ตรวจวัดกรดในหลอดอาหารด้วยแคปซูล ตรวจภาวะความเป็นกรด - Bravo Esophageal PH Test

ตรวจวัดกรดในหลอดอาหารด้วยแคปซูล (Bravo Esophageal pH Test)

การตรวจวัดกรดในหลอดอาหารด้วยแคปซูล (Bravo Esophageal pH Test) เป็นการตรวจว่ามีการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารขึ้นมาที่หลอดอาหารหรือไม่ และเกิดขึ้นเวลาใดบ้าง ช่วยในการวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนได้

แชร์

การตรวจวัดกรดในหลอดอาหารด้วยแคปซูล

การตรวจวัดกรดในหลอดอาหารด้วยแคปซูล (Bravo Esophageal pH Test) เป็นการตรวจว่ามีการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารขึ้นมาที่หลอดอาหารหรือไม่ และเกิดขึ้นเวลาใดบ้าง ช่วยในการวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนได้

การตรวจวัดกรดในหลอดอาหารด้วยแคปซูลคืออะไร?

การตรวจวัดกรดในหลอดอาหารด้วยแคปซูล (Bravo Esophageal pH Test) สามารถตรวจพบความเป็นกรดและความถี่ของกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ หากผู้ป่วยมีอาการแสบร้อนกลางหน้าอก เจ็บแน่นหน้าอก ไอ เจ็บคอ หรือเสียงแหบ ซึ่งอาจจะเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อน แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจนี้ 

ระดับค่าความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหารควรอยู่ที่ระดับเท่าไร?

ระดับค่าความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหารจะอยู่ที่ราว 7.0 หากค่าต่ำกว่านั้น เช่น 4.0 ภายในเวลา 30 วินาที แสดงว่าผู้ป่วยมีกรดไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร 

วิธีการตรวจวัดกรดในหลอดอาหารมีขั้นตอนอะไรบ้าง?

อุปกรณ์ในการตรวจวัดภาวะความเป็นกรดในหลอดอาหาร ประกอบไปด้วย แคปซูลตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง ซึ่งจะถูกติดไว้ที่ผนังหลอดอาหาร เครื่องรับสัญญาณแบบพกพาเพื่อบันทึกข้อมูลจากแคปซูล

แพทย์จะทำการส่องกล้องผ่านทางปากเพื่อติดแคปซูลที่ผนังหลอดอาหาร โดยแคปซูลจะตรวจวัดค่าความเป็นกรดและส่งค่าที่วัดได้มายังเครื่องรับสัญญาณที่มีสายห้อยไว้ข้างตัวผู้ป่วย ผู้ป่วยจะต้องกดปุ่มที่เครื่องรับสัญญาณเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น แสบร้อนกลางหน้าอก เจ็บแน่นหน้าอก ไอ และจดบันทึกกิจวัตรที่เกิดขึ้นในขณะที่วัดกรด เช่น เวลาที่เริ่มและหยุดรับประทานอาหาร เวลาที่นอนหงายและลุกขึ้น รวมถึงจดบันทึกอาการที่เกิดขึ้นตลอดการตรวจ

การตรวจวัดกรดในหลอดอาหารด้วยแคปซูลเจ็บหรือไม่?

ผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกเจ็บคอหรือระคายเคืองที่คอหลังเข้ารับการส่องกล้อง หรืออาจจะมีอาการจุกแน่นบริเวณหน้าอกในตำแหน่งที่แคปซูลติดอยู่

การเตรียมตัวสำหรับการตรวจวัดกรดในหลอดอาหารด้วยแคปซูลมีอะไรบ้าง?

ก่อนเข้ารับการตรวจวัดกรดในหลอดอาหาร

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากท่านใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจหรือเครื่องกระตุกสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ มีประวัติภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติ หลอดเลือดขยายตัว หรือปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับหลอดอาหาร
  • งดรับประทานยาลดกรดกลุ่ม Proton pump Inhibitors (PPIs)  เช่น ยา omeprazole ยา lansoprazole ยา rabeprazole ยา pantoprazole ยา esomeprazole ยา dexlansoprazole หรือ ยา vonoprazan 7 วันก่อนเข้ารับการตรวจ
  • งดรับประทานยาลดกรดประเภทต้านการหลั่งฮิสตามีน (H2 blockers) เช่น ยา famotidine หรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร 48 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
  • ไม่รับประทานยาลดกรด (Antacids) 6 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
  • งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม 6 ชั่วโมงก่อนเวลานัด

วันที่เข้ารับการตรวจวัดกรดในหลอดอาหารด้วยแคปซูล

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว ไม่สวมใส่เครื่องประดับ แพทย์จะให้ให้ถอดแว่นหรือฟันปลอมก่อนเข้ารับการส่องกล้อง
  • แพทย์จะพ่นยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ด้านในลำคอก่อนทำการส่องกล้องทางปาก
  • แพทย์จะทำการติดแคปซูลที่หลอดอาหารและตรวจดูว่าแคปซูลทำงานเป็นปกติหรือไม่

หลังเข้ารับการตรวจวัดกรดในหลอดอาหาร

  • ผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกระคายเคืองคอหลังส่องกล้องเล็กน้อย อย่างไรก็ตามผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับมารับประทานอาหาร ยา และทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่ควรปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันเพราะอาจส่งผลต่อการตรวจ
  • กดปุ่มที่เครื่องรับสัญญาณทุกครั้งเมื่อมีอาการ
  • จดบันทึกเวลาที่เริ่มและหยุดรับประทานอาหาร รวมถึงเวลาที่นอนและลุกขึ้น
  • ใช้เวลาในการตรวจวัดประมาณ 24-48 ชั่วโมง แล้วแพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะมาถอดเครื่องรับสัญญาณให้เมื่อครบกำหนด
  • แคปซูลจะหลุดและถูกระบายออกมาตามธรรมชาติภายใน 7-10 วัน 
  • เพื่อความปลอดภัย ในช่วง 30 วันหลังติดแคปซูล ผู้เข้ารับการตรวจจะยังไม่สามารถตรวจด้วย MRI ได้

ประโยชน์และความเสี่ยงของการตรวจวัดภาวะความเป็นกรดในหลอดอาหารด้วยแคปซูล

  • ประโยชน์: การตรวจวัดกรดในหลอดอาหารด้วยแคปซูล จะช่วยบอกได้ว่าผู้เข้ารับการตรวจมีกรดไหลย้อนขึ้นที่หลอดอาหารสัมพันธ์กับอาการที่เกิดขึ้นหรือไม่ หรือเป็นโรคกรดไหลย้อนจริงหรือไม่ ซึ่งหากไม่พบกรดไหลย้อนเกิดขึ้นในขณะที่มีอาการผิดปกติ อาจจะนำไปสู่การตรวจเพิ่มเติมในการวินิจฉัยโรคอื่น
  • ความเสี่ยง: ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ การที่แคปซูลไม่ติดที่ผนังหลอดอาหารหรือไม่หลุดตามเวลาที่ควรจะเป็น เนื้อเยื่อหลอดอาหารและลำไส้ได้รับความเสียหาย เลือดออก สำลักแคปซูล ขณะกลืนแคปซูลรู้สึกเจ็บคอ อก หรือหลัง แต่ความเสี่ยงที่กล่าวมานั้นพบได้น้อย

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 20 มี.ค. 2024

แชร์