ส่งต่อวิชาแพทย์ บุกเบิกโรงเรียนแพทย์ คือหนึ่งในการพัฒนาประเทศ
“ก่อนจะปิดประเทศช่วงโควิด-19 รายได้ที่ได้จากธุรกิจสุขภาพทั้งหมดของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณสองแสนล้านต่อปี ซึ่งเป็นธุรกิจที่เข้มแข็งและควรสนับสนุน”
ธุรกิจด้านสุขภาพ หนึ่งในธุรกิจที่นอกจากจะสำคัญในแง่การดูแลรักษาสุขภาพ คุณภาพชีวิตของบุคลากรในประเทศ ยังเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอันดับต้น ๆ หากมีการส่งเสริมและสนับสนุน พร้อมวางระบบอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นธุรกิจที่สำคัญ เกี่ยวโยงกับชีวิต และสุขภาพของผู้คน และยังอาจก่อเกิดวิทยาการใหม่ ๆ ในการช่วยเหลือมนุษยชาติได้อีกด้วย
ศาตราจารย์ นายแพทย์สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลเมดพาร์ค ให้เกียรติมาพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองต่อการพัฒนาการแพทย์ในประเทศไทย พร้อมทั้งแนะนำแนวคิดและการริเริ่มที่จะสามารถขยับขยายองค์ความรู้ ความชำนาญทางการแพทย์ให้เติบโตด้วย
วิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงพยาบาล ในวันที่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีไม่เพียงพอ
“ประเทศไทยมีแพทย์คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของอัตราส่วนที่ WHO กำหนดไว้ ต่อประชากรทั้งประเทศ ซึ่งตัวเลขที่เหมาะสมคือ 100 เปอร์เซ็นต์ เราจึงประสบปัญหาแพทย์ขาดแคลน ซึ่งหากอยู่ในกรุงเทพฯ อาจเห็นภาพไม่ชัด เพราะมีจำนวนแพทย์ค่อนข้างมาก แต่หากไปดูในต่างจังหวัด จะพบว่าแพทย์หนึ่งคน ต้องดูแลคนไข้จำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงพอ”
นอกเหนือจากนั้น นายแพทย์สิน ยังเสริมอีกว่า ที่น้อยไปกว่านั้นคือแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง แต่ละสาขาจะมีค่อนข้างน้อย ในบางจังหวัดยังขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ ทำให้ประชาชนที่ถึงแม้มีกำลังทรัพย์ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่จะมีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดกับโรคที่เป็น ซึ่งน่าเสียดาย
ด้วยเหตุนี้เอง แนวคิดที่จะสร้างมหาวิทยาลัยแพทย์ เพื่อเพิ่มจำนวนแพทย์ในการให้บริการทางการแพทย์จึงเป็นหนึ่งในความตั้งใจของนายแพทย์สิน ที่คิดว่าควรจะทำให้สำเร็จ
การแพทย์ จะช่วยให้ประเทศพัฒนา
จากตัวเลขรายได้ในธุรกิจสุขภาพของประเทศไทยในปีที่ผ่าน ๆ มา ชี้ให้เห็นว่าการให้บริการทางการแพทย์ในบ้านเรานั้นมีศักยภาพ หลายคนคิดว่าการดูแล รักษาคนเจ็บ ไม่ควรเป็นเรื่องของธุรกิจ แต่ในอีกแง่หนึ่ง การให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้มีข้อดีมากมาย
“ลองคิดถึงคนไข้ต่างชาติ จากประเทศอื่น ๆ ที่เขามีกำลังทรัพย์ เขาพร้อมที่จะจ่ายเพื่อมารักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง มีแพทย์เฉพาะทางเก่ง ๆ เราก็สามารถสร้างรายได้ตรงนี้ได้หากมีความพร้อม เพราะเป็นการนำเงินเข้าประเทศอีกทางหนึ่ง ซึ่งต่อปีคิดเป็นมูลค่าค่อนข้างสูง”
“การทำธุรกิจกับสิ่งนี้ในมุมมองของผมจึงสามารถทำได้ ทำรายได้ให้ประเทศ และรายได้ตรงนั้นก็สามารถนำไปจัดสรรบริหารระบบสาธารณสุขภายในประเทศ เพื่อดูแลประชาชนคนไทยได้อีกต่อหนึ่ง เพราะอย่างนี้ ภาครัฐและเอกชนจึงเกื้อหนุนกันอยู่ครับ”
การมีระบบการบริการที่ดี มีบุคลากรที่เก่งและเพียงพอ จึงเป็นเป้าประสงค์หลักของนายแพทย์สิน ที่จะทำให้ความตั้งใจสัมฤทธิ์ผล
มหาวิทยาลัยแพทย์ ผลิตบุคลากรคุณภาพ เพื่อการเติบโตของประเทศ
นายแพทย์สินเล่าว่า ในขณะนี้ สถาบันการแพทย์แห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา มีแผนขยายธุรกิจการแพทย์มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเลือกที่จะร่วมกับโรงพยาบาลเมดพาร์ค เป็นคู่ธุรกิจ โดยวางแผนไว้ว่าอีกประมาณ 2-3 ปี จะสามารถเริ่มโปรแกรมฝึกสอนแพทย์ฝึกหัดในโรงพยาบาลที่มาจากการร่วมมือของทั้งสองฝ่าย และเมื่อโปรแกรมนี้อยู่ตัว ก็อาจสามารถเริ่มรับนักศึกษาแพทย์ และเปิดคณะแพทยศาสตร์ของโรงพยาบาลเมดพาร์ค และสร้างบุคลากรทางการแพทย์ในระดับสากลได้
“การเรียนการสอนเป็นวิธีเดียวที่จะสร้างคนของเราเอง สร้างคนเก่ง ๆ ขึ้นมาโดยไม่ต้องรอแพทย์เก่ง ๆ จบจากอเมริกา อีกทั้งยังเป็นการสร้างบุคลากรให้กับประเทศได้ด้วยครับ”
สำหรับจำนวนนักศึกษาแพทย์ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะรับได้ นายแพทย์สินระบุว่า น่าจะไม่เกิน 100 คนต่อปี เพื่อการดูแล ฝึกสอนอย่างทั่วถึง และโรงพยาบาลเมดพาร์คยังมีโรงพยาบาลในเครือมหาชัย ที่จะสามารถให้แพทย์ไปเริ่มงานได้ถึง 5 แห่ง และเมื่อต้องเลือกสาขาเฉพาะทาง ก็สามารถมาที่โรงพยาบาลเมดพาร์คเพื่อเลือกเรียนสาขาที่เฉพาะทาง ที่มีอาจารย์แพทย์ในแต่ละสาขานั้น ๆ พร้อมให้การฝึกสอน
“การสร้างบุคลากรที่เก่ง วางระบบบริการด้านสุขภาพที่ดี จะช่วยให้คนไข้ที่มาใช้จ่ายกับบริการของเรานั้นรู้สึกคุ้มค่า เขานำเงินเข้าประเทศมามากมาย เราก็ต้องให้สิ่งที่ดีที่สุดกับเขา”
“ที่เห็นได้ชัดคือคนไข้อาหรับ เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีเงิน แต่เพราะการแพทย์ที่ประเทศเขาด้อยกว่าประเทศไทย เขาจึงเลือกมารักษากับเรา จึงอยากได้รับการรักษากับแพทย์เก่ง ร่วมกับวิทยาการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ เพราะพวกเขาคิดว่า ถ้าแข็งแรง ก็จะสามารถทำงานหาเงินได้อีกมาก”
นายแพทย์สินกล่าวว่า หากสามารถสร้างคณะแพทย์และได้รับการรับรองจาก Accreditation Council for Graduate Medical Education (ACGME) ประเทศสหรัฐอเมริกา โรงพยาบาลเมดพาร์คก็จะเป็นที่ที่ทั้งผลิตบุคลากรและให้บริการด้านการแพทย์ที่อยู่ในระดับสากล สามารถทำประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ในประเทศไทยได้อย่างเต็มศักยภาพ
“ผมมองว่า หากโรงพยาบาลของเราผลิตแพทย์เองได้ เราจะมีแพทย์เฉพาะทางในด้านที่ต้องการเพียงพอ จำนวนแพทย์เก่ง ๆ จะได้เพิ่มขึ้นครับ”
และเมื่อผลิตแพทย์เก่ง ๆ ได้ แม้จะวางเป้าหมายหลัก ๆ เอาไว้ที่โรงพยาบาลเมดพาร์คและโรงพยาบาลในเครือมหาชัย แต่นายแพทย์สินก็มีแผนที่จะกระจายแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะสาขาที่ขาดแคลนไปยังต่างจังหวัดด้วย
“การผลิตหมอ ไม่ว่าจะมาเป็นหมอของโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชน ประเทศไทยก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้นครับ เพราะถึงอย่างไรก็เป็นหมอของประเทศ สามารถรักษาคนในประเทศ คนต่างประเทศ สร้างรายได้ ต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ประเทศได้ด้วย”