ประสบการณ์คุณแม่มือใหม่
กับสไตล์การเลี้ยงลูกที่เริ่มต้นแบบสุดโต่ง
“เจอปัญหาหัวนมแตก เจ็บสุด ๆ หัวนมแตกจนตกสะเก็ด
ลูกเลยต้องกินสะเก็ดที่หลุดปนไปกับน้ำนมด้วย
ทรมานทุกครั้งที่ลูกกินนมค่ะ”
ในวัย 26 ปี เป็นช่วงที่หลายคนอาจกำลังทำงานหนักเพื่อสร้างครอบครัว บางคนเรียนต่อเพื่อเพิ่มพูนความรู้ บางคนเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว และบางคนยังใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรี แต่สำหรับ “มะหมิว” คุณธัญวรรณ ทรัพย์ประเสริฐ เธอตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะรับบทบาทอันสำคัญยิ่งในชีวิตของลูกผู้หญิง นั่นก็คือบทบาทของการเป็น...แม่
“การมีลูกเป็นเป้าหมายชีวิตอย่างนึง เรารู้สึกอยู่ลึก ๆ อยู่แล้วว่าเราเป็นคนที่มีความ Motherhood สูง ชอบดูแล ชอบเล่นกับเด็ก อยู่กับเด็กได้ดี เลยตั้งใจไว้ว่าจะต้องมีเบบี๋เป็นของตัวเองให้ได้ ซึ่งสามีก็โอเคกับการมีลูกมีครอบครัว พอแต่งงานได้ปีนึงแล้วลองปล่อยดูก็ท้องเลย”
ตั้งครรภ์ท้องแรก ง่ายกว่าที่คิด
คุณธัญวรรณ และสามี เตรียมตัวมาอย่างดี เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปด้วยความราบรื่นมากที่สุด ทั้งคู่ไปตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ตรวจเลือดเช็กพาหะธาลัสซีเมีย ทานโฟเลตล่วงหน้าหลายเดือน พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการลูกในท้อง ตลอดจนการดูแลตัวเองสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
“ตอนท้องน้องฮอปส์ ไม่แพ้ท้องเลย อาเจียนก็น้อยมาก แทบนับครั้งได้ จะมีแค่ง่วงนอน อยากนอนตลอดเวลาในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นก็ Happy มาก Enjoy eating ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไรที่อันตราย ส่วนตอนท้องน้องโฮป คนที่สองจะมีคลื่นไส้บ้าง ถ้าปล่อยให้ตัวเองหิวจะรู้สึกพะอืดพะอม อยากทานเพิ่ม ถ้าเทียบกับบางคนที่แพ้เยอะ ๆ ทานไม่ได้ เราถือว่าดีมาก ไม่มีสิว ไม่มีหน้าบวมอะไรเลย”
เนื่องจากการตั้งครรภ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายอย่างมาก หากเตรียมตัวมาอย่างดี จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะเสี่ยง และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตลอด 9 เดือน ไม่ว่าจะเป็นร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์ของคนท้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณธัญวรรณให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จึงพยายามใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติสุข หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เครียด เพราะความเครียดจะส่งผลต่อลูกในท้องได้
“ท้อง 2 มีเรื่องกังวล เพราะเป็นช่วงของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จะออกไปไหนก็ไม่ปลอดภัย ถ้าติดโควิดขึ้นมาก็กลัวจะส่งผลต่อลูกในท้อง ส่วนมากจึงใช้ชีวิตอยู่บ้าน ตอนนั้นก็เริ่มหาหนังสือมาอ่าน ปกติชอบอ่านหนังสือแนวจิตวิญญาณ ก็อ่านมากขึ้น สวดมนต์มากขึ้น เมื่อก่อนไม่ได้ทำอะไรแบบนี้จริงจัง พอได้ทำก็ถือว่าได้พัฒนาตัวเองไปด้วย”
ชีวิตแม่ลูกอ่อน...น้ำนมน้อย
ถึงแม้จะศึกษาเทคนิคการเลี้ยงทารกแรกเกิดมาเป็นอย่างดี แต่พอถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์จริง คุณพ่อคุณแม่ป้ายแดงส่วนใหญ่ก็ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก โดยเฉพาะในช่วงหลังคลอดที่น้ำนมไม่พอ คุณแม่มะหมิวทราบดีว่า สารอาหารในน้ำนมแม่นั้นสำคัญต่อลูกน้อยแรกเกิดมากเพียงใด ใครแนะนำให้ทานนมเสริม แต่คุณแม่ก็ปฎิเสธ
“คนสมัยก่อน เขาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันทั้งนั้น เราเชื่อมาแต่แรกแล้วว่า ลูกต้องกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด แต่ตอนน้องฮอปส์เกิด น้ำนมเรามาน้อย ลูกกินไม่อิ่ม เขาร้องหิวนมไม่หยุด ใครบอกให้ลูกกินนมเสริมเราก็คัดค้าน ตอนนั้นสุดโต่งมาก ต้องนมแม่เท่านั้น เรารู้ตัวเองนะ พอเริ่มเครียด น้ำนมก็ยิ่งน้อยลงอีก
แล้วเจอปัญหาหัวนมแตกด้วย เจ็บสุด ๆ หัวนมแตกจนตกสะเก็ด ลูกเลยต้องกินสะเก็ดที่หลุดปนไปกับน้ำนมด้วย ทรมานทุกครั้งที่ลูกกินนมค่ะ ก็เลยไปปรึกษากับ พญ. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ คุณหมอได้ช่วยปรับท่าทางให้นม เข้าเต้าแบบไหนลูกถึงจะกินนมได้ดี ไม่ดึงรั้งหัวนม เพราะช่วงนั้นเราเองก็ยังเข้าเต้าไม่เก่ง ลูกเลยดูดนมได้ไม่ดี กว่าจะผ่านช่วงนั้นมาได้ต้องอดทนมากเลยค่ะ”
หลังจากปรับท่าทางการให้นมลูกและพยายามให้ลูกดูดนมไปเรื่อย ๆ ดูดนาน ๆ น้ำนมก็เริ่มมาเยอะขึ้นจนน้องฮอปส์กลายเป็นเด็กติดเต้า ได้กินนมแม่อย่างเต็มอิ่มยาวนานไปจนถึงสองขวบเลยทีเดียว และหลังจากนั้นไม่นานนัก ทางครอบครัวก็ได้รับข่าวดี ว่าจะมีสมาชิกตัวน้อย มาเป็นเพื่อนเล่นกับน้องฮอปส์ และแน่นอนว่าการให้นมลูกคนที่สองนั้น ไม่มีอะไรที่คุณธัญวรรณต้องกังวลอีกแล้ว
"พอคนที่สอง น้องโฮป เรารู้เทคนิคแล้ว ดูดเต้าอิ่มแล้วก็หลับ ง่ายจัง เรารู้แล้วว่าทารกเขาจะกินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา ทำทุกอย่างเหมือนเดิมซ้ำ ๆ กันทุกวัน คุณหมอสุธีราให้คำแนะนำที่ดีมาก ทั้งตอนเลี้ยงฮอปส์และโฮปเลยค่ะ สบายใจมาก ๆ เพราะส่วนตัวเราก็หาข้อมูลมาเยอะอยู่แล้ว ถ้าสงสัยอะไร ถามเพิ่มนิดหน่อย คุณหมอสามารถไกด์ให้เข้าใจง่าย พอทราบว่าย้ายมาประจำอยู่ที่เมดพาร์ค ก็เลยพาเด็ก ๆ ตามมาฉีดวัคซีนกันที่นี่ แล้วพอดีฮอปส์เขาเป็นภูมิแพ้ ก็เลยได้พามารักษา มาติดตามอาการอยู่เรื่อย ๆ ค่ะ”
การขับรถออกสตาร์ทจาก เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา มาถึงกรุงเทพฯ ด้วยระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางราว 3 ชั่วโมง เพื่อพาเด็ก ๆ มาฉีดวัคซีนตามนัด รวมถึงติดตามการรักษาอาการภูมิแพ้ของน้องฮอปส์ นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาดี ๆ ของครอบครัว
“เราเดินทางมาไกลนะคะ แต่เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก เราอยากปรึกษากับคุณหมอที่เรามั่นใจ ระยะทางไม่ใช่ปัญหาค่ะ มาถึงโรงพยาบาลที่นี่มีครบทุกอย่าง สะอาด ใหม่ ร้านอาหารเยอะ หาหมอเสร็จ ทานข้าว กลับบ้านได้เลย การเดินทางก็สะดวก มีที่จอดรถเพียงพอ ถ้าเป็นช่วงปิดเทอม เราจะจองโรงแรมไว้แล้วพาเด็ก ๆ ไปเที่ยวสัก 1-2 วัน แล้วค่อยกลับ เด็ก ๆ ก็จะได้มาหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วย”
เลี้ยงลูกแบบผู้ใหญ่ เข้าใจโลกแห่งความจริง
หากนิยามสไตล์การเลี้ยงลูกของคุณแม่มะหมิว ก็คงจะเป็น “Kind but Firm” สองพี่น้อง ฮอปส์-โฮป ไม่ถูกเลี้ยงแบบสปอยหรือตามใจมากเกินไป เพราะคุณพ่อคุณแม่ตั้งเป้าหมายไว้ว่า เมื่อลูกโตขึ้นจะต้องไม่เป็นภาระสังคม ต้องยอมรับความจริง หากวันหนึ่ง พ่อแม่ไม่ได้อยู่ดูแล สองพี่น้องต้องไม่ทะเลาะกัน และต้องสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้
“เวลาเราเล่นเกมกัน สมมติว่าเป็น เก้าอี้ดนตรี พวกผู้ใหญ่ก็มักจะยอมให้เด็กนั่งก่อนใช่ไหมคะ แต่ถ้าเป็นเราจะแกล้งไม่ให้เขาชนะ เขาก็ร้องไห้ใหญ่เลย เราก็สอนว่าเสียใจได้แต่ต้องไม่ตี ไม่ทำร้ายคนอื่นนะ ต้องยอมรับกติกา แพ้ก็คือแพ้ ครั้งหน้าอาจชนะก็ได้ ถ้าทุกคนยอมให้เด็กชนะ ไม่มีใครสอนให้แพ้ พอโตขึ้นเขาต้องชนะอย่างเดียว มันก็จะไม่ดีกับคนอื่น”
นอกจากสอนให้เข้าใจว่า การเป็นเด็กไม่ได้หมายความว่าจะมีอภิสิทธิ์ไปทุกอย่างตามใจแล้ว ในเรื่องสิทธิพื้นฐานก็ปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเล็ก คุณแม่มะหมิวสอนทั้งคู่ว่ามีสิทธิเท่าเทียมกัน ให้เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ของของพี่ก็คือของของพี่ ถ้าน้องจะเล่นต้องขอพี่ก่อน และของของน้องก็คือของของน้อง ถ้าพี่จะเล่นก็ต้องขออนุญาตน้องก่อนเช่นกัน
“ในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน ไม่ใช่ว่าอายุมากกว่า รู้เรื่องมากกว่าแล้วต้องยอมให้น้อง หรือน้องเล็กกว่าไม่รู้เรื่องอะไรต้องยอมให้พี่ ไม่ใช่แบบนั้น เราทรีตลูกเหมือนเป็นผู้ใหญ่คนนึงในบ้าน อาจจะมีบ้าง บางอย่างที่เราต้องคอนโทรล แต่เราให้สิทธิ์ให้เสียงเขาเสมอ พวกเขาก็จะไม่รู้สึกน้อยใจ เพราะไม่ได้ถูกรักมากหรือน้อยกว่ากัน แล้วพี่น้องก็จะรักกันเอง” คุณแม่มะหมิวกล่าวทิ้งท้าย
..........................................
ปัญหา “น้ำนมน้อย” คุณแม่มือใหม่จะแก้ไขอย่างไรดี
หนึ่งในปัญหาที่มักสร้างความกังวลอย่างมากให้กับบรรดาคุณแม่มือใหม่ คือ น้ำนมน้อย หรือน้ำนมไม่พอให้ลูกกิน ก่อนจะทราบสาเหตุและเคล็ดลับทำให้น้ำนมมาเยอะ ต้องเข้าใจกระบวนการผลิตน้ำนมของคุณแม่ก่อน
โดยธรรมชาติแล้ว น้ำนมแม่ จะถูกผลิตและกักเก็บไว้ในต่อมน้ำนม เมื่อทารกดูดนมจะเป็นการกระตุ้นปลายประสาทบริเวณหัวนมให้ส่งสัญญาณไปยังสมอง เพื่อหลั่งฮอร์โมนอ็อกซีโตซินและโปรแลคติน ฮอร์โมนอ็อกซีโตซินจะไปกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมบีบตัว ทำให้น้ำนม ถูกปล่อยผ่านท่อน้ำนมออกมาสู่ภายนอก ส่วนฮอร์โมนโปรแลคตินจะไปกระตุ้นต่อมน้ำนมให้เกิดการผลิตน้ำนมขึ้นมาใหม่
สาเหตุที่ทำให้น้ำนมน้อย
จากหลักการข้างต้นจะเห็นว่า ยิ่งทารกดูดนมบ่อย ก็ยิ่งไปกระตุ้นให้เต้านมเกิดการผลิตและปล่อยน้ำนมไหลออกมา ซึ่งกระบวนการนี้จะได้ผลเป็นอย่างดีหากทารกสามารถดูดน้ำนมจากเต้าได้เร็วที่สุด และดูดอย่างถูกวิธีภายใน 30 นาทีแรกหลังคลอด
แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณแม่หลังคลอดอาจมีอาการอ่อนเพลียมาก ต้องการเวลาพักฟื้น หรือบางคนเจ็บแผลจนลุกไม่สะดวก กว่าจะเริ่มต้นให้นมทารกก็ช้าเกินไป จนส่งผลต่อกระบวนการผลิตน้ำนมอย่างที่ควรเป็น นอกจากนี้ การทิ้งช่วงเวลาให้ลูกเข้าเต้านานเกินไป คือให้ทารกเข้าเต้าน้อยกว่า 2 ครั้งต่อวัน หรือ บางรายเกิดปัญหาความผิดปกติของเต้านมจนไม่สามารถให้นมบ่อย ๆ ได้ เช่น เต้านมอักเสบ ท่อน้ำนมอุดตัน เมื่อเต้านมไม่ได้ถูกกระตุ้นนาน ๆ ก็มีส่วนทำให้กระบวนการผลิตน้ำนมหยุดชะงักไป
ทำอย่างไรให้มีน้ำนมเพียงพอ
คุณแม่มือใหม่ทุกคน ถ้าหากไม่มีโรคประจำตัวอันเป็นอุปสรรคต่อการให้นมลูกแล้ว ก็สามารถให้นมลูกได้แน่นอน ทางที่ดีควรเรียนรู้เทคนิค และวิธีการให้นมลูกที่ถูกต้อง ได้แก่
- พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย หาวิธีผ่อนคลายแบบที่ชอบ
- นวดคลึงเต้านมและหัวนม โดยใช้ฝ่ามือนวดเต้านมเข้าหาหัวนม และใช้นิ้วมือหมุนหัวนมเบา ๆ
- ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด ควรให้นมลูกอย่างน้อย 8-12 ครั้งต่อวัน หรือทุก 2-3 ชั่วโมง ถ้าสังเกตว่าลูกหิวนมก็ควรให้ทันที ไม่ต้องรอเวลา
- ระหว่างที่ลูกดูดนม ควรเช็กว่าลูกดูดนมอย่างถูกวิธีแล้วหรือยัง ควรให้ลูกน้อยงับหัวนมให้ลึกไปถึงลานนม
- สลับให้ลูกได้ดูดนมทั้ง 2 ข้าง แต่ถ้าไม่ได้จริง ๆ ให้ปั๊มนมอีกข้างออก เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมข้างที่ไม่ถูกดูดมีการผลิตน้ำนมน้อยลง
- ถ้ารู้สึกคัดเต้า ให้ระบายน้ำนมออกมาบ่อยๆ อย่ารอให้เต้าคัดตึงแล้วจึงค่อยเอาออก
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ยังคงกังวลเกี่ยวกับน้ำนม ก็สามารถมาปรึกษาได้ที่ คลินิกนมแม่ (ศูนย์สุขภาพและโรคเฉพาะทางเด็ก) โรงพยาบาลเมดพาร์ค คุณแม่จะได้เรียนรู้หลักการดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี รวมไปถึงฝึกจัดท่าให้นมลูก วิธีการเอาลูกเข้าเต้าอย่างถูกต้อง หรือคุณแม่ที่ลาคลอดครบกำหนดแล้วต้องกลับไปทำงานต่อ ก็จะได้ฝึกปั๊มนม รู้จักวิธีเก็บรักษาและทำสต๊อกนมด้วย
หัวนมแตก เกิดจากอะไร และดูแลอย่างไร
สำหรับปัญหา หัวนมแตก นั้น เป็นเรื่องที่อาจทำให้คุณแม่หลายคนเริ่มถอดใจกับการให้ลูกดูดเต้า เพราะจะเจ็บปวดทรมาน ต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก สาเหตุของหัวนมแตกเกิดได้หลายประการ เช่น
- ให้นมในท่าทางไม่กระชับ หรือทารกนอนผิดตำแหน่ง ไม่พอดีกับเต้า ทำให้เกิดการดึงรั้งหัวนม
- อาบน้ำอุ่น อุณหภูมิที่สูงเกินไปจะทำให้ผิวแห้งแตกได้ง่าย
- ทารกมีพังผืดใต้ลิ้น ทำให้แลบลิ้นออกมาได้ไม่เต็มที่ สามารถแก้ไขได้โดยให้แพทย์ทำการขลิบพังผืดออก
- ปั๊มนมแรงเกินไป ขนาดของกรวยปั๊มนมที่ไม่พอดีกับเต้านม
- เต้านมติดเชื้อ หรือปล่อยให้อับชื้นจนเกิดเชื้อรา
- แพ้แผ่นซับน้ำนม
เมื่อมีปัญหาหัวนมแตก คุณแม่ควรรีบแก้ไขปัญหาทันที โดยบีบน้ำนมออกมา 2-3 หยดทาให้ทั่วหัวนมและลานนม รอจนแห้งแล้วเก็บเต้า หากเป็นแผลให้ทาด้วยยา oral T paste ประมาณ 2-3 วันแผลจะค่อย ๆ หายไป เวลาให้ลูกกินนมสามารถกินได้เลยโดยไม่ต้องเช็ดยาออก แต่ถ้าไม่ดีขึ้นให้ทายาครีมที่มีส่วนผสมของยาต้านเชื้อรา ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย และ ยาสเตียรอยด์ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
รับคำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ นมแม่และการให้นมทารก ได้ที่
ศูนย์สุขภาพและโรคเฉพาะทางเด็ก ชั้น 12A เคาน์เตอร์ C และ D (WEST Lift)
โทร. 02-090-3138 เวลา 8:00 – 19:00 น.