Med Park Medical Escort Center ทีมกู้ชีพบนฟากฟ้า

MedPark Medical Escort Center ทีมกู้ชีพบนฟากฟ้า

หน่วยกู้ชีพบนฟากฟ้า ที่ไม่ว่าจะต้องเจอสภาพอากาศเลวร้ายหรือสถานการณ์ไม่คาดคิด จะต้องพาผู้ป่วยไปถึงปลายทางอย่างปลอดภัย วันนี้จึงอยากพามารู้จัก MedPark Medical Escort Center กับภารกิจรับ-ส่งผู้ป่วยทางอากาศยาน

แชร์

MedPark Medical Escort Center ทีมลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ และกู้ชีพบนฟากฟ้า

ณ ความสูงหลายหมื่นฟุตจากระดับน้ำทะเล ผู้โดยสารหลายคนอาจกำลังพักผ่อนโดยไม่รู้ว่า มีเพื่อนร่วมทางคนหนึ่ง ไม่สามารถ ลุกเดิน ยืดเหยียดร่างกาย หรือช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งยังเสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อนได้ทุกวินาที ชีพจรและลมหายใจของเขา ได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจากคนกลุ่มหนึ่ง  

พวกเขาคือ หน่วยกู้ชีพบนฟากฟ้า ที่ไม่ว่าจะต้องเจอสภาพอากาศเลวร้ายหรือสถานการณ์ไม่คาดคิด จะต้องพาผู้ป่วยไปถึงปลายทางอย่างปลอดภัย วันนี้จึงอยากพามารู้จัก MedPark Medical Escort Center กับภารกิจรับ-ส่งผู้ป่วยทางอากาศยาน ที่นำทีมโดย พญ.ปฏิมา พุทธไพศาล ในบทบาทของ Flight Physician การทำงานของทีมจะเป็นอย่างไร มาติดตามกัน

เพราะการบินส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ

“เคยสังเกตไหมคะ บางทีเราจะรู้สึกอึดอัด อยากอาเจียน หายใจไม่ออก ปากแห้ง คอแห้ง แล้วยิ่งเป็นคนป่วย จะรู้สึกแย่มากกว่าคนปกติ จากที่เขาหายใจแล้วแค่เหนื่อยนิดหน่อย แต่พอเขาขึ้นเครื่องไป อาจจะเหนื่อยกว่าเดิม ออกซิเจนต่ำกว่าเดิม หัวใจทํางานหนักขึ้น หรือบางทีเกิดความเครียดขึ้นมา จนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้”

พญ. ปฏิมา เกริ่นให้เข้าใจง่ายว่า เมื่อเราอยู่บนเครื่องบิน กระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การหายใจ การทํางานของหัวใจ การไหลเวียนเลือด ปริมาตรปอดจะแตกต่างจากเวลาอยู่บนพื้นดิน และด้วยความกดอากาศ ที่น้อยลงทำให้ได้ออกซิเจนลดลงด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการดูแลและเฝ้าระวังตลอดการเดินทาง ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่เดินทางไปพร้อมกับผู้ป่วยนั้น บางคนอาจคุ้นเคยในชื่อ ทีมแพทย์ลำเลียงทางอากาศ พยาบาลเวชศาสตร์การบิน Aviation Doctor, Escort Doctor, Medical Escort, Flight Nurse เป็นต้น

“เราทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย เช่นเดียวกับแพทย์และพยาบาลภาคพื้นดินค่ะ เพียงแต่เรามีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับผลกระทบจากการบิน ที่อาจส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย เมื่อเกิดเหตุวิกฤติขึ้นมาบนเครื่องบิน เราต้องสามารถช่วยชีวิตหรือลดภาวะแทรกซ้อน สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐาน และมีความปลอดภัย ซึ่งการจะมีทักษะความรู้เหล่านี้ได้ ต้องไปอบรม ไปเรียนเพิ่มเติม”

กว่าจะมาเป็นทีมแพทย์และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยบนอากาศยานได้นั้น จะต้องผ่านการฝึกอบรมรมหลักสูตรหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สรีรวิทยาทางการบิน การกู้ชีพขั้นสูง การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ หลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน และอื่น ๆ

เฝ้าระวังทุกนาที เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการคงที่

ก่อนที่จะปฏิบัติภารกิจลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศนั้น ทีม Medical Escort จะประเมินว่าผู้ป่วยรายนี้ Fit to Fly หรือไม่ สามารถเคลื่อนย้ายอย่างราบรื่นโดยไม่เกิดอาการแทรกซ้อนระหว่างทางหรือไม่ และเนื่องจากพื้นที่ที่คับแคบ ไม่สามารถขนอุปกรณ์ไปเผื่อเหลือเผื่อขาดได้ อีกทั้งหมอกับพยาบาลที่มีไม่กี่คน จึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบ

“หลังจากประเมินแล้ว ว่าผู้ป่วย Fit to Fly เราก็มาดูกันต่อว่า ผู้ป่วยอาจจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง Worst Case Scenario คืออะไร ให้นึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดไว้ก่อน ถ้าเกิดเคสแบบนี้ใครจะทําอะไร เช่น หมอจะดูเรื่องของทางเดินหายใจผู้ป่วย พยาบาลไปดูเรื่องยา แล้วเราก็ต้องบรีฟกันด้วยว่า ระหว่างทางต้องเฝ้าระวังอะไรเป็นพิเศษ ต้องสังเกตสัญญาณเตือนอะไรบ้าง ที่บอกว่าผู้ป่วยเริ่มมี อาการเปลี่ยนแปลง”  พญ. ปฏิมา ยกตัวอย่างการแบ่งหน้าที่ในทีม พร้อมเน้นย้ำเรื่องของการวางแผน ก่อนลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ กรณีเกิดวิกฤติขึ้นมาแล้วจะทําอย่างไรให้อาการของผู้ป่วยคงที่มากที่สุด”

“อุปกรณ์ที่นำไปก็ต้องวางแผนเป็นอย่างดีค่ะ มีอะไรที่จำเป็นบ้าง บางเคสอาจเรียกได้ว่าเป็น Mobile ICU เลยนะ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการลำเลียงทาง Air Ambulance เป็นแบบ Private Jet หรือเป็นเครื่องบินเล็ก สําหรับขนส่งผู้ป่วยคนเดียวโดยเฉพาะ อุปกรณ์พร้อมแล้วไฟฟ้ามีเพียงพอหรือเปล่า สมมติเดินทาง 10 ชม. เราจะต้องเตรียมแบตเตอรี เท่าไร ออกซิเจนพอไหม ถ้าเกิดไฟไม่พอจะมีแผนสำรองอย่างไร ทุกอย่างต้องราบรื่น สมบูรณ์ที่สุด”

Med Park Medical Escort Center ทีมกู้ชีพบนฟากฟ้า 2

เมดพาร์คสยายปีก เหินฟ้า พาผู้ป่วยกลับบ้าน 

โรงพยาบาลเมดพาร์ค เป็นโรงพยาบาลที่เน้นการรักษาโรคยากซับซ้อน ทำให้มีผู้ป่วยถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาล ต่างจังหวัด ต่างประเทศจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อยกระดับบริการให้รองรับ ครบทุกความต้องการของผู้ป่วย จึงได้จัดตั้ง MedPark Medical Escort Center ขึ้นมา พร้อมปฏิบัติภารกิจ รับผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลฯ และส่งผู้ป่วยไปยัง จุดหมายปลายทางที่ต้องการ ไม่ว่าจะกลับบ้าน หรือไปรักษาต่อยังสถานพยาบาลอื่น ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

“เครื่องบินที่เราใช้ในการลำเลียงผู้ป่วย จะมีทั้ง อากาศยานปีกหมุน (Rotary wing) หรือเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter) และ เครื่องบินปีก (Fixed wing) ซึ่ง Fixed wing ก็แบ่งออกเป็นสองแบบค่ะ แบบแรกเรียกว่า Private Jet หรือ Air Ambulance และแบบที่สองเรียกว่า Airliner หรือเครื่องบินพาณิชย์จากสายการบินต่าง ๆ โดยจะมีการพับ Seat ท้ายเครื่อง เพื่อให้มีพื้นที่วางเปลนอนผู้ป่วย บริเวณนั้นก็จะมีแค่ ผู้ป่วย หมอ และพยาบาลคอยปฏิบัติงานอยู่” 

“ส่วนเฮลิคอปเตอร์จะเป็นเครื่องเปล่า เพราะมีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนัก พวกอุปกรณ์การแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ เราจึงต้องจัดเตรียมไปเองทั้งหมด และนำไปเท่าที่จำเป็นค่ะ สมมติว่าเป็นการลำเลียงผู้ป่วยหนัก ต้องเจาะคอ ใส่เครื่องช่วยหายใจ เราก็จะนำเครื่องช่วยหายใจ เครื่องมอนิเตอร์ที่สามารถมอนิเตอร์เรื่องความดัน ออกซิเจนปลายนิ้วรุ่นที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา แต่ประสิทธิภาพสูง และยาที่อาจต้องใช้ระหว่างทาง ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นไป”

ในส่วนของการลำเลียงผู้ป่วยทางเครื่องบินพาณิชย์ ทางศูนย์ฯ จะส่งทีมไปดูแลรับ-ส่งทั้งที่สนามบินดอนเมือง และท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ส่วนการลำเลียงทางอากาศยานปีกหมุน (เฮลิคอปเตอร์) สามารถมารับ-ส่งที่โรงพยาบาลเมดพาร์คได้เลย เนื่องจากชั้นดาดฟ้าของอาคาร เป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ (Helipad) ซึ่งออกแบบตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO (International Civil Aviation Organization) และได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand) ให้สามารถลงจอดเพื่อรับส่งผู้ป่วยได้ โดยทําสัญญาร่วมกับบริษัทเอกชน ผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์สำหรับใช้ลำเลียงผู้ป่วยโดยเฉพาะ

“บริเวณลานจอดมีพื้นที่สำหรับทำหัตถการฉุกเฉินด้วยค่ะ เมื่อเฮลิคอปเตอร์ลงจอด ทีมแพทย์และพยาบาลที่สแตนด์บายอยู่ ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤติได้ทันท่วงที สามารถส่งผู้ป่วยไปยังห้องฉุกเฉิน หรือห้อง ICU แม้แต่ห้องผ่าตัด หรือห้องสวนหัวใจได้โดยตรง เรามีลิฟต์ขนาดใหญ่พิเศษที่เข็นเตียงเข้าไปได้สะดวก และจุคนได้เยอะ แพทย์ พยาบาล สามารถทำ CPR ภายในลิฟต์ได้เลยค่ะ”

ลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยาน ภารกิจที่อาศัยความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียว

การรับ-ส่งผู้ป่วยหนึ่งคน ต้องอาศัยทีมงานหลายฝ่ายทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ก พญ.ปฏิมา เล่าถึงขั้นตอน การเตรียมความพร้อมคร่าว ๆ ก่อนจะลำเลียงผู้ป่วย

“ผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางมารักษาที่ รพ.เมดพาร์ค หรือรักษาเสร็จแล้วอยากเดินทางกลับประเทศ ทีมงานของเราจะรับเรื่องแล้วติดต่อมาที่ศูนย์ฯ ซึ่งจะมี Nurse co-ordinatior ทำหน้าที่ จัดเตรียมข้อมูลเบื้องต้นของผู้ป่วย ส่งให้ Flight Physician จากนั้น Flight Physician ก็จะพิจารณาว่าผู้ป่วย เหมาะที่จะเดินทางแบบไหน เป็นเครื่องบินพาณิชย์หรือเครื่องบินเช่าเหมาลำ แล้วอาการป่วย สภาพร่างกายปัจจุบัน Fit to fly แค่ไหน สามารถขึ้นเครื่องได้หรือไม่ นอกจากมีพยาบาลขึ้นไปแล้ว จำเป็นต้องมีแพทย์ประกบไปด้วยไหม มีญาติเดินทางไปด้วยหรือเปล่า และอื่น ๆ”

หลังจากนั้น Flight coordinator จะประสานไปยังสายการบิน หรือผู้ให้บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำ เพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวก เพราะนอกจากตัวผู้ป่วยแล้ว อาจจะมีอุปกรณ์บางอย่างติดตัวไปกับผู้ป่วยด้วย รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ต้องนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยระหว่างทาง  

นอกจากนี้ต้องประสานงานล่วงหน้ากับโรงพยาบาลปลายทาง ว่าต้องจัดเตรียมอะไรสําหรับผู้ป่วยบ้าง ทั้งสองฝ่ายจะไปส่งต่อผู้ป่วยกันที่สนามบิน บนเครื่องบิน หรือที่โรงพยาบาลปลายทาง นอกสนามบิน ซึ่งแต่ละจุดก็จะมีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ชื่อผู้ติดต่อ รวมไปถึงเวลาที่ชัดเจนด้วย 

Flight Nurse กับบทบาทในภารกิจรับ-ส่ง ลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ

พยาบาลนับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากในการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยาน วันนี้เราได้พูดคุยกับ คุณจ๋อม - ร.ท. หญิง ศิรินภา สุขเจริญ หนึ่งในทีม Flight Nurse ของ MedPark Escort Medical Center ที่มีความชำนาญ และมีประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้ป่วย ณ ที่เกิดเหตุ ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขา การพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน หรือ Emergency Nurse practitioner (ENP) รุ่น 1 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

“ทุกนาทีคือชีวิตของผู้ป่วยที่ต้องรักษาไว้ เราจึงพยายามฝึกฝน อบรมคอร์สต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วว่องไว แข่งกับเวลา และมีสติในทุกสถานการณ์ค่ะ อย่างหลักสูตรพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน ก็ทำให้เราสามารถใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ในภาวะฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล ที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้ป่วย เช่น ใส่ท่อช่วยหายใจ ใช้เครื่องกระตุกหัวใจ ด้วยไฟฟ้า ให้ยาช่วยชีวิต”

การอบรมโดยทั่วไปจะมีหลักสูตรของ สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการลําเลียงผู้ป่วยทางอากาศขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่ง Flight Nurse ทุกคนในทีมที่ผ่านการอบรมมาแล้ว จะมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินขั้นสูง การกู้ชีพขั้นสูง มีทักษะในการประสานงาน สามารถทํางานเป็นทีมได้เป็นอย่างดี

Med Park Medical Escort Center ทีมกู้ชีพบนฟากฟ้า 3

เตรียมแผนป้องกันล่วงหน้าอย่างดีที่สุด

นอกจากความรู้ข้างต้นแล้ว พยาบาล Flight Nurse ต้องมีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์อย่างครอบคลุม เพราะถึงเวลาปฏิบัติภารกิจจริงจะไม่สามารถเลือกผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่งได้ คุณจ๋อมอธิบายเพิ่มเติม

“เราจะได้เจอผู้ป่วยหลากหลายโรคเลยค่ะ Flight Nurse จึงต้องมีความรู้ไม่ว่าจะเป็น สูตินรีเวช อายุกรรม ศัลยกรรม กุมารเวช แล้วผู้ป่วยอาจจะมีทั้งป่วยทางกาย ป่วยทางจิต ขณะปฏิบัติงานบนเครื่องบิน เราต้องมีทักษะการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศแปรปรวน เครื่องบินตกหลุมอากาศ ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน หายใจเร็ว แพนิค หรืออื่น ๆ”

คุณจ๋อมให้ข้อคิดที่น่าสนใจ ว่าการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤติภาคพื้นดิน สามารถขอความสนับสนุนเพิ่มเติม จากโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง หรือโรงพยาบาลระหว่างทางได้ แต่เครื่องบินไม่สามารถจอดรอ ความช่วยเหลือกลางอากาศได้  

“เราจะต้องคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดปัญหาใดบ้าง แล้วเตรียมแผนป้องกันเหตุฉุกเฉินเอาไว้ล่วงหน้าเลยค่ะ เพราะหากเกิดขึ้นแล้ว นาทีนั้นเราไม่สามารถจอดรอความช่วยเหลือกลางอากาศได้ ไม่มีใครนําอุปกรณ์ ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ ขึ้นมาให้เราได้” 

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ทุกไฟลท์ราบรื่นด้วยดี อันดับแรกคือ การเตรียมพร้อมอยู่เสมอ สองคือ ทักษะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า สามคือ การทํางานเป็นทีม และสุดท้ายขาดไม่ได้คือ ภาษา เพราะจะต้องใช้สื่อสารกับเจ้าหน้าที่ที่สนามบิน หน่วยแพทย์ปลายทางหรือโรงพยาบาลปลายทางที่จะมารับผู้ป่วยต่อไป

ทบทวน และปรับปรุงการทำงานอยู่เสมอ 

คุณจ๋อมแชร์ประสบการณ์ส่งผู้ป่วยกลับประเทศกาตาร์ ในไฟลท์กลางคืน และเป็นการเดินทางแบบ Commercial Transport คือ เดินทางไปพร้อมกับผู้โดยสารปกติท่านอื่น ๆ  

“เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 7.30 ชม. แต่ด้วยข้อจำกัดคือ ผู้ป่วยไม่สามารถนั่งวีลแชร์ได้ เราจึงต้องให้นอนบน Stretcher ไฟลท์นั้นเราได้ขึ้นเครื่องก่อนเป็นกลุ่มแรกค่ะ ทางสายการบินจัดที่นั่งไว้ให้ท้ายเครื่องใกล้กับประตู พับเบาะขึ้นมา 9 เบาะ ให้เรามีพื้นที่วางเปลและล็อกเอาไว้อย่างแน่นหนา และผู้ป่วยจะมี Safety Belt 3 เส้น ที่หน้าอก ท้อง ขา เพื่อความปลอดภัยมากที่สุด ส่วนเรานั่งใกล้บริเวณศีรษะของผู้ป่วย เพราะต้องประเมิน การหายใจ”

พอได้ทำงานจริง ๆ มีสิ่งที่ต้องทบทวนเพิ่มเติมหลายอย่าง ซึ่งทางทีมก็จะมีการแชร์ข้อมูลกันอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน คุณจ๋อมยกตัวอย่างเรื่องของการใช้ถังออกซิเจน

“ก่อนเดินทางเราประสานงานกับทางสายการบิน ว่าให้เตรียมถังออกซิเจนไว้ให้ ซึ่งเราจะคํานวณมาแล้วว่า ผู้ป่วยใช้ออกซิเจนกี่ L/min พอถึงเวลาจริง ๆ เราต้องตรวจสอบอีกครั้งว่า ถังออกซิเจนที่เขาเตรียมให้ เพียงพอสําหรับการเดินทางหรือเปล่า แล้วข้อจำกัดที่พบก็คือ แสงสว่าง เราไม่สามารถเปิดไฟจ้า เพราะจะไปรบกวนผู้โดยสารท่านอื่น ๆ ดังนั้น การเคลื่อนย้ายถังออกซิเจน การนำถังออกจากที่เก็บสัมภาระ เราต้องทำเองอย่างระมัดระวัง”  

คุณจ๋อมทิ้งท้ายว่าประทับใจการทำงานของทุกคนในทีม เพราะเป็นทีมเวิร์คที่แข็งแกร่ง เป็นกันเอง สามัคคี และมีความตั้งใจพร้อมให้บริการลูกค้าทุกประเทศ

“ลูกค้าของโรงพยาบาลเมดพาร์ค หรือลูกค้าที่ต้องการจะมาใช้บริการที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค ไม่ว่าใกล้หรือไกล พวกเรายินดีที่จะ เดินทางไปรับ-ส่งท่านนะคะ” 

เผยแพร่เมื่อ: 19 มิ.ย. 2024

แชร์