ฝึกเบ่งอุจจาระแก้ไขปัญหาท้องผูก
ร้อยละ 40 ของคนท้องผูกพบว่ามีปัญหาที่การเบ่งถ่ายอุจจาระไม่ถูกต้อง โดยมีการเบ่งถ่ายไม่สัมพันธ์กับการคลายตัวของหูรูดทวารหนัก หรือเรียกว่า ภาวะ Dyssynergic defecation ซึ่งนอกจากจะมีอาการเหมือนคนท้องผูกทั่วไปแล้ว ในคนกลุ่มนี้มักจะมีความรู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด คือ รู้สึกว่ามีอุจจาระเหลือค้างในทวารหนักหลังจากถ่ายเสร็จแล้ว ต้องใช้นิ้วล้วงเพื่อช่วยถ่าย และใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติ
ในการเบ่งถ่ายที่ถูกต้องประกอบด้วยการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องเบ่งดันอุจจาระให้ลงไปที่ลำไส้ตรงโดยไม่ใช้แรงน้อยหรือมากจนเกินไป และในขณะเดียวกันกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักจะต้องคลายตัวเพื่อเปิดทางให้อุจจาระออกมาได้ แต่ในผู้ที่มีการเบ่งถ่ายไม่ถูกต้อง จะมีการบีบเกร็งที่กล้ามเนื้อหูรูดในขณะเบ่งหรือกล้ามเนื้อหูรูดนั้นคลายตัวไม่เพียงพอที่จะเปิดทางให้อุจจาระออกมาได้ และในบางรายเกิดร่วมกับการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องเพื่อเบ่งได้ไม่ถูกต้อง
การวินิจฉัยภาวะนี้ ทำได้โดยการตรวจที่เรียกว่า Anorectal manometry ร่วมกับการทำ Balloon expulsion test หรือ defecography
การตรวจ Anorectal manometry
การตรวจ Anorectal manometry เป็นการใส่สายตรวจขนาดเล็ก เข้าไปวัดแรงบีบและคลายของหูรูดทวารหนัก โดยแสดงผลออกมาเป็นตัวเลข และกราฟ ซึ่งตรวจได้ทั้งการคลายตัวในขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ และแรงขมิบเพื่อกลั้นอุจจาระ (ในผู้ที่มีปัญหากลั้นอุจจาระไม่ได้) อีกทั้งยังสามารถตรวจแรงเบ่งว่ามีการเบ่งด้วยแรงที่เหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ที่มีปัญหาท้องผูกบางรายมีความรู้สึกของลำไส้ตรงน้อยผิดปกติ (Rectal hyposensation) ทำให้ไม่มีความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระทั้ง ๆ ที่มีอุจจาระในปริมาณที่เหมาะสมลงมาที่ลำไส้ตรงแล้ว จึงไม่ได้ไปเข้าห้องน้ำ ทำให้มีอุจจาระค้างอยู่เป็นเวลานานจนอุจจาระแข็ง และเบ่งถ่ายยากตามมา การตรวจ Anorectal manometry ก็สามารถตรวจความรู้สึกของลำไส้ตรงได้เช่นกัน ซึ่งการตรวจทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 60 นาที โดยมีการสวนอุจจาระก่อนการตรวจอย่างน้อยประมาณ 2 ชั่วโมง
การรักษาการเบ่งถ่ายอุจจาระไม่ถูกต้อง
การรักษาการเบ่งถ่ายอุจจาระไม่ถูกต้อง ได้แก่ การทำ biofeedback therapy โดยหวังผลในการรักษาคือ สามารถถ่ายอุจจาระได้เอง โดยใช้ยาระบายน้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย และไม่มีการใช้นิ้วล้วงเพื่อช่วยถ่าย
การฝึก biofeedback เป็นการทำให้ผู้ป่วยเกิดการรับรู้ลักษณะการเบ่งถ่ายของตัวเองแบบเรียลไทม์ (real-time) จากการเบ่ง และดูการ feedback ด้วยภาพบนจอ จากนั้นก็จะได้เรียนรู้และจดจำความรู้สึกของการเบ่งถ่ายที่ถูกต้องกลับไปปฏิบัติที่บ้าน จึงเป็นการฝึกที่ต้องให้เวลา โดยใช้เวลาประมาณครั้งละ 45-60 นาที ในระยะเวลาห่างกันไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ เป็นจำนวนอย่างน้อย 2-4 ครั้ง โดยใส่สายขนาดเล็กเท่ากับการตรวจ Anorectal manometry คือ 4-6 มิลลิเมตร และความลึกไม่เกิน 10 เซนติเมตร ในรายที่มีความรู้สึกที่ลำไส้ตรงน้อยผิดปกติ จนไม่รับรู้การมาถึงของอุจจาระ ก็จะใช้วิธีฝึก biofeedback ในการแก้ไขเช่นเดียวกัน
การฝึก biofeedback เป็นการแก้ไขปัญหาท้องผูกที่การเบ่งถ่ายเป็นหลัก ซึ่งพบได้มากถึงร้อยละ 40 ของคนท้องผูก อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนท้องผูกที่ไม่ได้มีปัญหาด้านการเบ่งถ่ายอย่างเดียว แต่มีปัญหาเรื่องลำไส้บีบตัวช้าหรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย หลังจากเข้ารับการรักษาเรื่องการเบ่งถ่ายไปแล้ว อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องคงการใช้ยาระบายบางชนิด เพื่อช่วยให้ลำไส้บีบตัว หรือทำให้อุจจาระเหลวขึ้นเพื่ออุจจาระจะได้เคลื่อนตัวในลำไส้ได้ดีขึ้น แต่ผู้ป่วยจะสามารถใช้แรงเบ่งได้อย่างเหมาะสมไม่มากเกินไปจนเป็นลม ลดความรู้สึกการถ่ายไม่สุดหรือใช้นิ้วล้วงช่วย และใช้เวลาในการเข้าห้องน้ำเพื่อการขับถ่ายลดลง