย์ออร์โธฯ ในโรงพยาบาล แต่ก่อนจะมีการวางแผนการรักษาแบบหนึ่ง แต่เมื่อมีแพทย์เฉพาะทางด้านเท้า การผ่าตัดรักษาจะเป็นอีกแบบ ซึ่งแพทย์ต้องมาทำความเข้าใจร่วมกัน เช่น
“เมื่อก่อน ในเคสกระดูกข้อเท้าหัก เราอาจให้ความสำคัญเฉพาะการยึดกระดูกด้วยการใส่เหล็ก ใส่น็อตยึด แต่ในปัจจุบัน นอกจากรักษากระดูกหักแล้ว แพทย์เฉพาะทางจะตรวจหาเส้นเอ็นข้อเท้าที่อาจมีการฉีกขาด ที่สามารถเย็บซ่อม ใช้อุปกรณ์ใหม่ ๆ เข้ามาช่วย มีการใส่เอ็นเทียม ซึ่งจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการยึดกระดูกอย่างเดียว หลังจากผ่าตัด คนไข้สามารถใช้งานเท้าได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุดครับ”
นายแพทย์กฤษฎิ์เล่าว่า เดิมที โรคซับซ้อน เช่น เท้าผิดรูป นิ้วเท้าเก เท้าแบน ข้อเท้าผิดรูป เท้าโก่ง จะไม่มีทางรักษาด้วยการผ่าตัด และคนไข้ต้องใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งนี้ไปตลอด เพราะเมื่อก่อนมีความคิดว่า การผ่าตัดอาจให้ผลได้ไม่ดี จึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องรักษา แต่พอมีองค์ความรู้เข้ามา มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า จึงพบว่าสามารถผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของเท้า เท้าผิดรูปได้ และช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแน่ ๆ
ทักษะที่ต้องเรียนรู้และต่อยอดไปเรื่อย ๆ และงานอดิเรกที่ต้องใช้เท้า
งานออร์โธปิดิกส์ด้านเท้า แม้จะดูมีพื้นที่รับผิดชอบน้อย แต่ก็เต็มไปด้วยรายละเอียด ข้อต่อเล็ก ๆ เส้นเอ็น แพทย์เฉพาะทางด้านนี้จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และสั่งสมความชำนาญ เมื่อถามว่าใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเคสต่าง ๆ นานไหม กว่าจะรู้สึกว่าเริ่มคุ้นชิน คล่องแคล่ว
“น่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีครับ ถึงจะเริ่มอยู่ตัว เพราะนอกจากองค์ความรู้เฉพาะทางแล้ว สิ่งที่ผมยังต้องเรียนรู้เพิ่มเติมด้วย คือ การผ่าตัด ที่มีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ดีขึ้น ก็ต้องมาฝึกฝนวิธีการ เทคนิคการผ่าตัดใหม่ ๆ เช่น การผ่าตัดแผลเล็ก การส่องกล้อง ที่เราก็ต้องนำมาประยุกต์กับการผ่าตัดข้อเท้า ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นครับ”
ในส่วนของงานอดิเรก นายแพทย์กฤษฎิ์เล่าว่า ปกติจะมีกิจกรรมที่ทำกับครอบครัว คือการเล่นฟุตบอล ไม่ก็พาลูกซ้อมบอล ซึ่งคุณหมอเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่ตอนอายุ 7 ขวบ เคยลงทีมแข่งระดับโรงเรียน ระดับมหาวิทยาลัยบ้าง ซึ่งปัจจุบันอาจไม่ได้เล่นจริงจังแล้ว แต่ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกันกับลูก ทั้งสร้างเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว และเป็นเหมือนการใช้เวลาว่างที่ช่วยหย่อนใจจากงานของแพทย์ได้ด้วย
ทิ้งท้ายจากหมอเท้า
“แม้เท้าจะเป็นอวัยวะที่อยู่ต่ำ และหลายคนมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญ แต่ความจริง เท้านั้นสำคัญมากครับ เพราะหากเกิดความผิดปกติ ประสบอุบัติเหตุ ก็อาจทำให้เกิดความพิการ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก ซึ่งโรคเท้าหลายโรคหากมารักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้เลย”
บางครั้ง อุบัติเหตุเล็กน้อย อาจนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ เช่น ข้อเท้าพลิกบ่อย ก่อให้เกิดข้อเท้าหลวม หากรีบรักษา เช่น ใส่เฝือก ทำกายภาพบำบัด จะสามารถกลับมาเป็นปกติ เล่นกีฬา ทำกิจกรรมได้ตามปกติ แต่ถ้าหากปล่อยไว้นานจนข้อเท้าหลวมกลายเป็นข้อเท้าเสื่อม การรักษาจะยุ่งยากซับซ้อนขึ้น ต้องผ่าตัด คุณภาพชีวิตของคนไข้ก็จะลดลง อาจไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ 100% ได้
“การปล่อยให้ข้อเท้าเสื่อม ถามว่ารักษาได้ไหม ตอบว่าได้ครับ แพทย์เฉพาะทางด้านเท้าสามารถผ่าตัดและแก้ไขให้คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ แต่การรักษาตั้งแต่ช่วงที่อาการยังไม่รุนแรง ความสมบูรณ์ในการกลับไปทำกิจกรรมต่าง ๆ จะมีมากกว่า จึงไม่อยากให้ทุกคนละเลยสุขภาพเท้าครับ”