ศูนย์เวชศาสตร์จีโนม

ชั้น 4 เคาน์เตอร์ B

โทร. 02-023-3333 (Call Center)

08:00 - 16:00 น.

ศูนย์เวชศาสตร์จีโนม

โครงการจีโนมมนุษย์ (Human Genome Project) ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นในปีพ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) และสำเร็จลุล่วงในอีก 13 ปีต่อมาในปีพ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) ถือเป็นความพยายามอันยิ่งใหญ่ของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติในการถอดรหัสดีเอ็นเอมนุษย์กว่า 3 พันล้านคู่ เพื่อระบุและจัดทำแผนที่ยีนจนประกอบขึ้นเป็นรหัสพันธุกรรมหรือจีโนมของมนุษย์ทั้งหมด โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณสูงถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความรุดหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรมช่วยลดต้นทุนการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมดให้ลดลงต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และใช้ระยะเวลาดำเนินการเพียง 1-3 วัน ความก้าวหน้านี้ช่วยให้การวินิจฉัยพันธุกรรมสามารถทำได้จริงในเชิงเศรษฐกิจ และช่วยเปิดประตูสู่การแพทย์เฉพาะบุคคล เพื่อมอบการรักษาที่ออกแบบให้เหมาะสมกับลักษณะทางพันธุกรรมของแต่ละบุคคล การผสมผสานความรู้ทางพันธุกรรมของโรคเข้ากับข้อมูลจีโนมของแต่ละบุคคล ช่วยในการจัดการดูแลสุขภาพแบบครอบคลุม ตั้งแต่การพยากรณ์ความเสี่ยงต่อโรค การวินิจฉัยสาเหตุของความเจ็บป่วย การวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคลอย่างเหมาะสม ไปจนถึงการพยากรณ์การถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูกอย่างแม่นยำ อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการเกิดโรคของทารกในครรภ์ได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

เวชศาสตร์จีโนม ได้รับประโยชน์จากการค้นพบที่ปฏิวัติวงการเทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดูแลสุขภาพจาก "การรักษาเมื่อเกิดโรค" สู่ "การป้องกันก่อนเกิดโรค" ผ่านการถอดรหัสพันธุกรรมและการวิเคราะห์ข้อมูลชีวสารสนเทศ ช่วยให้พยากรณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตั้งแต่ต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เวชศาสตร์จีโนมยังส่งเสริมการแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) ที่ตอบสนองต่อคุณลักษณะเฉพาะตัวของผู้ป่วย และช่วยลดต้นทุนด้านสุขภาพในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน

ตัวอย่างการนำวิทยาการด้านเวชพันธุศาสตร์มาใช้ป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงของโรคทางพันธุกรรมที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก คือ กรณีของดาราภาพยนต์หญิง แองเจลีนา โจลี เธอได้เข้ารับการตรวจรหัสพันธุกรรมและพบการกลายพันธุ์ในยีน BRCA1 ซึ่งเป็นยีนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ผลการตรวจแสดงว่าเธอมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึง 87% ซึ่งคล้ายกับคุณแม่ของเธอที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ในขณะอายุ 56 ปี เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว แองเจลีนา โจลี ได้ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้างแบบป้องกัน (prophylactic mastectomy) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมตลอดชีวิตลงเหลือเพียง 5% และต่อมาแองเจลีนาก็เข้ารับการผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ (ovariectomy)  เนื่องจากการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่เช่นกัน การตัดสินใจครั้งนี้เป็นตัวอย่างสำคัญของการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมเพื่อป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้ข้อมูลทางเวชศาสตร์จีโนม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจโครงสร้างและหน้าที่ดีเอ็นเอ (DNA) มีบทบาทสำคัญในหลากหลายด้านของการดูแลสุขภาพ:

  • การวางแผนครอบครัว: รวมถึงการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมก่อนมีบุตร ตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ และเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
  • การประเมินความเสี่ยงต่อโรคในอนาคต: เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • การวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรม: เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม 
  • การรักษาเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine): การตรวจพันธุกรรมช่วยปรับแผนการรักษา เช่น การเลือกใช้ยาและปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของผู้ป่วย
  • การป้องกันและวางแผนสุขภาพล่วงหน้า: เมื่อตรวจพบความเสี่ยงทางพันธุกรรม สามารถวางแผนป้องกัน เช่น การปรับพฤติกรรม การตรวจคัดกรองโรคสม่ำเสมอ หรือการผ่าตัดป้องกันโรคมะเร็งในกรณีมียีน BRCA กลายพันธุ์

โรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้นำเทคโนโลยีในการให้บริการด้านสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) มาใช้เพื่อส่งมอบการให้บริการด้านสุขภาพที่ครบถ้วน ตอบโจทย์ความต้องการในทุกมิติอย่างแท้จริง

ทำไมต้อง ศูนย์เวชศาสตร์จีโนม ที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค

  • ทีมแพทย์เฉพาะทางระดับสากล: ให้บริการดูแลและให้คำปรึกษาด้านพันธุเวชศาสตร์โดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีประสบการณ์สูง ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ พร้อมทำงานร่วมกับแพทย์เฉพาะทางในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อการวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว และไร้รอยต่อ
  • ตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมโดยผู้ชำนาญการ: ตรวจวิเคราะห์และรายงานผลทางเวชพันธุศาสตร์โดยนักเทคนิคการแพทย์ที่มีประสบการณ์ในห้องปฏิบัติการจีโนมมิกส์ ได้รับการรับรองจากสภาเทคนิคการแพทย์ ด้วยประสบการณ์มากกว่า 20 ปีในเทคโนโลยี Next-Generation Sequencing (NGS) และเป็นที่ปรึกษาให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านการประเมินอุปกรณ์ตรวจวินิจฉัย (In Vitro Diagnostics Assessment)
  • ให้คำปรึกษาทั้งก่อนและหลังการรับทราบผลตรวจ: โดยพยาบาลวิชาชีพเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ ซึ่งผ่านการฝึกอบรมจนได้รับประกาศนียบัตร และใบรับรองคุณวุฒิผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อประกอบการตัดสินใจเข้ารับบริการด้านเวชพันธุศาสตร์ 
  • ห้องปฏิบัติการมาตรฐานสากล: ออกแบบอย่างพิถีพิถันตามหลักการ Unidirectional Flow เพื่อลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ของห้องปฏิบัติการ พร้อมจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอการรับรองมาตรฐาน ISO 15189, ISO 15190, และ CAP (College of American Pathologists)
  • ความร่วมมือระดับนานาชาติ: ร่วมมือกันกับ Northwestern Medicine ของมหาวิทยาลัย Northwestern รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการพัฒนาห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานระดับโลกในการตรวจยีนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง ทั้งในเชิงป้องกันและรักษา 
  • เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำ: นำเทคโนโลยี Next-Generation Sequencing (NGS) ในการถอดรหัส ดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) ได้อย่างละเอียด ครอบคลุม และรวดเร็ว พร้อมด้วยระบบ Bioinformatics และ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ ภายใต้ระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มงวด
  • รายงานผลการตรวจยีนในรูปแบบที่ชัดเจน เข้าใจง่าย: ช่วยให้ผู้รับบริการสามารถนำข้อมูลไปใช้วางแผนครอบครัว การดูแลสุขภาพ และการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โรคและภาวะผิดปกติ (Diseases and Disorders) 

  • การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม (Genetic Mutations) เช่น การเปลี่ยนแปลงของยีนที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ในขณะที่กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) เกิดจากความผิดปกติของจำนวนโครโมโซม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง
  • ความเสี่ยงทางสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalized Health Risks) ต่อการเกิดโรคร้าย เช่น โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ โรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน
  • เภสัชพันธุศาสตร์ (Pharmacogenomics) เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาความแปรผันทางพันธุกรรมที่มีอิทธิพลต่อการเผาผลาญยาและผลทางคลินิกของยา ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ในยีน CYP2C19 อาจมีการตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะบางชนิดแตกต่างกันออกไป การนำความรู้ด้านเภสัชพันธุศาสตร์มาใช้ช่วยลดผลข้างเคียงและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา 
  • ข้อมูลเชิงลึกของโรค (Disease Insights) ช่วยให้เข้าใจกลไกของการเกิดโรคได้ในระดับโมเลกุล เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 

การบริการตรวจวินิจฉัยทางเวชศาสตร์จีโนม

  • การตรวจพันธุกรรมเพื่อวางแผนครอบครัว (Genetic Testing for Family Planning) เพื่อช่วยให้คู่สมรส หรือผู้ที่วางแผนมีบุตร เข้าใจถึงความเสี่ยงของการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมไปยังลูกในอนาคต ซึ่งการตรวจนี้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของยีนหรือโครโมโซม โดยการตรวจที่ได้รับความนิยมและมีความแม่นยำสูง ได้แก่
    • การตรวจ NIPT (Non-Invasive Prenatal Testing) เป็นการตรวจคัดกรองยีนเพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซมของทารกในครรภ์ผ่านการตรวจเลือดของมารดา โดยตรวจหาดีเอ็นเอของทารกที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด การตรวจ NIPT ช่วยลดข้อผิดพลาดในการตรวจภาวะต่าง ๆ เช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ความผิดปกติของโครโมโซมอื่นๆ  รวมถึงยังช่วยลดความเสี่ยงในการแท้งบุตร
    • การตรวจ PGT-A (Preimplantation Genetic Testing for Aneuploidy) เพื่อตรวจคัดกรอง วินิจฉัยความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อนก่อนย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญของรักษาภาวะผู้มีบุตรยากด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) 
  • การตรวจที่จะพร้อมให้บริการในอนาคตอันใกล้ เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคลอย่างครบวงจร ได้แก่ การตรวจหาความเสี่ยงต่อมะเร็งจากพันธุกรรม (Genetic Cancer Screening) การตรวจหาความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรม (Genetic Testing) การตรวจวินิจฉัยทางเภสัชพันธุศาสตร์ (Pharmacogenomics)  และการตรวจจีโนมทั้งหมดเพื่อการรักษาเฉพาะบุคคล (Personalized medicine)

ความชำนาญพิเศษ

  • ตรวจสอบข้อมูลด้านพันธุกรรม เพื่อวางแผนการรักษาโรคที่เจาะจง และตรงจุดมากขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนยาและการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดผลข้างเคียง และช่วยฟื้นฟูสุขภาพได้เร็วขึ้น
  • วางแผนรักษาโรคยากซับซ้อนด้วยข้อมูลพันธุกรรม สามารถระบุปัจจัยเสี่ยงของโรคได้ในระยะเริ่มต้น ทำให้สามารถออกแบบกลยุทธ์การรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ในการรักษาโรคทางพันธุกรรมที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ
  • วางแผนดูแลสุขภาพของผู้ป่วยในระยะยาวด้วยชุดข้อมูลทางพันธุกรรม โดยทำงานร่วมกับแพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าโรคที่มีความซับซ้อน และมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาจะได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และมีความเหมาะสมมากที่สุด
  • ใช้เทคโนโลยีการตรวจยีนร่วมกับการวิจัยทางคลินิก เพื่อขับเคลื่อนการตรวจวินิจฉัย การวิเคราะห์ และการพัฒนาแนวทางการรักษาใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

เผยแพร่เมื่อ: 21 ม.ค. 2025

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. ประสิทธิ์ เผ่าทองคำ

    นพ. ประสิทธิ์ เผ่าทองคำ

    • อายุรศาสตร์
    • เวชพันธุศาสตร์
    เวชพันธุศาสตร์, อายุรกรรมทั่วไป