สิว (Acne)
สิว (Acne) คือ สภาพผิวที่เกิดจากการอุดตันด้วยน้ำมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้วภายในต่อมไขมันใต้ระดับรูขุมขนจนทำให้เกิดสิวที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ ขึ้นบริเวณปากรูขุมขนบนผิวหนัง สิวอักเสบ คือ สิวที่เกิดจากการอุดตันสะสมภายในผิวหนังเหนือชั้นไขมัน (Subcutis) และขยายตัวออกชั้นผิวหนังด้านนอกร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรียเกิดเป็นสิวหัวเหลือง สิวหนอง สิวหัวขาว สิวหัวดำ หรือสิวชนิดอื่น ๆ ที่กดแล้วเจ็บ หรือกดแล้วไม่เจ็บตามการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย สิวอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในผิวหนังชั้นลึกอาจทำให้เกิดเป็นก้อน เป็นไตแข็งที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์
สิว มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
สิวมีสาเหตุเกิดจากการอุดตันภายในรูขุมขนที่เกิดจากการผลัดเซลล์ผิว น้ำมัน หรือส่วนของไขมันที่ถูกขับออกจากต่อมไขมันใต้ชั้นผิวหนังผ่านท่อขนาดเล็กลงสู่รูขุมขนจนเกิดการอุดตันและสะสมทำให้เกิดสิว สาเหตุของการเกิดสิว ได้แก่
- น้ำมัน หรือส่วนของไขมัน (Sebum) ที่เกิดจากการสังเคราะห์ของต่อมไขมันใต้ผิวหนังชั้นบน ที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันผิวหนังชั้นล่าง
- เซลล์ผิวที่ตายแล้ว (Dead skin cells) โดยปกติ ผิวหนังจะผลัดผิวเซลล์ที่ตายแล้ว เพื่อให้เซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาแทนที่ การผลัดเซลล์ผิวในรูขุมขนทำให้เกิดการสะสมจนเกิดการอุดตัน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสิว รอยแดง และอาการเจ็บสิว
- แบคทีเรีย (Bacteria) แบคทีเรียตามธรรมชาติที่อาศัยอยู่ในรูขุมขนและบนผิวหนังเป็นจำนวนมากจนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการสะสมอุดตันและเกิดสิว
- การอักเสบ และการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย (Inflammation and immune response) เป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายต่อเชื้อแบคที่เรีย หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อเกิดเป็นสิวบวมแดง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิว มีอะไรบ้าง?
สิวมีสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก โดยอาจเกิดจากสาเหตุเดียวหรือเกิดจากหลายสาเหตุรวมกัน ดังนี้
ปัจจัยภายในร่างกาย
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนที่สูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น หรือวัยเจริญพันธุ์ทำให้เกิดการกระตุ้นต่อมไขมันให้ขับน้ำมันออกมามากกว่าปกติ เกิดการสะสมจนอุดตันร่วมกับเซลล์ผิวเสียและแบคทีเรียทำให้เกิดสิวอักเสบ
- การตั้งครรภ์ หรือช่วงก่อนการมีประจำเดือน วัยรุ่นช่วงอายุ 11-14 ปี จะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เกิดการอักเสบของรูขุมขนและเกิดสิว
- กรรมพันธุ์ (Genetics) เช่น พ่อ หรือแม่ที่มีประวัติเป็นสิวอักเสบ หรือสิวเรื้อรัง ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นสิวชนิดเดียวกัน
- โรคบางชนิด เช่น โรคถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic ovary syndrome)
- ความเครียด (Stress) ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งทำให้เกิดสิว
ปัจจัยภายนอกร่างกาย
- อาหารบางชนิด เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ช็อกโกแลต หรืออาหารจำพวกแป้ง ทั้งนี้อาหารที่เป็นสาเหตุให้เกิดสิวของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน
- ยาบางชนิด เช่น ยาที่มีส่วนผสมของคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เทสโทสเตอโรน (Testosterone) หรือลิเธียม (Lithium)
- เครื่องสำอางบางชนิด และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เช่น แป้งทาหน้า หรือครีมบางชนิดที่ทำให้เกิดการระคายเคือง แพ้ หรือการเกิดการอุดตันในรูขุมขน
- สิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น ควัน มลภาวะเป็นพิษทางอากาศ PM2.5 ความไม่สะอาด
- สภาพอากาศ อุณหภูมิ เช่น อากาศร้อน และความชื้น
บริเวณที่พบสิวขึ้นได้บ่อยในร่างกาย มีส่วนไหนบ้าง?
- ใบหน้า จมูก แก้ม คาง หน้าผาก
- หน้าอก
- ไหล่
- หลังส่วนบน
- บริเวณต่อมไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
สิว มีกี่ชนิด?
สิวมีหลายชนิด โดยสามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ สิวไม่อักเสบ และสิวอักเสบ
- สิวไม่อักเสบ
- สิวอุดตัน (Comedones) คือ สิวที่เกิดจากการสะสมอุดตันของไขมันส่วนเกิน เซลล์ผิวเสีย หรือสิ่งสกปรกตกค้างในรูขุมขนจนทำให้เกิดสิวอุดตันทั้งแบบสิวหัวเปิด สิวหัวปิด หรือสิวอุดตันใต้ชั้นผิวหนัง สิวอุดตันแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- สิวหัวขาว (Whiteheads) คือ สิวอุดตันชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีขาวหัวปิด โดยมีสาเหตุการเกิดทั้งจากปัจจัยภายใน เช่น ระดับฮอร์โมน การอุดตันของน้ำมันหรือเซลล์ผิวเสีย หรือกรรมพันธุ์ หรือปัจจัยภายนอก เช่น ยาคุมกำเนิด เครื่องสำอาง หรือฝุ่นละออง มลภาวะในอากาศ ทำให้เกิดจากการอุดตันของน้ำมัน และเซลล์ผิวเสียในรูขุมขนที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีขาวใต้ผิวหนังที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อ และสิวอักเสบ
- สิวหัวดำ (Blackheads) เกิดจากไขมันส่วนเกิน เส้นขน หรือเซลล์ผิวเสียที่ทับถมอุดตันในรูขุมขน และทำปฏิกิริยากับเมลานินหรือเม็ดสีในผิวหนังร่วมกับออกซิเจนจนทำให้เป็นสิวหัวดำที่มีลักษณะเป็นสิวหัวเปิด หรือสิวเสี้ยน โดยทั่วไป สิวหัวดำเป็นสิวชนิดที่พบได้บ่อยและไม่ร้ายแรง
- สิวเสี้ยน (Pimples) คือ สิวที่พบได้ทั่วไปบนใบหน้า มีลักษณะเป็นสิวเล็ก ๆ คล้ายหนามที่เกิดจากความผิดปกติของรูขุมขนที่มีกระจุกขนเส้นเล็ก ๆ หลายเส้นขึ้นแทรกอยู่บนหัวสิวภายในรูขุมขนเดียวกัน เมื่อขนอ่อนที่อุดตันร่วมกับไขมัน และเซลล์ผิวเสียส่งผลให้เกิดสิวเสี้ยนตามมา
- สิวผด (Acne aestivalis) เป็นสิวหัวเปิดที่เกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยรังสี UVA ความร้อนจากแสงแดด หรืออากาศร้อน ทำให้เกิดเป็นสิวผดที่มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ คล้ายสิวอุดตัน หรือตุ่มแดงคล้ายสิวอักเสบ
- สิวอุดตัน (Comedones) คือ สิวที่เกิดจากการสะสมอุดตันของไขมันส่วนเกิน เซลล์ผิวเสีย หรือสิ่งสกปรกตกค้างในรูขุมขนจนทำให้เกิดสิวอุดตันทั้งแบบสิวหัวเปิด สิวหัวปิด หรือสิวอุดตันใต้ชั้นผิวหนัง สิวอุดตันแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- สิวอักเสบ
- สิวอักเสบ (Papules) คือ สิวที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดงเข้มถึงสีม่วง หรือมีสีเข้มกว่าสีผิวตามธรรมชาติ เป็นสิวที่กดแล้วเจ็บ โดยมักเกิดจากสิวหัวขาวที่ถูกกระตุ้นด้วยแบคทีเรียจนทำให้เกิดการอักเสบรุนแรง
- สิวหัวหนอง (Pustules) หรือสิวหัวเหลือง คือ สิวอักเสบชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นตุ่มบวมแดงขนาดใหญ่ที่ฐาน ด้านบนเป็นหนองสีเหลือง บวมนูน เป็นหนองที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ตายจากการต่อสู้กับเชื้อแบคที่เรียที่ทำให้เกิดการอักเสบและเป็นสิว ทั้งสิวหัวหนองขนาดเล็ก และสิวหัวหนองขนาดใหญ่
- สิวอักเสบขนาดใหญ่ (Nodules) หรือสิวไต คือ สิวอักเสบที่อยู่ชั้นผิวหนังด้านล่างคล้ายสิวหัวช้าง แต่เล็กกว่า มีลักษณะเป็นก้อนนูนแดง เมื่อจับจะเป็นก้อนไตแข็งใต้ผิวหนัง ไม่มีหัว มักพบที่บริเวณใบหน้า หลัง หน้าอก สิวไตเป็นสิวที่ต้องใช้เวลาในการรักษา และอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็น
- สิวเชื้อรา หรือสิวยีสต์ (Malassezia folliculitis) เกิดจากการอักเสบของต่อมรูขุมขนที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อราประเภทยีสต์ (Malassezia species) เป็นสิวที่มีลักษณะเป็นตุ่มแดงและมีอาการคัน โดยมีปัจจัยจากสภาพอากาศที่ร้อน อับชื้น หรือเมื่อมีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
- สิวหัวช้าง (Acne conglobata) เป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรงที่มีหัวสิวขนาดใหญ่ เป็นตุ่ม หรือก้อนไตสีแดงที่เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันใต้ชั้นผิวหนังบนใบหน้าที่ผลิตไขมันออกมามากกว่าปกติจนไปอุดตันรูขุมขนและเกิดเป็นสิวอักเสบ บวม นูน ที่มีอาการเจ็บรุนแรงแม้ไม่ได้กด อาการเจ็บอาจร้าวไปที่ผิวหนังรอบ ๆ โดยไม่ทุเลาลงในเร็ววัน ควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษา
- สิวซีสต์ (Acne cysts) เป็นสิวที่มีลักษณะเป็นก้อนนูนแดงขนาดใหญ่ ภายในเป็นโพรงมีหนองปนเลือดที่เกิดจากการอักเสบรุนแรงใต้ชั้นผิวหนัง สิวซีสต์เป็นสิวที่มีระดับความเจ็บปวดมากที่สุด เป็นสิวที่มีหัวสิวหลายหัวกระจุกตัวรวมกันเป็นไตแข็ง และสามารถขยายขนาดใหญ่ขึ้นได้ หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เป็นสิวเรื้อรัง เป็นแผลเป็น หรือเป็นหลุมสิวขนาดใหญ่ ควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษา
สิว มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร?
แพทย์ผิวหนังจะทำการตรวจวินิจฉัยสิวโดยการประเมินสภาพผิวภายนอกเพื่อระบุประเภทของสิวและรอยโรค รวมทั้งตรวจระดับความรุนแรง การอักเสบ ขนาดและสี บริเวณที่เป็นสิว อาการเจ็บปวด รวมถึงผลกระทบทางจิตใจ จากนั้นแพทย์จะทำการซักประวัติเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่อาจเป็นที่มาของสิว หรือปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดสิว เช่น
- อาหารที่ทานเมื่อเร็ว ๆ นี้ หรือการทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง
- การมีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นสิว
- ความเครียด
- การมีรอบเดือน
- การตั้งครรภ์
- การอดนอน
- เครื่องสำอาง สบู่ล้างหน้า
- การทานยาบางชนิด หรือการหยุดยาบางชนิด
- ประวัติการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ
ทั้งนี้แพทย์อาจขอให้มีการนำเนื้อเยื่อผิวไปตรวจเพิ่มเติมที่ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติอื่น ๆ
สิว มีวิธีการรักษาอย่างไร?
เป้าหมายในการรักษาสิวของแพทย์ผิวหนัง คือการช่วยให้สิวยุบตัวลงโดยเร็ว หยุดการเกิดสิวใหม่ และป้องกันการเกิดแผลเป็น โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยารักษาสิวทั้งชนิดรับประทาน หรือชนิดที่ทาภายนอก โดยคำนึงถึง อายุ ชนิดของสิว และระดับความรุนแรง และช่วยลดการทำงานของต่อมไขมันบนใบหน้า การเกาะตัวกันของเซลล์ในรูขุมขนที่ผิดปกติ รวมถึงช่วยลดระดับไขมันใต้ชั้นผิวหนัง ลดแบคทีเรีย และลดการอักเสบ
ยาทาเฉพาะที่ หรือยารักษาสิวชนิดใช้ภายนอก (Topical medications)
- ยาปฏิชีวนะชนิดทา (Topical antibiotics) โดยใช้ร่วมกับยาทาเฉพาะที่ชนิดอื่น เช่น ยาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) เพื่อยับยั้งแบคทีเรีย และลดการผลิตน้ำมัน
- ยาทาเรตินอยด์ (Retinoids) ที่มีส่วนผสมของอนุพันธ์วิตามิน A เพื่อรักษาสิวและรอยโรคที่อาจทำให้เกิดสิวซ้ำ และช่วยลดเลือนริ้วรอยจากแผลเป็น
- กรดอะเซลาอิก (Azelaic acid) และกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยสลายสิวหัวดำและสิวหัวขาว และยังช่วยลดการผลัดเซลล์ผิวในรูขุมขน
- ซัลเฟอร์ (Sulfur) หรือกำมะถัน มีประสิทธิภาพช่วยสลายสิวหัวดำ และสิวหัวขาว
ยารักษาสิวชนิดรับประทาน (Oral medications)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ที่ช่วยชะลอ หรือหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและลดการอักเสบ โดยแพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานร่วมกับชนิดที่ใช้ทาภายนอกสำหรับสิวที่มีระดับความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก เช่น สิวอักเสบชนิดรุนแรง หรือสิวเรื้อรัง
- ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (Oral contraceptives) ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว
- ฮอร์โมนต้านฤทธิ์แอนโดรเจน (Anti-androgen agents) เป็นยาต้านฮอร์โมนแอนโดรเจนสำหรับผู้หญิง มีคุณสมบัติช่วยลดผลกระทบของฮอร์โมนแอนโดรเจนที่ส่งผลต่อการทำงานของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง
- เรตินอยด์ (Retinoids) หรือยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามิน A ช่วยรักษาสิวโดยการช่วยเปิดรูขุมขนเพื่อให้ยาชนิดอื่น ๆ เช่น ยาปฏิชีวนะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันการเกิดสิวใหม่ และช่วยลดเลือนแผลเป็นจากสิว
ทั้งนี้ แพทย์ผิวหนังจะเป็นผู้พิจารณาทางเลือกในการรักษาที่ดีที่สุดของแต่ละบุคคล โดยคำนึงถึงผลการตรวจวินิจฉัยสภาพผิวโดยละเอียด
การรักษาสิวด้วยการบำบัด (Acne therapies)
ในผู้ที่เป็นสิวอักเสบรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่และ/หรือยารักษาสิวชนิดรับประทาน แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการอื่น ๆ ในการรักษา เช่น
- การบำบัดด้วยแสง (Light therapy) เป็นการฉายแสง LED ความเข้มสูงช่วยกระตุ้นกลไกการฟื้นฟูของเซลล์ผิว และช่วยลดเลือนริ้วรอย
- การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical peeling) เป็นการบำบัดด้วยสารเคมีเพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกเพื่อสร้างเซลล์ผิวใหม่
- การกดสิว (Comedone extraction) แพทย์อาจพิจารณาการรักษาสิวโดยการกดสิวทั้งสิวหัวขาว สิวหัวดำ สิวซีสต์ที่รักษาไม่หายด้วยการยาทาเฉพาะที่เพื่อช่วยด้านภาพลักษณ์และบุคลิกภาพของผู้รับการรักษา อย่างไรก็ตามการกดสิวอาจทำให้เกิดแผลเป็น และอาจต้องมีการบำบัดสภาพผิวเพิ่มเติม
- ยาฉีดสเตียรอยด์ (Steroid injection) แพทย์อาจพิจารณาให้ยาฉีดสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดการอักเสบของสิวอักเสบชนิดรุนแรง โดยฉีดตรงไปที่ผิวหนังบริเวณสิวอักเสบเพื่อช่วยให้สิวยุบตัวเร็วและลดความเจ็บปวด โดยอาจมีผลข้างเคียงคือทำให้ผิวบาง และสีผิวบริเวณที่ฉีดเข้มขึ้น
การป้องกันการเกิดสิว มีวิธีอย่างไร?
- ล้างหน้าให้สะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิว และทาครีมบำรุงผิวสูตรอ่อนโยน
- อาบน้ำ ล้างหน้า สระผมเป็นประจำเพื่อกำจัดสิ่งสกปรก ฝุ่นละออง หรือแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหน้า เช่น สครับขัดผิว มาสก์หน้าที่มีส่วนผสมของน้ำหอม
- เลือกใช้เครื่องสำอางที่ปราศจากส่วนผสมของน้ำมันและควรมีส่วนผสมของครีมกันแดด หรือเลือกใช้เวชสำอาง
- โกนหนวดอย่างระมัดระวัง เลือกครีมโกนหนวดสูตรอ่อนโยนต่อผิว
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง หรือไขมันสูง
- หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดโดยตรงเป็นเวลานาน
- ไม่ใช้มือที่ไม่ได้ทำความสะอาดสัมผัสโดยตรงที่ใบหน้า
- ออกกำลังกาย และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และไม่เครียด
สิว ปัญหาผิวกวนใจ เร่งรักษาไว ช่วยลดรอยแผลเป็น
สิว เป็นความผิดปกติของสภาพผิวที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนทั้งหญิงและชายจากหลากหลายปัจจัย โดยพบได้ตั้งแต่ช่วงเข้าสู่วัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ สิวทำให้สูญเสียบุคลิกภาพและความมั่นใจในการเข้าสังคม อย่างไรก็ตาม สิวสามารถหายได้เองด้วยการหมั่นดูแลรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
ผู้ที่เป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรง เช่น สิวหัวช้าง สิวเชื้อรา สิวซีสต์ สิวเรื้อรังรักษาไม่หาย หรือสิวที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาทาเฉพาะที่ ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังที่มีความชำนาญในการวิเคราะห์สภาพผิวและการหาสาเหตุของสิวเพื่อให้การรักษาได้อย่างตรงจุด ทั้งนี้สิวบางชนิดอาจทิ้งรอยแผลเป็น รอยแผลนูน หรือแผลคีลอยด์ (Keloid scar) รบกวนจิตใจอันไม่พึงประสงค์และยากแก้การรักษา โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้ผู้รับการรักษาหายจากสิวโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งช่วยลดรอยแผลเป็น ลดการเกิดสิวซ้ำ พร้อมช่วยฟื้นฟูสภาพผิวให้ดีดังเดิม