ทำอย่างไรเมื่อการนอนไม่หลับ กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง บ่อนทำลายสุขภาพ - When insomnia becomes persistent and negatively impact your health

ทำอย่างไรเมื่อการนอนไม่หลับ กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง บ่อนทำลายสุขภาพ

ปัญหาในการนอนหลับ หนึ่งในปัญหารบกวนคุณภาพชีวิต ที่ส่งผลโดยตรงต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต การนอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ นำมาซึ่งความเจ็บป่วยได้หลายอย่าง มีผู้นอนไม่หลับ นอนหลับยาก ต้องทุกข์ทรมานกับปัญหานี้อยู่ไม่น้อย

แชร์

ทำอย่างไรเมื่อการนอนไม่หลับ กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง บ่อนทำลายสุขภาพ

ปัญหาในการนอนหลับ หนึ่งในปัญหารบกวนคุณภาพชีวิต ที่ส่งผลโดยตรงต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต การนอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ นำมาซึ่งความเจ็บป่วยได้หลายอย่าง ปัจจุบัน มีผู้นอนไม่หลับ นอนหลับยาก ต้องทุกข์ทรมานกับปัญหานี้อยู่ไม่น้อย บทความนี้จึงจะชวนมาพูดคุยกับ นายแพทย์จิรยศ จินตนาดิลก แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ ผู้มีประสบการณ์การรักษาโรคการนอนหลับให้กับคนไข้มาแล้วมากมายนานนับสิบปี

โรคการนอนหลับ พบได้ทุกช่วงวัย

ปัญหาในการนอนหลับ เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย วัยเด็กอาจมีอาการตื่นขึ้นมากลางดึก การนอนละเมอ ตื่นขึ้นมาพูดหรือเอะอะโวยวาย (Confusional Arousals) อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกันมากคือ กลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่มีพฤติกรรมนอนไม่ตรงเวลา นอนดึกตื่นเช้าจนทำให้เกิด ภาวะนอนไม่พอ

“ในกลุ่มคนที่อายุมากขึ้นจะเริ่มพบปัญหาของโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ที่ทำให้คนกลุ่มนี้เข้านอนแล้วก็ยากที่จะหลับ หรือถึงหลับก็จะหลับ ๆ ตื่น ๆ รู้สึกไม่สดชื่นในตอนกลางวัน และนอกจากนั้น พออายุเยอะ และมีโรคอย่างอื่นร่วมด้วย เมื่อเนื้อเยื่อต่าง ๆ เริ่มเสื่อมสภาพ จะมีโอกาสมี ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ Sleep Apnea ซึ่งคนเป็นกันเยอะสูงถึง 1 ใน 5 ของผู้สูงวัย และส่งผลต่อสุขภาพทั้งส่วนตัวไปจนถึงส่วนรวม”

“ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษา เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ ถือว่าเยอะพอสมควรทีเดียวครับ”

ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คนที่นอนกรนมีโอกาสหยุดหายใจขณะหลับได้ง่าย ยิ่งอายุมากขึ้น น้ำหนักตัวมากขึ้น หรือในคนที่กรามล่างเล็ก ยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะนี้ และหากปล่อยไว้ไม่รักษา จะมีผลต่อสุขภาพ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ ปัญหาโรคซึมเศร้า ศักยภาพในการทำงานลดลง

 Dr Jirayos Chintanadilok    Insomnia 1

นอนไม่พอ ก่อความเสียหายมากกว่าที่คิด

การนอนหลับที่ดีจะต้องนอนอย่างต่อเนื่อง 6-8 ชั่วโมง โดยไม่มีการกระตุก ไม่ตื่นขึ้นมาระหว่างการนอน ซึ่งปัญหาการนอนไม่ต่อเนื่องมักพบได้จาก การลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนในคนอายุมาก บางรายเกิดจากโรคหัวใจ

รวมไปถึงเป็นโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับก็อาจลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อยเช่นกัน เพราะหัวใจต้องทำงานมากขึ้นในเวลาที่ร่างกายหยุดหายใจ โดยหัวใจจะส่งสัญญาณไปที่ไต ทำให้ไตขับปัสสาวะออกมามาก หากสามารถรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับได้ ก็จะทำให้การลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำลดลงไปด้วย

เมื่อนอนไม่หลับ ร่างกายจะได้รับผลกระทบตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงหนัก เช่น ในคนไข้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจถึงแก่ชีวิตได้หากมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจร่วมด้วย เพราะเมื่อหยุดหายใจ ทำให้ออกซิเจนในร่างกายลดลง หัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้น และอาจเสียชีวิต หรือที่หลายคนเรียกว่า ใหลตาย

ส่วนการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนไม่มีคุณภาพ ก็ส่งผลเสียทำให้ร่างกายไม่มีเวลาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หัวใจจะอ่อนแอมากขึ้น เพิ่มโอกาสการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองแข็งตัวมากขึ้น พลังสมองไม่พอ ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าได้ง่าย

สัญญาณที่บอกว่านอนไม่พอ

  • อ่อนเพลีย
  • งีบหลับง่ายในตอนกลางวัน
  • อารมณ์แปรปรวน

หากมีอาการ 3 อย่าง หรืออาการใดอาการหนึ่ง อาจเป็นสัญญาณเตือนว่านอนไม่พอ และจะส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพ

“ในอาชีพที่ต้องทำงานเป็นกะ อาชีพที่ต้องรับผิดชอบชีวิตคน และอาชีพที่ต้องใช้ความระมัดระวังและสมาธิสูง หากนอนไม่พอ โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดก็มากขึ้นตามไปด้วย และก่อให้เกิดความเสียหายได้ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงระดับประเทศได้เลยครับ”

โดยปกติแล้ว เมื่อนอนไม่พอ หากร่างกายไม่มีภาวะ กลไกที่ผิดปกติ ในวันต่อมาส่วนมากจะนอนหลับชดเชยได้ เพราะร่างกายสามารถปรับตัวเองให้สอดคล้องและสมดุลได้ แต่หากร่างกายอยู่ในภาวะผิดปกติหรือมีบางอย่างที่ทำให้กลไกการนอนผิดปกติก็อาจส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนอนหลับได้อย่างที่ควรจะเป็น อาทิ การดื่มกาแฟ เพราะในกาแฟมีสารที่ไปหยุดยั้งการทำงานของสารในสมองบางตัว ทำให้หลับยาก โดยกาแฟ 1 แก้วจะออกฤทธิ์ตั้งแต่ 30 นาทีถึง 6 ชั่วโมง ไม่เกิน 10 ชั่วโมง

 Dr Jirayos Chintanadilok - Insomnia 3

กาแฟ ยานอนหลับ ก็มีข้อเสีย 

“ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยคือ หลายคนคิดว่าดื่มกาแฟ ช่วยให้ตื่น ช่วยให้ทำงานได้เหมือนคนปกติที่ไม่ได้อดนอนหรือง่วงเพลีย ความจริงแล้ว กาแฟทำให้เราตื่นก็จริง แต่ไม่ได้ทำให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพเท่าคนปกติ และยังมีข้อเสียคือ ด้วยฤทธิ์ที่อยู่ได้นาน อาจทำให้เราเข้านอนช้าลง แล้วก็รู้สึกตัวตื่นบ่อยขึ้นครับ”

นอกจากการดื่มกาแฟแล้ว การใช้ “เมลาโทนิน” เพื่อช่วยให้หลับ ก็มีรายละเอียดที่ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเช่นกัน เพราะเป็นสารที่มีข้อบ่งใช้ค่อนข้างมาก บางการศึกษาพบว่า ยิ่งใช้ในคนอายุมาก อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงมากกว่าในคนอายุน้อย คุณสมบัติอาจช่วยเลื่อนเวลาให้นอนหลับได้เร็วขึ้น แต่ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการนอนและระยะเวลาในการนอนให้เพิ่มขึ้น และเมื่อตื่น อาจมีอาการเหมือนเมาค้าง

ส่วนยานอนหลับที่นิยมใช้กันทั่วโลกก็คือยาในกลุ่มไดอะซีแพม หรือยาแวเลียม ยาอัลปราโซแลม ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นสาร “กาบ้า” ที่ช่วยในการนอนหลับ ข้อดีคือหลับได้เร็ว แต่อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพการนอน ทำให้รู้สึกมึนเมื่อตื่นนอน

ยาอีกชนิดที่มักใช้กันคือ โซลพิแดม ปริมาณที่ใช้ไม่ควรเกิน 5 มิลลิกรัม เพราะหากใช้มากเกินไปยิ่งส่งผลข้างเคียง โดยเฉพาะการตื่นขึ้นมาแล้วกินกลางดึกโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ละเมอกิน’ 

“ส่วนสุดท้ายคืออาหารเสริม ที่ในปัจจุบันอาจยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันว่าได้ผลจริง และสารที่มาจากสมุนไพร ก็อาจจะมีในปริมาณไม่สูงพอที่จะก่อให้เกิดประสิทธิผล ตรงนี้คนไข้ต้องคำนึงถึง Placebo Effect หรือการกินยาหรือไม่กินยามีผลเท่ากัน เพียงแต่คิดไปเองว่ากินแล้วดีครับ”

ปัญหาการนอนที่เรื้อรัง ปล่อยไว้ไม่ดีแน่

“การนอนหลับที่ดี ไม่ใช่แค่ปริมาณเพียงพอแล้วจะดีนะครับ ต้องดูที่คุณภาพด้วย”

นายแพทย์จิรยศเล่าว่า คนไข้ที่มักมาด้วยปัญหาโรคการนอนหลับ มีตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยสูงอายุ แต่ที่พบบ่อยคือหนุ่มสาว เมื่อถึงวัยกลางคน ที่มักมาด้วยคำถามว่า อาการที่เป็นอยู่ใช่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ เป็นโรคลมหลับหรือไม่ คนเหล่านี้จะพบว่ามีปัญหาในการดำรงชีวิต  การทำงานที่หนัก มีความรับผิดชอบสูง ๆ ปัญหาในครอบครัว ส่งผลให้มีความกังวลเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดปัญหาโรคการนอนหลับได้

“มีการศึกษา พบว่าในผู้หญิง เมื่ออายุมากขึ้นจะมีโอกาสนอนไม่หลับมากกว่าผู้ชาย เพศจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาเหล่านี้ครับ”

ปัญหาการนอนหลับ ปล่อยไว้ไม่รักษาจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว นอกจากจะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานที่ต้องรับผิดชอบสวัสดิภาพของผู้อื่น หากทำงานไม่ได้เต็มศักยภาพ เกิดความผิดพลาด อาจก่อให้เกิดอันตราย

Sleep Test Banner 5

Sleep Test ช่วยบอกปัญหาการนอน ให้แพทย์วางแผนการรักษาอย่างตรงจุด

ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค มีแผนกเวชศาสตร์โรคจากการหลับ ให้บริการตรวจรักษาโรคการนอนหลับ โดยบุคลากรผู้ชำนาญเฉพาะทาง พร้อมเทคโนโลยีช่วยในการตรวจวินิจฉัย ทั้งการวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง วัดการทำงานของหัวใจ การหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การขยับตัวของกล้ามเนื้อ

วิธีการตรวจวิเคราะห์การนอน จะช่วยบอกปัญหาหรือภาวะผิดปกติทางการนอนหลับของคนไข้ได้ เพียงมาที่แผนก รับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง และเข้าสู่ Sleep Lab เพื่อตรวจการนอน 1 คืน หรือที่เรียกว่าการทำ Sleep Test

“คำถามที่ว่า เมื่อมาทำ Sleep Test คนไข้จะหลับได้จริงหรือ ทีมแพทย์จะสามารถเก็บข้อมูลได้ครบถ้วนหรือไม่ ตรงนี้เราพบว่าส่วนมากจะหลับได้ครับ เพราะเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ อาจมีรู้สึกตัวตื่นบ้างเล็กน้อย เพราะอาจต้องมีสายระโยงระยาง ส่วนในกรณีที่หลับยากจริง ๆ แพทย์ก็จะพิจารณาให้ยานอนหลับระยะสั้นเป็นตัวช่วยครับ”

นอกจากการตรวจการนอนในตอนกลางคืนแล้ว ที่แผนกยังมีการตรวจตอนกลางวัน เรียกว่า การตรวจสอบความง่วงนอน (Multiple Sleep Latency Test : MSLT) ในกลุ่มคนที่เป็นโรคลมหลับ เพื่อตรวจว่าคนไข้มีความสามารถต้านการนอนหลับได้มากแค่ไหน 

คล้ายกับการตรวจการตื่นตัว (Maintenance of wakefulness test : MWT) ซึ่งมักใช้ตรวจในกลุ่มนักบินว่าสามารถตื่นตัวตลอดเวลาได้นานมากน้อยแค่ไหน สามารถบอกได้ว่า มีศักยภาพในการทำงานเพียงพอไหม มีปัญหาเรื่องความเหนื่อยล้าได้ง่ายหรือไม่ โดยอาชีพที่ควรมาตรวจ เช่น นักบิน พนักงานการบิน พนักงานบนหอบังคับการการบิน คนขับรถขนส่ง รถสาธารณะ และกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานเป็นกะ ซึ่งมีโอกาสป่วยเป็นโรคการนอนหลับได้เยอะกว่าคนทั่วไป

“ในการมาตรวจ แพทย์จะใช้การซักประวัติร่วมด้วย ประกอบกับให้คนไข้ทำแบบสอบถาม เพื่อดูว่าในแต่ละวัน คนไข้นอนกี่โมง ตื่นกี่โมง มีปัญหาอะไรไหม วันที่หลับง่ายหรือหลับยากได้ทำหรือกินอะไรช่วงก่อนเข้านอนไหม ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตรวจที่เพียงพอครับ”

ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ช่วยให้คนไข้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“โรคการนอนหลับ มันไม่ใช่เรื่องของร่างกายอย่างเดียว มันเกี่ยวข้องกับจิตใจด้วย ในคนที่มีปัญหาด้านจิตใจ มีความวิตกกังวล ซึมเศร้า คนเหล่านี้ต้องได้รับการบำบัดทางจิตร่วมด้วย ซึ่งที่ศูนย์ฯ ก็จะพิจารณาให้จิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดเข้ามาช่วยดูแลครับ”

สำหรับคนไข้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่ศูนย์ฯจะมีเครื่องช่วยหายใจที่เรียกว่า Continuous Positive Airway Pressure หรือ CPAP และ Automatic Positive Airway Pressure หรือ APAP ที่จะสามารถช่วยให้คนไข้ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอขณะนอนหลับ

นอกจากนี้ที่แผนกยังทำงานร่วมกับศูนย์ทันตกรรม เพื่อให้ทันตแพทย์เข้ามาช่วยดูแลในกรณีที่ปัญหาโรคการนอนหลับ เกิดจากความผิดปกติทางสรีระ โดยจะพิจารณาการดึงกรามล่าง เพื่อเพิ่มขนาดของทางเดินหายใจ หรือในกรณีที่คนไข้มีปัญหาไซนัสอักเสบ ก็มีแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาด้วย

“โดยปกติแล้ว การแก้ปัญหาโรคการนอนหลับของที่แผนก หลังจากรักษาประมาณหนึ่งถึงสองเดือน ก็จะเริ่มเห็นผลลัพธ์แล้วครับ หากคนไข้ปฏิบัติตามที่แพทย์ให้คำแนะนำ เมื่อพบโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วรักษาอย่างตรงจุด อาการของคนไข้ก็จะดีขึ้น”

“เพราะปัญหาโรคการนอนหลับของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน อาจเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างการ แพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ จึงต้องช่วยกัน ทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้คนไข้แต่ละคน ให้เขาได้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอนหลับได้ครับ”

นายแพทย์จิรยศยังทิ้งท้ายไว้ว่า หากคุณนอนพออยู่แล้ว 6-8 ชั่วโมง แต่มีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อ่อนเพลียเมื่อตื่นตอนเช้า งีบหลับตอนกลางวัน หรืออารมณ์แปรปรวนระหว่างวัน อาจเป็นสัญญาณของปัญหาโรคการนอนหลับ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจการนอนหลับ เพราะหลายราย ที่ไม่รู้ตัวว่ามีปัญหา และมารู้ตัวอีกที ปัญหาเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคนไข้แล้ว


เผยแพร่เมื่อ: 01 ธ.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่ถูกเอ่ยถึง

  • Link to doctor
    ผศ.นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    ผศ.นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    • อายุรศาสตร์
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    • เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, อายุรศาสตร์โรคปอด, อายุรกรรมผู้สูงอายุ, อายุรกรรมทั่วไป