คุณแม่แชร์ประสบการณ์ลูก 3 ขวบ
ผ่าตัดนิ้วหัวแม่มือรักษา โรคนิ้วล็อกในเด็ก
โรคนิ้วล็อก ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่เป็น แต่สามารถเกิดขึ้นกับเด็กได้เช่นกัน อาการนิ้วล็อกในเด็ก ดูเผิน ๆ อาจไม่มีอะไรมาก แต่ความจริงโรคนี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้มือในเด็กมากกว่าที่เคยคิด ในมุมมองของคนเป็นแม่ - คุณชนานันท์ เอื้อดุลยธรรม ที่มีลูกสาววัยน่ารัก 3 ขวบ อยากบอกเล่าประสบการณ์พา ‘น้องมิลิน’ ไปผ่าตัดรักษานิ้วล็อกให้เราฟังกัน
นิ้วล็อกในเด็ก เรื่องไม่เล็กอย่างที่คิด
“เวลาเล่นทำท่าชูนิ้วโป้งกับน้อง จะมีนิ้วโป้งข้างหนึ่งงอ เหยียดตรงไม่สุด ตอนแรกไม่ได้กังวลอะไรค่ะ เพราะน้องใช้ชีวิตประจำวัน เล่น เขียน ระบายสี ไม่เคยบ่นว่าเจ็บเลย ยกเว้นเวลาเราไปฝืนยืดออก เขาจะชักมือเหมือนไม่ค่อยสบายมือ เราคิดแค่ว่า เดี๋ยวน้องโตขึ้นคงมีกำลังนิ้วพอที่จะเหยียดยืดออกเองได้ จนวันนึงคุณครูสอนเปียโนทักมาว่าถ้าไม่รักษาจะส่งผลกับการกดตัวโน้ต”
คุณครูสอนเปียโนเล่าให้ฟังอีกว่า เพื่อนของเขาก็เคยเป็นโรคนิ้วล็อก และจะรู้สึกปวดเวลาเล่นดนตรี ประกอบกับเพื่อนของคุณชนานันท์เอง เพิ่งแชร์ประสบการณ์พาลูกวัย 2 ขวบ ไปผ่าตัดรักษานิ้วโป้งล็อก จึงเริ่มหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต พร้อมกับปรึกษาคุณหมอหลายท่านที่รู้จัก
“คุณหมอบอกว่าน้องอายุ 3 ขวบแล้ว การเหยียดนิ้วให้ตรงนั้นทำได้ค่อนข้างยาก เพราะว่าเอ็นเริ่มยึดแล้วค่ะ ถ้าปล่อยไว้กระดูกข้อมันจะค่อย ๆ โตขึ้นตามอายุ แต่ขณะเดียวกันเอ็นถูกรัดเอาไว้ ก็จะทำให้นิ้วโป้งงอมากขึ้นอีก ความจริงแล้วน้องสามารถทำได้ทุกอย่างเหมือนคนทั่วไป แต่การเหยียดนิ้วได้ไม่สุด อาจส่งผลถึงการใช้งานของนิ้วมือในอนาคต”
อยากให้คุณหมอซ่อมนิ้ว...
น้องมิลินเอง รู้ตัวว่านิ้วโป้งข้างหนึ่งงอ อีกข้างหนึ่งตรง แต่ยังไม่เข้าใจว่านี่เป็นภาวะที่ไม่ปกติ และไม่ได้เป็นเหมือนน้องทุกคน อีกไม่นานน้องจะเข้าโรงเรียนอนุบาล ต้องมีกิจกรรมที่ใช้ทักษะการใช้มือมากขึ้น คุณแม่จึงถามความสมัครใจของลูกสาวตัวน้อย
“เราลองถามเขา ‘มิลินอยากให้นิ้วตรงเหมือนกับอีกข้างไหมคะ? เขาบอกว่า หนูอยากให้ตรงเหมือน ๆ กันค่ะ อยากให้คุณหมอซ่อมให้หนูหน่อย ซึ่งถ้าตอนนั้นลูกตอบว่าไม่อยากทำ เราก็จะปล่อยไว้ก่อนค่ะ แต่พอลูกยินยอม อยากทำให้ตรง ก็เลยตัดสินใจพาไปผ่าตัด”
เนื่องจากคุณชนานันท์ เคยเป็นนักกายภาพบำบัด จึงปรึกษากับเพื่อนและอาจารย์หมอที่รู้จักกัน แล้วก็พบว่าที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค มีแพทย์เฉพาะทางคือ นพ.ขรรค์ชัย มลังไพศรพณ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ชำนาญด้านการผ่าตัดมือ และมีประสบการณ์รักษามือเด็ก จึงพาน้องมาปรึกษา
“คุณหมอคลำมือดูว่าเอ็นที่รัดตรงโคนนิ้วโป้ง มันเป็นยังไง ถ้าไม่เยอะมากอาจทำกายภาพ ใช้ที่ดามนิ้วยืดไปก่อน แต่พอคุณหมอจับปุ๊บ เออ..มันรัดแน่นจนตึง ทำให้เหยียดตรงไม่สุด วิธีการรักษาก็คือผ่าตัดเปิดเส้นเอ็น ตัดปลอกหุ้มเอ็นตรงโคนนิ้วโป้งออก เพื่อให้ปลอกหุ้มเอ็นที่รัดมันคลายแล้วจะเหยียดนิ้วตรงได้ปกติค่ะ”
ผ่าตัดนิ้วล็อกในเด็ก ต้องมีทีมแพทย์เฉพาะทาง
การผ่าตัดนิ้วล็อก สำหรับผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เพียงแค่ฉีดยาชาที่นิ้ว แล้วคุณหมอตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นออกใช้เวลาประมาณ 20 นาทีเท่านั้น แต่สำหรับเด็กจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้ยาสลบ เพื่อให้ผู้ป่วยเด็กหลับ และมืออยู่นิ่งที่สุด และป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทที่อยู่ข้าง ๆ
“คุณหมอขรรค์ชัยได้ไป Consult กับหมอเด็กเฉพาะทางด้าน Critical Care ด้วยค่ะ ซึ่งท่านก็ได้ตรวจประเมินความพร้อมร่างกายก่อนผ่าตัด เพราะต้องการให้น้องปลอดภัยที่สุดในการรับยาสลบ”
“เราบอกน้องไว้ว่า เดี๋ยวผ่าตัดแล้วคุณหมอจะใส่ถุงมือโรบอทให้นะ น้องก็รับทราบ พอตื่นขึ้นมาพร้อมผ้าพันข้อมือ มีผ้าคล้องแขน น้องไม่ตกใจเลยค่ะ แล้วก็ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไม่บ่นเจ็บด้วย แผลเล็กนิดเดียวตรงโคนนิ้วโป้ง น้องตื่นมาก็พูดคุยปกติ เล่น ซน เริงร่าเหมือนเดิม หยิบดินสอสีมาระบายเล่นด้วย นอนโรงพยาบาล 1 คืน แล้วพักฟื้นที่บ้าน 10 วันรอให้แผลแห้ง”
ช่วงรอแผลแห้ง คุณหมอให้ระวังเรื่องฝุ่น หรือสิ่งสกปรกเข้าไปบริเวณแผล แล้วก็ไม่อยากให้โดนน้ำ หลังจากครบ 10 วันแล้ว น้องกลับมาพบคุณหมออีกครั้งเพื่อแกะผ้าพันแผลออก พบว่าแผลติดแห้งดี แนะนำให้ทาโลชั่น จับยืด สิ่งที่ทำให้คุณชนานันท์ปลื้มใจก็คือ รอยยิ้มกว้าง ๆ ของลูกสาว
“น้องดีใจมากค่ะ ยิ้มแบบฟินสุด ๆ เขาเล่นดินน้ำมัน ระบายสี ต่อเลโก้ ได้ปกติเลย พอกลับไปเรียนเปียโนก็กดโน้ตได้สบายขึ้น สาเหตุที่น้องฟื้นตัวเร็วอาจเพราะแผลค่อนข้างเล็ก ไม่มีความรู้สึกปวด และไม่ได้ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว หรือการใช้งานของมือค่ะ”
คุณชนานันท์ประทับใจ ในการให้บริการ และการดูแลรักษา ของทีมแพทย์และพยาบาล ที่นำหลักจิตวิทยามาใช้กับเด็ก ทำให้น้องมิลินไม่รู้สึกกลัวการผ่าตัด และอยากแนะนำผู้ปกครองที่ลูกน้อยมีอาการนิ้วล็อกควรพามาพบแพทย์
“ข้อนิ้วเล็ก ๆ ข้อเดียว เราก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะทำให้เขาขาดความมั่นใจหรือเปล่า เราอยากให้ความมั่นใจกับลูก แล้วก็ไม่ถูกจำกัดการใช้งาน ถ้าน้องอายุไม่เกิน 2 ขวบ แนะนำว่าให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อยืดนิ้วและชะลอการผ่าตัดออกไปให้นานที่สุด จนกระทั่งยืดแล้วไม่มีผลจริง ๆ ค่อยตัดสินใจผ่าตัดค่ะ แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละครอบครัว"
โรคนิ้วล็อกในเด็ก คืออะไร?
นิ้วล็อกในเด็ก (Pediatric Trigger Thumb) เป็นภาวะความผิดปกติของนิ้วหัวแม่มือ โดยจะมีลักษณะงอของข้อนิ้วหัวแม่มือ ไม่สามารถเหยียดนิ้วได้สุด ภาวะนี้พบได้ในเด็กที่มีอายุในช่วง 1 ปีแรกหลังคลอด
สาเหตุของโรคนิ้วล็อกในเด็ก ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด พยาธิสภาพของโรคคือ ปลอกหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วหัวแม่มือกดทับเอ็น สำหรับการรักษาให้สังเกตอาการภายใน 1 ขวบปีแรก หากหลัง 1 ขวบปีแล้วยังไม่สามารถเหยียดนิ้วได้ แนะนำให้ผ่าตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วหัวแม่มือ กับศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดมือใน
นิ้วล็อกในเด็ก มีโอกาสหายเองได้หรือไม่?
โดยปกติแล้ว โรคนิ้วล็อก สามารถเกิดได้ทั้งกับผู้ใหญ่และเด็ก นิ้วล็อกที่เกิดในผู้ใหญ่เป็นผลจากปลอกหุ้มเส้นเอ็นรัดเอ็นงอนิ้ว ทำให้เกิดอาการปวดที่โคนนิ้ว หากเป็นมาก ๆ จะทำให้นิ้วเกิดการสะดุด ซึ่งสังเกตเห็นได้จากเวลาตื่นนอน ผู้ป่วยจะมีอาการเวลาแบมือแล้วมีนิ้วหนึ่งเหยียดไม่ออก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพยายามดีดออก หรือถ้าเป็นหนักมากต้องเอามืออีกข้างมาช่วยง้างถึงจะหลุดได้ ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ใหญ่อายุประมาณ 40-50 ปีขึ้นไป จึงเชื่อกันว่าน่าจะสัมพันธ์กับอายุและการใช้งานของมือ
ส่วนนิ้วล็อกในเด็ก มักจะพบบ่อยในนิ้วหัวแม่มือ ในขณะที่ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย พบได้น้อย หากถามว่าเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือไม่ ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด เพราะทารกแรกเกิดมักจะกำมือตามธรรมชาติอยู่แล้ว จนกระทั่งผ่านไปสองเดือน สามเดือน ทารกเริ่มจับนู่นนี่ได้มากขึ้น ผู้ปกครอง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็จะสังเกตเห็นเวลาทารกแบมือออกมาแล้วนิ้วหัวแม่มือเหยียดไม่สุด
สำหรับเคสของน้องมิลิน นพ.ขรรค์ชัย มลังไพศรพณ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดมือ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
“ถ้าเป็นในช่วงขวบปีแรกยังมีโอกาสที่จะหายเองได้ครับ มีรายงานว่า 30% ที่มีโอกาสหาย หลุดออกมาเองได้ แต่หลัง 1 ขวบ เชื่อว่าโอกาสที่จะหายนั้นค่อนข้างยาก หมายความว่านิ้วจะเหยียดไม่สุด พอไม่สุดก็เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เด็กส่วนใหญ่ไม่เจ็บ มันไม่เหมือนนิ้วล็อกในผู้ใหญ่ อย่างกรณีน้องมิลินก็คือ มีปัญหาตอนเรียนเปียโน เวลาเด็กเหยียดไม่สุด ถ้าเราปล่อยนิ้วโตขึ้นเรื่อย ๆ นิ้วหัวแม่มือก็จะดูเป็นรูปร่างซิกแซก ข้อปลายนิ้วหัวแม่มืองอ แต่ข้อโคนนิ้วหัวแม่มือจะแอ่น”
การผ่าตัดรักษาภาวะนิ้วล็อคในเด็ก
ผู้ปกครองหลายคนพาลูกมาพบแพทย์ตอนอายุ 3-4 ขวบ ซึ่งการรักษาไม่ยุ่งยาก เนื่องจากพยาธิสภาพของนิ้วล็อคก็คือ ปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาตัว แพทย์จะทำการตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นทิ้ง ซึ่งการตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นไม่มีผลต่อการใช้งานหรือสูญเสียในอนาคต
“การฉีดยาชาให้กับเด็กคงไม่ไหว เพราะน้องจะเจ็บมาก เราต้องการให้น้องหลับสบาย ๆ จึงได้ให้ยาสลบครับ ขนาดของแผลผ่าตัดก็จะอยู่ประมาณ 0.5 ซม. ถ้าผู้ใหญ่จะอยู่ 1 ซม. โดยเราจะตัดตรงปลอกหุ้มเส้นเอ็นออก แล้วเย็บปิดแผล ปัญหานึงหลังผ่าตัดที่เรากลัวที่สุดคือแผลผ่าตัดติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากการที่มือเปียกน้ำ การเอามือไปจับนู่นนี่เล่นตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องใส่เฝือกในลักษณะที่ให้ศอกเหยียดไม่ได้ เราก็จะบอกน้องว่ามันเหมือนเป็นหุ่นยนต์นะ”
สำหรับเคสน้องมิลิน เป็นเคสที่ไม่ได้มีความซับซ้อน การรักษาเป็นไปตามแผนทุกประการ ปกติแล้วใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์แผลก็จะหายดี แต่โดยมากแพทย์จะให้ใส่เฝือกประมาณสองสัปดาห์ และไม่ต้องตัดไหม เพราะเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย
จะเกิดอะไรขึ้น หากไม่รักษาอาการนิ้วล็อคในเด็ก
เคยมีการศึกษาในต่างประเทศ ในกลุ่มเด็กที่ไม่ได้ทำการผ่าตัดรักษา พบว่าไม่ได้สูญเสียการใช้มือโดยทั่วไป สามารถหยิบของได้ เขียนหนังสือได้ ใช้มือในการทำกิจวัตรต่าง ๆ ได้ แต่ในระยะยาวข้อโคนนิ้วจะแอ่น และข้อปลายนิ้วจะงอ ถ้าต้องการใช้มือเพื่อทำกิจกรรมพิเศษ เช่น เล่นดนตรี ก็อาจจะมีปัญหาตามมา
“มันเป็นหลักตามธรรมชาติของโครงสร้างนิ้วมือ คือ ถ้าข้อใดข้อหนึ่งงอ ข้อที่อยู่ใกล้กันจะแอ่น เป็นการปรับตัวเพื่อให้นิ้วอยู่ในตำแหน่งซึ่งใช้งานได้ครับ”
นพ.ขรรค์ชัย ยังฝากทิ้งท้ายถึงคุณพ่อคุณแม่ ถ้าเห็นมีความผิดปกติของมือที่แปลกไป อย่ารอให้ลูกบ่นหรือบอกอาการเอง เพราะพฤติกรรมของเด็ก ถ้าไม่เจ็บจริง ๆ ก็จะไม่ร้อง หากนิ้วข้างหนึ่งไม่เหมือนอีกข้างหนึ่ง แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อประเมิน วินิจฉัยก่อนดีที่สุด