เลเซอร์แก้ไขความดันตา (SLT) รักษาต้อหินตั้งแต่ระยะเริ่มต้น - Selective Laser Trabeculoplasty (SLT)

Selective Laser Trabeculoplasty (SLT): เลเซอร์แก้ไขความดันตา รับมือกับโรคต้อหินตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

Selective laser trabeculoplasty (SLT) เป็นเลเซอร์ที่ปรับพัลซ์ ความถี่ และพลังงานให้สามารถเลือกทำลายเฉพาะเซลล์ที่มีเม็ดสีเมลานินซึ่งจะดูดซับพลังงานจากแสงเลเซอร์ได้เร็วกว่าเซลล์อื่นในบริเวณที่ระบายน้ำของลูกตา โดยไม่มีผลต่อเซลล์อื่น ๆ ในบริเวณเดียวกัน

แชร์

“โรคต้อหินคือ silent thief of sight รู้ตัวอีกทีอาจอยู่ในจุดที่อันตรายแล้ว”

ส่วนหนึ่งของคำพูดจาก แพทย์หญิงวิศนี ตันติเสวี จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านการรักษาโรคต้อหิน ที่อยากแสดงให้เห็นว่า โรคต้อหินนั้นเป็นภัยเงียบที่ต้องระวัง คนไข้หลายรายมักมีพยาธิสภาพของโรคโดยที่ไม่รู้ตัว มารู้อีกทีก็ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นไปแล้ว

โรคต้อหิน โรคทางตาที่มักมาโดยไม่รู้ตัว

โรคต้อหินเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความผิดปกติจากการสูญเสียเส้นใยประสาทตา โดยเฉพาะรอบ ๆ ขั้วประสาทตา ซึ่งมีลักษณะจำเพาะ ทำให้ลานสายตาเสียหายไปทีละนิด ๆ และมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นสาเหตุต้น ๆ ของการสูญเสียการมองเห็นโดยสิ้นเชิง

“ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผิดปกตินี้ คือ ความดันลูกตาที่สูงเกินไป จนเกิดเป็น Pressure Effect ที่ขั้วประสาทตา ที่อยู่ด้านหลังของลูกตา เมื่อความดันสูงจนเส้นเลือด เส้นใยประสาทรอบ ๆ รับมือไม่ไหว เกิดการความเสียหายและความเสื่อมของเส้นประสาทตาจนฝ่อลง ส่งผลกระทบต่อดวงตาในที่สุด”

“หลายคนคิดว่า การรักษาต้อหินมีแค่การใช้ยา หรือ การผ่าตัดอย่างเดียว แต่ความจริง มีการนำเลเซอร์มารักษาด้วย ซึ่งเลเซอร์แต่ละชนิด ก็จะเหมาะกับต้อหินชนิดที่แตกต่างกันไป และเลเซอร์ที่จะพูดถึงวันนี้ คือเลเซอร์ที่ใช้รักษาโรคต้อหินมุมเปิดที่ได้ประสิทธิผลดีและน่าสนใจค่ะ”

Selective LASER Trabeculoplasty (slt) 1

เทคโนโลยี SLT เพื่อการรักษาต้อหินมุมเปิด

โรคต้อหินมุมเปิด เป็นโรคต้อหินที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมุมระหว่างกระจกตาและม่านตา ซึ่งเป็นบริเวณที่ระบายน้ำของลูกตา ยังคงเปิดอยู่ อาการของโรคต้อหินประเภทนี้จะพัฒนาอย่างช้า ๆ และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างช้า ๆ โดยเลเซอร์ที่ใช้รักษาโรคต้อหินมุมเปิดแล้วได้ผลดี คือ Selective laser trabeculoplasty (SLT) ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่ปรับ พัลซ์ ความถี่ และพลังงานให้สามารถเลือกทำลายเฉพาะเซลล์ที่มีเม็ดสีเมลานินซึ่งจะดูดซับพลังงานจากแสงเลเซอร์ได้เร็วกว่าเซลล์อื่นในบริเวณที่ระบายน้ำของลูกตา โดยไม่มีผลต่อเซลล์อื่นๆในบริเวณเดียวกัน

“วิธีนี้จะใช้เลเซอร์ไปช่วยกระตุ้นบริเวณตำแหน่งที่ใช้ระบายความดันตา ช่วยให้การระบายน้ำในลูกตาดีขึ้น ส่งผลให้ความดันตาลดลง อาการจากต้อหินก็จะดีขึ้นด้วย”

“คนไข้ส่วนใหญ่คิดว่าการใช้เลเซอร์หรือทำหัตถการต่าง ๆ จะเป็นการรักษาชนิดท้าย ๆ และเลือกที่จะหยอดยารักษาอย่างเดียว ซึ่งความจริงแล้ว วิธีการใช้เลเซอร์รักษา สามารถทำได้ตั้งแต่คนไข้เริ่มมีภาวะความดันตาสูงในระยะแรก ๆ ที่ยังไม่ต้องหยอดยาได้เช่นกัน สามารถพิจารณาเป็นตัวเลือกทางการรักษาค่ะ”

เพราะการรักษาด้วย SLT สามารถแก้ไขปัญหาความดันตาที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดต้อหิน ทำให้คนไข้อาจสามารถลดการหยอดยา หรือไม่ต้องหยอดยาเลยก็ได้ในช่วงระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 ปี

แต่การรักษานี้มีข้อจำกัดอยู่ คือจะสามารถรักษาและให้ผลที่ดีในโรคต้อหินมุมเปิด หากเป็นโรคต้อหินมุมปิดอาจให้ผลไม่ดีเท่าที่ควร จักษุแพทย์อาจพิจารณาใช้เลเซอร์ชนิดอื่น

“เพราะเป็นเลเซอร์ที่ใช้รักษาโรคต้อหินมุมเปิด การรักษาจึงไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาน้อย ทำเสร็จกลับบ้านได้เลย สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ใช้สายตาได้ตามปกติค่ะ”

หลังทำ SLT เห็นผลทันทีหรือไม่…

ผลของการใช้ SLT โดยปกติจะเริ่มเห็นชัดประมาณ 4 สัปดาห์หลังทำ สำหรับคนไข้ที่ต้องหยอดยา หลังทำในช่วงแรก ๆ อาจยังต้องใช้ยาอยู่ แต่หลังจากมาติดตามอาการกับจักษุแพทย์ประมาณ 4-6 สัปดาห์ แพทย์จะประเมินการตอบสนองต่อการรักษาด้วยเลเซอร์ และพิจารณาการหยุดยาหากความดันตาอยู่ในระดับปกติและปลอดภัย

Selective LASER Trabeculoplasty (slt) 4

เลเซอร์ตา ไม่อันตรายอย่างที่คิด

หลายคนกังวล เมื่อต้องรักษาตาด้วยการใช้เลเซอร์ กลัวว่าจะเกิดผลข้างเคียงหรือเป็นอันตรายต่อดวงตา ความจริงแล้ว การรักษาความผิดปกติของตาด้วยเลเซอร์ จะทำโดยจักษุแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ และเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาอยู่เสมอ

“ก่อนจะมีเลเซอร์ การรักษาโรคต้อหินจะเป็นการใช้ยาหยอด และข้ามไปเป็นการผ่าตัดเลย เลเซอร์เป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาที่อยู่ตรงกลาง ให้ผลที่ดีมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ต้องถึงกับผ่าตัด จริงอยู่พอพูดถึงเลเซอร์ มันอาจดูน่ากลัว แต่ความจริงเทคโนโลยีนี้มีมานาน ได้รับการอัปเกรดมาตลอด จนใช้งานได้ง่ายขึ้น จักษุแพทย์เองก็มีประสบการณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ชำนาญมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นการรักษาที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดค่ะ”

คุณหมอวิศนีเล่าว่า จากผลการรักษาด้วยวิธีนี้ในคนไข้ส่วนใหญ่ พบว่าคนไข้ค่อนข้างพึงพอใจและรู้สึกว่าคุณภาพชีวิตดีขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น ระหว่างการทำหัตถการ ไม่รู้สึกเจ็บ เนื่องจากมีการหยอดยาชาเพื่อระงับความรู้สึก ใช้เวลาทำไม่เกิน 10 นาที และเมื่อการรักษาสามารถควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับปกติ ไม่ต้องคอยหยอดยาอีก จึงช่วยลดความกังวลหรือภาระที่เคยต้องทำทุกวันลงได้

“ถ้าถามว่าเลเซอร์สามารถรักษาโรคต้อหินให้หายได้ไหม ต้องตอบตามตรงว่า โรคต้อหินเป็นโรคเรื้อรัง เลเซอร์ไม่ได้ทำให้โรคหาย แต่สามารถควบคุมโรคให้อยู่กับที่ อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย ช่วยให้เส้นประสาทตาไม่แย่ลง ลานสายตาไม่เสีย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนปกติค่ะ” 

และจากประสบการณ์การรักษาโรคต้อหินมุมเปิดด้วยเลเซอร์ คุณหมอบอกว่า ในรายที่ประสบความสำเร็จ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือสามารถควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้กว่า 5 ปีแล้ว โดยที่ไม่มีภาวะผิดปกติใด ๆ แต่คนไข้จะมาเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ 

โรคต้อหิน ป้องกันไว้ก่อนดีที่สุด

ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการรักษาที่มีประสิทธิภาพและให้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ แต่การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข คุณหมอวิศนีจึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจเช็กปัจจัยเสี่ยงและการดูแลตัวเองเพื่อลดโอกาสการเป็นโรคต้อหิน

“โรคต้อหิน เป็นโรคที่มาเงียบ ๆ มีคำว่ากล่าวว่า โรคต้อหินคือ silent thief of sight เพราะเป็นโรคที่มักไม่มีอาการแสดง รู้ตัวอีกทีก็อาจอยู่ในจุดที่อันตรายต่อการมองเห็น ทำให้การรับการรักษามักจะล่าช้า”

“ส่วนในรายที่มาตรวจตาตามปกติแล้วก็บังเอิญเจอว่ามีภาวะความดันตาสูง หรือเจอตัวโรคโดยคนไข้ไม่รู้ตัวมาก่อน จักษุแพทย์อย่างเราก็ต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจให้ได้ เพราะเขาก็คิดว่าเขาไม่เป็นไร แต่ความผิดปกติมันเกิดขึ้นแล้ว แค่ไม่ได้แสดงอาการให้รู้” 

เพราะเหตุนี้ การตระหนักรู้และเข้าใจกับตัวโรค จะช่วยให้ไม่ว่าใครก็สามารถรับมือหรือป้องกันโรคที่อาจเป็นโดยไม่รู้ตัวมาก่อนได้ 

“โรคต้อหินชนิดที่ป้องกันได้ จะเป็นโรคต้อหินมุมปิดค่ะ เพราะมักเกิดจากการที่มุมตาแคบ ระบายความดันได้ไม่ดี ซึ่งพบมากในพันธุกรรมของชาวเอเชีย ตรงนี้หากตรวจพบ สามารถใช้เลเซอร์ในการปรับมุมตา เพื่อป้องกันไม่ให้มุมตาแคบจนเกินไป แล้วเกิดภาวะความดันตาสูงได้”

อย่างไรก็ตาม นอกจากพันธุกรรม ลักษณะทางโครงสร้างของลูกตา ความดันลูกตาสูงจากโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ก็คืออายุที่เพิ่มขึ้น

“เมื่ออายุมากเข้า ประมาณ 50-60 ปีขึ้นไป ความเสี่ยงของโรคต้อหินก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถ้าให้แนะนำ ก็ควรเริ่มมาตรวจเช็กดวงตาโดยรวมตั้งแต่อายุ 40 ปี แต่หากมีอาการผิดปกติ หรือมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตา ก็อาจมาตรวจให้ไวหน่อย เพราะก็สามารถพบได้ในคนไข้ที่อายุยังน้อยค่ะ”

Selective LASER Trabeculoplasty (slt) 3

อนาคตของการใช้เลเซอร์เพื่อการรักษาโรคทางจักษุ

เลเซอร์ที่ใช้ในวงการแพทย์นั้นมีหลากหลาย ครอบคลุมวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยเลเซอร์ที่ใช้รักษาโรคทางจักษุจะมีลักษณะเฉพาะเช่นกัน 

“เลเซอร์บางชนิดจะทำหน้าที่เจาะ ตัด ทำให้ขาด ปรับแต่งโครงสร้างอวัยวะ แต่กับเลเซอร์บางชนิดก็มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นเซลล์ในบริเวณนั้น ๆ ให้ทำงานดีขึ้น บางตัวก็สามารถทำให้เซลล์บริเวณดังกล่าวระเหิดหายไป ซึ่งแพทย์ก็จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับการรักษาโรคที่แตกต่างกันค่ะ”

เมื่อถามว่าแล้วในปัจจุบันคิดว่าเทคโนโลยีเลเซอร์ในการรักษาโรคทางจักษุนั้นสามารถพัฒนาหรือมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ได้อีกไหม คุณหมอตอบว่า ได้แน่นอน พร้อมยกตัวอย่าง 

“ในการรักษา มีเลเซอร์กลุ่มหนึ่งที่นำไปใช้ลดความดันตา ที่ไม่ใช่ SLT ตัวนี้จะไปทำให้เซลล์ที่สร้างน้ำภายในลูกตาบางเซลล์หยุดการทำงาน อีกกลุ่มหนึ่งคือเลเซอร์ที่ไปช่วยทำให้หลอดเลือดในตาฝ่อ ไม่เพิ่มขึ้น และลดความรุนแรงของภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ซึ่งในปัจจุบัน เลเซอร์อาจยังไม่สามารถส่งผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อได้ทุกส่วน หากทำได้ ผลของการรักษาก็อาจมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย” 

“และเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น เราก็จะได้เห็นประสิทธิภาพทางการรักษาที่เพิ่มขึ้น ผลข้างเคียงที่น้อยลง และคุณภาพชีวิตของคนไข้ที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ดี ในเวลานี้ก็มีเลเซอร์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ให้ผลการรักษาที่ดีน่าพอใจ ประกอบกับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ จึงค่อนข้างเพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้กับคนไข้ที่มารักษาค่ะ”

Selective LASER Trabeculoplasty (slt) 2

แม้จะเป็นการรักษาที่ให้ผลดี ถึงอย่างไร คุณหมอวิศนีก็ไม่ลืมที่จะเน้นย้ำธรรมชาติของโรคต้อหิน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

“คนไข้หลายคนคิดว่ามารักษาโรคต้อหิน แค่กินยา ทำเลเซอร์ ผ่าตัดแล้วจะหายเลย แต่ความจริงไม่ใช่ค่ะ โรคต้อหินจัดเป็นโรคเรื้อรัง เหมือนโรคไต โรคเบาหวาน การรักษาของจักษุแพทย์จะช่วยชะลอความรุนแรงของโรค ช่วยควบคุมอาการให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ”

“แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่ว่ามารับการรักษาแล้วโรคจะหายไปเลย คนไข้ยังจำเป็นต้องดูแลสุขภาพ และมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการสม่ำเสมอ อย่างที่บอกไปว่าบางรายทำเลเซอร์สามารถควบคุมอาการได้ 5 ปี แต่บางรายก็ควบคุมได้ 1-2 ปี ถึงอย่างไรก็ต้องอยู่กับโรคอย่างไม่ประมาทค่ะ”

เพราะโรคต้อหิน เป็นโรคที่เกิดขึ้นเงียบเชียบ อาการผิดปกติก็แทบไม่แสดงให้เห็นหากไม่มาตรวจตาหรือระยะของโรคดำเนินไปมากแล้ว หน้าที่ของเราคือการตรวจหาปัจจัยเสี่ยง มาตรวจตาตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ ก็จะช่วยให้รับมือกับโรคนี้ได้ง่ายขึ้น

เผยแพร่เมื่อ: 22 มี.ค. 2024

แชร์