พาร์กินสัน รู้เร็ว รักษาได้ คุณภาพชีวิตดี
โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ รองจาก โรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์ พบมากในผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป โรคนี้มีความซับซ้อนและต้องการการดูแลรักษาที่เหมาะสม
หลายคนคิดว่าเป็นโรคที่รักษาด้วยการรับประทานยาเท่านั้น และต้องรับประทานยาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความจริงแล้ว การรักษาโรคนี้ให้ได้ประสิทธิผลที่สุด ต้องใช้การรักษาแบบองค์รวม บทความนี้ แพทย์หญิงยุวดี ทองเชื่อม แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา โรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ จะมาให้ข้อมูลและช่วยเพิ่มความเข้าใจในตัวโรคแก่ผู้อ่านมากขึ้น
หนึ่งในโรคพบบ่อยของผู้สูงอายุ
โรคพาร์กินสัน หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อว่า ‘โรคสั่นสันนิบาต’ หรือ ‘โรคสันนิบาตลูกนก’ เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาท โดยเฉพาะที่เซลล์ประสาทบริเวณที่ผลิตสารสื่อประสาทโดพามีน ทำให้สารนี้ลดลง ส่งผลให้การเคลื่อนไหวผิดปกติตามมา มักเกิดอาการหลังจากเซลล์สมองนี้เสื่อมไปประมาณ 50%
จากข้อมูลในปัจจุบัน สาเหตุของการเกิดโรคพาร์กินสัน ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค อาทิ
- การถูกกระแทกหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน
- การสัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
พาร์กินสัน ไม่ได้มีแค่ ‘สั่น’ เท่านั้น
“อาการเตือนของโรคพาร์กินสัน สามารถเกิดก่อนอาการเคลื่อนไหวผิดปกตินานได้ถึง 10 ปี จึงควรสังเกตเพื่อเฝ้าระวังและติดตามอาการ จะสามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่แรกเริ่มค่ะ”
“ผู้ป่วยหลายรายมาหาหมอเมื่ออาการของโรคดำเนินไปมากแล้ว เพราะเข้าใจว่าโรคพาร์กินสันมีอาการสั่นเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว อาการสั่นเป็นเพียงอาการหนึ่งของโรค สามารถเกิดพร้อมหรือตามหลังอาการอื่นได้ ที่สำคัญผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการสั่น แต่มีอาการเคลื่อนไหวช้าและแข็งเกร็งเป็นหลัก ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาล่าช้า”
อาการที่สังเกตได้ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มอาการ ได้แก่
- กลุ่มอาการทางการเคลื่อนไหว ประกอบด้วย 4 อาการหลัก
- อาการเคลื่อนไหวช้า เป็นอาการหลักในการวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน ซึ่งจำเป็นต้องมีอาการนี้ทุกราย สังเกตจากการเคลื่อนไหวหรือขยับตัวช้า เดินแกว่งแขนลดลงหรือไม่แกว่ง ตลอดจนเขียนหนังสือตัวเล็กลงหรือชิดติดกัน
- อาการสั่น สามารถพบได้ที่คาง มือ ขา เท้า ในขณะพักไม่ได้ใช้งาน
- อาการแข็งเกร็ง พบได้ที่คอ แขน ขา ส่งผลให้เกิดท่าทางผิดปกติตามมาได้ เช่น ไหล่ห่อ ข้อศอก เข่า หรือลำตัวงอ เป็นต้น
- อาการทรงตัวไม่มั่นคง จากการเดินเท้าชิด ก้าวเท้าสั้น ซอยเท้าถี่ ลำตัวและศีรษะโน้มไปด้านหน้า เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มได้
ช่วงแรกของโรค อาการจะแสดงออกที่ร่างกายข้างใดข้างหนึ่งก่อน และค่อยเป็นอีกข้างเมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้น แต่ข้างที่เป็นก่อนจะแสดงอาการมากกว่า ส่วนอาการอื่นที่พบได้ เช่น สีหน้านิ่งเฉยไม่แสดงอารมณ์ พูดเสียงเบาหรือรัว เป็นต้น
- กลุ่มอาการนอกเหนือจากการเคลื่อนไหว
บางอาการเชื่อว่าเกิดขึ้นก่อนอาการเคลื่อนไหวผิดปกติหลายปี หรือเรียกว่าเป็นอาการเตือนก่อนเป็นโรคพาร์กินสัน ดังนี้- ภาวะได้กลิ่นลดลง หรือไม่ได้กลิ่น
- กลุ่มอาการฝัน และละเมอออกเสียง หรือออกท่าทางกลางดึก เช่น ตะโกน ชก เตะต่อย เป็นต้น
- ภาวะท้องผูกเรื้อรัง
- ภาวะซึมเศร้า
บางอาการเกิดขึ้นหลังจากโรคดำเนินไปแล้วหลายปี เช่น อาการจากระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ อย่างเช่น ปัสสาวะไม่สุด กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หน้ามืดหรือหมดสติจากความดันโลหิตต่ำขณะลุกเปลี่ยนท่า เป็นต้น และภาวะพุทธิปัญญาบกพร่อง (Cognitive impairment) ส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด การตัดสินใจ ตลอดจนภาวะความจำเสื่อม
ระยะโรคพาร์กินสัน ควรสังเกตเพื่อช่วยแพทย์วางแผนการรักษา
“การแบ่งระยะของโรคพาร์กินสัน ช่วยให้การสื่อสารระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย และญาติเข้าใจตรงกัน เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีประโยชน์ในแง่การวางแผนดูแลผู้ป่วยในแต่ละระยะได้อย่างเหมาะสม”
อาการโดยรวมของโรค แบ่งออกเป็น 5 ระยะ เรียงจากอาการน้อยไปมาก ดังนี้
- ระยะที่ 1: อาการเคลื่อนไหวผิดปกติเป็นข้างเดียว
- ระยะที่ 2: อาการเริ่มปรากฏชัดขึ้น และเป็นทั้งสองข้าง
- ระยะที่ 3: เริ่มมีปัญหาการทรงตัว โดยเฉพาะขณะเดินเปลี่ยนทิศ เดินหมุนตัวกลับ หรือโดนกระแทกเบา ๆ จะมีโอกาสหกล้มได้ง่าย
- ระยะที่ 4: ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง มีปัญหาการทรงตัวมากขึ้น จำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันบางอย่าง การลุกเปลี่ยนท่า รวมถึงการยืนและเดิน
- ระยะที่ 5: ผู้ป่วยมักจะติดเตียง หรือต้องนั่งรถเข็น มีอาการแข็งเกร็งมาก อาจมีข้อผิดรูป ไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากได้ ต้องมีผู้ช่วยเหลือตลอดเวลา เสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อน
พาร์กินสันไม่หายขาด แต่คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ด้วยการรักษา
ในปัจจุบัน ยังไม่มีการรักษาที่ทำให้โรคหายขาดหรือยับยั้งการดำเนินของโรคได้ การรักษาจะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในแต่ละระยะของโรค
การใช้ยา
ยามีรูปแบบและกลไกการออกฤทธิ์หลากหลาย จุดประสงค์เพื่อเพิ่มสารสื่อประสาทโดพามีนในสมอง ยกตัวอย่าง ยารับประทาน เช่น Levodopa, COMT Inhibitor, Dopamine Agonist, MAO-B Inhibitor เป็นต้น ยาแผ่นแปะผิวหนัง และยาฉีดใต้ผิวหนัง
“หลายคนกังวลว่ารับประทานยาแล้วจะทำให้อาการเป็นมากขึ้น ต้องเพิ่มยาขึ้นเรื่อย ๆ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะโรคพาร์กินสันเป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาท แน่นอนว่าอาการต่าง ๆ จะเป็นมากขึ้นจากความเสื่อมที่เพิ่มขึ้นตามเวลา ไม่ได้เป็นผลจากตัวยารักษาแต่อย่างใด”
“การเริ่มยาที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะแรกของโรค และรับประทานยาสม่ำเสมออย่างมีวินัย จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
“ผู้ป่วยหลายรายรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หลายครั้งเกิดจากการรับประทานยาที่ยังไม่ถูกวิธี ข้อสำคัญคือ ต้องรับประทานยาตอนท้องว่าง ก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที มีวินัยทานให้ตรงเวลาเดิมของทุกวัน หลีกเลี่ยงการรับประทานยาร่วมกับนม หรืออาหารโปรตีนสูง เพราะยาจะไม่ถูกดูดซึมค่ะ”
การผ่าตัด ในบางรายที่มีข้อบ่งชี้
การผ่าตัดเพื่อฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าที่สมองส่วนลึก (Deep brain stimulation) เหมาะสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน ที่ได้รับการรักษาด้วยยา แล้วมีอาการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ หรือเกิดผลข้างเคียงจากยา
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดไม่ใช่วิธีการรักษาให้โรคหายขาด และไม่สามารถทำในผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีการรักษาตามความเหมาะสมในแต่ละราย
ออกกำลังกายและทำกายภาพบำบัด ควบคู่กับการรักษาทุกระยะ
การออกกำลังกาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การเต้นรำเข้าจังหวะ การรำไทเก๊กหรือจี้กง ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เช่น ฝึกการเดินและทรงตัว การเคลื่อนไหวยืดเหยียดข้อ ป้องกันข้อติด ฝึกออกเสียง ในผู้ที่พูดเสียงเบา ฝึกการกลืน ในผู้ที่มีปัญหาการกลืน เป็นต้น
“การรักษาโรคพาร์กินสันต้องรักษาแบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยารูปแบบต่าง ๆ การทำกายภาพบำบัด การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของผู้ป่วย โดยจะเป็นการดูแลร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพ ทั้งแพทย์ระบบประสาท แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู จิตแพทย์ พยาบาล นักกายภาพ นักกิจกรรมบำบัด เภสัชกร รวมไปถึงญาติและตัวผู้ป่วยเองด้วยค่ะ”