Dr Taweesak   Heart Valve Repair 2

ซ่อมลิ้นหัวใจ รักษาโรคลิ้นหัวใจรั่ว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีระยะยาว

ความมหัศจรรย์ของหัวใจ เป็นสิ่งท้าทายความสามารถของศัลยแพทย์หัวใจมาก ๆ ผมทุ่มเททำความเข้าใจหน้าที่ การทำงานของอวัยวะทุกส่วนในหัวใจอย่างหนัก เพื่อรักษาและฟื้นคืนความมหัศจรรย์กลับมายังหัวใจ

แชร์

ซ่อมลิ้นหัวใจ รักษาโรคลิ้นหัวใจรั่ว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีระยะยาว

“หัวใจ” อวัยวะสุดมหัศจรรย์ของมนุษย์ หัวใจประกอบด้วยกล้ามเนื้อชนิดพิเศษ ลิ้นหัวใจ และระบบไฟฟ้าหัวใจ ที่ทำงานได้แบบอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ถือเป็นอวัยวะชุดแรก ๆ และชุดสุดท้ายที่เริ่มทำงานตั้งแต่เรายังเป็นทารกอยู่ในครรภ์ และทำอย่างต่อเนื่องไม่หยุดพักไปจนเราหมดลมหายใจ หากคำนวณคร่าว ๆ ถ้ามนุษย์มีอายุขัย 70 ปี หัวใจจะสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกายอย่างแข็งขันมากกว่า 2.6 พันล้านครั้ง!!

Dr Taweesak   Heart Valve Repair 2

อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของหัวใจ คือ การทำงานเป็นทีมเวิร์ก ทุกส่วนสามารถซัพพอร์ตกันได้เป็นอย่างดี ถ้าความบกพร่องไม่หนักหนามาก หัวใจไม่มีทางหยุดทำงาน เพราะทุกส่วนยังสามารถรองรับและทำงานเสริมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ความมหัศจรรย์ของหัวใจเหล่านี้ เป็นสิ่งท้าทายความสามารถของศัลยแพทย์หัวใจมาก ๆ ผมทุ่มเททำความเข้าใจหน้าที่ และการทำงานของอวัยวะทุกส่วนในหัวใจอย่างหนัก เพื่อให้สามารถรักษาและฟื้นคืนความมหัศจรรย์กลับมายังหัวใจ ให้สามารถทำหน้าที่ได้ดีดังเดิม” 

นายแพทย์ทวีศักดิ์ โชติวัฒนพงษ์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ประจำศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเมดพาร์ค เล่าถึงความมหัศจรรย์ของหัวใจ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการ “ซ่อมลิ้นหัวใจ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือก รักษาโรคลิ้นหัวใจรั่ว สามารถติดตามได้ในบทความนี้

Dr Taweesak   Heart Valve Repair 3

ลิ้นหัวใจรั่ว ไม่รู้ตัว ไม่รักษา อาจเสี่ยงหัวใจวาย

โรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นภัยเงียบที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้โดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า อาการแรกเริ่มของโรคลิ้นหัวใจรั่ว จะไม่รุนแรงเท่ากับโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ แต่ความน่ากลัว คือ ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักจนกล้ามเนื้อหัวใจเหนื่อยล้า

เนื่องจาก หัวใจ มีลิ้นหัวใจทั้งหมด 4 ลิ้น คือ ลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral valve) ลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic valve) ลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid valve) และลิ้นหัวใจพัลโมนารี (Pulmonary valve) แต่ละส่วนมีหน้าที่หลักในการเปิดและปิดกั้นเลือดในหัวใจแต่ละห้องตามจังหวะการเต้นของหัวใจให้ไหลไปในทิศทางเดียวกัน และป้องกันเลือดไหลย้อนกลับทาง ซึ่งธรรมชาติได้มีการออกแบบให้ลิ้นหัวใจแต่ละส่วนมีระบบป้องกัน และทำงานทดแทนกันในกรณีที่ลิ้นหัวใจบางส่วนเกิดความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สมมติว่า สายขึงของลิ้นหัวใจไมตรัลขาด ส่งผลให้ไม่สามารถสูบฉีดและส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้เพียงพอ จากเดิมสูบฉีดเลือด 5 ลิตรต่อนาที หากรั่วไหลย้อนทางไป 2 ลิตร จะทำให้เหลือแค่ 3 ลิตรต่อนาทีเท่านั้น แต่เหตุผลที่ร่างกายไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ก็เพราะหัวใจเพิ่มแรงบีบเลือดมากขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณที่รั่วไปให้กลับมาครบ 5 ลิตรต่อนาที ดังนั้นจากเดิมที่เคยต้องส่งเลือดให้ได้ 5 ลิตรต่อนาที หัวใจจะทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งเลือดเพิ่มขึ้นเป็นครั้งละ 7 ลิตรต่อนาที

ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีความตื่นตัวเกี่ยวกับโรคหัวใจมากเท่าปัจจุบัน กว่าคนไข้จะมาถึงมือหมอ ความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจรั่วจะอยู่ในระยะที่ 3 หรือ 4 เกือบทั้งนั้น แทบไม่มีเลยที่จะมาหาหมอโดยไม่มีอาการนำ แต่หลังจากที่คนไข้มีความรู้และตื่นตัวมากขึ้น มีการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ ก็สามารถป้องกัน และรับมือกับโรคลิ้นหัวใจรั่วได้ตั้งแต่ก่อนมีอาการ”

“หากคนไข้ไม่เคยมีการตรวจสุขภาพเลย จะไม่มีทางรู้ว่าลิ้นหัวใจรั่ว และเมื่อปล่อยให้หัวใจที่มีลิ้นหัวใจรั่วทำงานหนักขึ้นเรื่อย ๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน หัวใจจะเริ่มส่งสัญญาณความเหนื่อยล้าให้เห็น จนท้ายที่สุดแล้วเมื่อหัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้เพียงพอ ก็จะเข้าสู่ภาวะลิ้นหัวใจรั่วขั้นรุนแรง โดยเฉพาะหากเกิดการรั่วที่ลิ้นหัวใจไมตรัล ซึ่งเป็นลิ้นหัวใจที่รับแรงดันมากที่สุด รับแรงบีบมากที่สุด การเกิดความเสียหายรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้” คุณหมอทวีศักดิ์กล่าว

Dr Taweesak   Heart Valve Repair 4

ซ่อมลิ้นหัวใจ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ลิ้นหัวใจรั่วในผู้สูงอายุ สร้างความกังวลกับทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวว่าจะมีวิธีการไหนที่ช่วยให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ตามปกติมากที่สุด ความจริงแล้ว ความยากง่ายในการซ่อมแซมลิ้นหัวใจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตัวโรค พยาธิสภาพ อายุ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังมีรายละเอียดยิบย่อยที่แตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละคน

“ส่วนใหญ่คนไข้อายุมาก จะมาด้วยโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ความยากและความซับซ้อนจึงอยู่ที่ว่า นอกจากจะป่วยด้วยภาวะลิ้นหัวใจรั่วแล้ว ยังอาจป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่น ๆ อีก เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันสูง จุดนี้ทำให้แพทย์ต้องวางแผนการรักษาด้วยความระมัดระวัง และมีความเอียดรอบคอบมากขึ้น ในทางกลับกัน การผ่าตัดรักษาในคนไข้กลุ่มหนุ่มสาว มีข้อดีคือร่างกายจะทนต่อการผ่าตัดได้ดีกว่า และฟื้นตัวไวกว่าคนอายุมาก”

เมื่อถามว่า ลิ้นหัวใจรั่ว มีกี่ระยะ ? คุณหมอเล่าถึงความเสียหายว่ามีตั้งแต่ระยะเล็กน้อย ปานกลาง รุนแรง และรุนแรงมาก อาการเริ่มตั้งแต่ ไม่เป็นอะไรเลย สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ จนเข้าสู่ระยะที่รู้สึกเหนื่อยเมื่อออกแรงมาก ๆ ไปจนถึงระยะที่แค่ออกแรงนิดหน่อยก็เริ่มเหนื่อย แต่ถ้านั่งอยู่เฉย ๆ ก็เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ ขาและเท้าบวม ถือเป็นระยะที่รุนแรงมาก และอันตรายมากเช่นกัน ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้ว การซ่อมแซมลิ้นหัวใจ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยผู้ป่วยได้

“ลิ้นหัวใจมีทั้งหมด 4 ลิ้น โอกาสในการซ่อมได้ หรือรักษาหาย มีไม่เท่ากัน อย่าง ลิ้นหัวใจไมตรัล และไตรคัสปิด 2 ลิ้นนี้ถ้ารู้ตัวเร็ว มาหาหมอไว ลิ้นหัวใจยังเสียหายไม่เยอะ ตราบใดที่ลิ้นหัวใจและร่างกายยังไม่ทรุดโทรมมาก โอกาสซ่อมได้ก็สูงมากเช่นกัน”

“ลิ้นหัวใจเอออร์ติก โอกาสซ่อมสำเร็จมีน้อย แพทย์จึงแนะนำให้รักษาด้วยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยชนิดของลิ้นหัวใจก็จะแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม เช่น ใช้เนื้อเยื่อลิ้นจากหัวใจของตนเองหรือสิ่งมีชิวิตอื่น และใช้ลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศัลยแพทย์หัวใจ”

นอกจากการใช้เนื้อเยื่อบุหัวใจของตัวคนไข้เอง และใช้ลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะแล้ว นวัตกรรมทางการแพทย์ปัจจุบัน ยังพัฒนาสู่การนำเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจจากผู้บริจาคอวัยวะ หรือใช้ชิ้นส่วนเนื้อเยื่อบุหัวใจของสิ่งมีชีวิต เช่น หมู หรือวัว ซึ่งเป็นอีกทางเลือกในการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม เพื่อรักษาภาวะหัวใจรั่วที่ให้ผลลัพธ์ที่ดี และกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับการนำเนื้อเยื่อบุหัวใจของหมูหรือวัว มาใช้ในการรักษาภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจพิการ หรือลิ้นหัวใจเสียหายจากการติดเชื้อ ต้องมาจากปศุสัตว์เลี้ยงแบบพิเศษเพื่อการแพทย์เท่านั้น เพื่อให้ชิ้นส่วนเนื้อเยื่อมีคุณภาพตามมาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งการรักษาที่ประเทศไทย ยังเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งกว่าจะนำมาใช้กับมนุษย์ได้ต้องผ่านหลายขั้นตอน ทั้งยังต้องผ่านมาตรฐานและได้รับการรับรองจากสำนักงานอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป และต้องผ่านมาตรฐานและได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา ประเทศไทยด้วย

Dr Taweesak 2

หมั่นดูแล “สุขภาพหัวใจ” ไม่มีอาการ ไม่ได้หมายถึง ไม่ป่วย

“อย่ารอให้หัวใจต้องทำงานหนักจนเหนื่อยล้าขนาดนั้น” คุณหมอทวีศักดิ์ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะการตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราห่างไกล และรู้เท่าทันโรคต่าง ๆ ทั้งยังช่วยให้เราสามารถป้องกันโรคได้ตั้งแต่ก่อนเกิดอาการ

“ผมจะย้ำกับคนไข้เสมอว่า การไม่มีอาการ ไม่ได้หมายถึงการไม่มีโรค บางคนกลัวว่าตรวจสุขภาพแล้วจะรู้ว่าเป็นโรคหัวใจ ผมบอกเลยว่า อย่ากลัวที่จะรู้ว่าป่วย แต่ควรกลัวว่า ‘จะไม่รู้ว่าป่วย’ เพราะป่วยแล้วรีบรักษา โอกาสหายดีมีมากกว่าแน่นอน”

การตรวจสุขภาพแล้วพบว่ามีภาวะหัวใจรั่วระดับต้น ๆ เป็นการรู้ก่อนที่ร่างกายจะแสดงอาการ แสดงว่าเราพบเร็วพอ สภาพหัวใจยังไม่ได้เหนื่อยล้า โอกาสในการฟื้นคืนกลับสู่ปกติจะมีสูงกว่าการปล่อยให้หัวใจทำงานหนักจนส่งสัญญาณหรือแสดงอาการของโรคให้รู้เพื่อขอความช่วยเหลือ

“เวลาคนไข้กับญาติคุยกับหมอ มักถามคำถามเดิม ๆ เสมอว่า ผ่าตัดน่ากลัวไหม บางคนกังวลมาก กลัวว่าผ่าตัดแล้วจะไม่ตื่นขึ้นมาอีก กลัวพิการ กลัวเสียชีวิต ผมจะแนะนำว่า เรากังวลได้ กลัวได้ แต่ต้องมีสติ ผมบอกคนไข้ตลอดว่า ถ้าคนไข้สู้ หมอก็สู้ด้วย ถ้ายังไม่มั่นใจ ลองคุยกับหมอเยอะ ๆ คุยกับหมอหลายคนก็ได้ คุยจนกว่าจะมั่นใจ แล้วตัดสินใจเลย”

แม้จะไม่สามารถรับปากคนไข้ได้ว่าจะสามารถซ่อมแซมจุดที่เสียหายได้สำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าถามว่าหมอมั่นใจไหม คุณหมอตอบด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น และแววตาที่แน่วแน่ว่า

 “ผมมั่นใจ”

เผยแพร่เมื่อ: 21 ม.ค. 2025

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    นพ. ทวีศักดิ์ โชติวัฒนพงษ์

    นพ. ทวีศักดิ์ โชติวัฒนพงษ์

    • ศัลยศาสตร์
    • ศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก
    Cardiothoracic Surgery