อาการ สาเหตุ การวินิจฉัยและการรักษา โรคเหงือกอักเสบ Gingivitis- Symptoms, Causes, Diagnose, Treatment

โรคเหงือกอักเสบ

โรคในช่องปากที่พบได้บ่อยและอาการไม่รุนแรง เหงือกจะบวม แดง รู้สึกเจ็บระคายเคือง ควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


โรคเหงือกอักเสบ

เมื่อเป็นโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งเป็นโรคในช่องปากที่พบได้บ่อยและอาการไม่รุนแรง เหงือกจะบวม แดง รู้สึกเจ็บระคายเคือง ควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจจะทำเป็นโรคปริทันต์หรือสูญเสียฟัน

การดูแลทำความสะอาดช่องปากอย่างไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ การแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟัน และพบทันตแพทย์ตามนัดประจำปีจะช่วยป้องการเกิดโรคได้

อาการของโรคเหงือกอักเสบ

เหงือกที่มีสุขภาพดีจะมีชมพูอ่อน แน่น ชิดรอบฟัน เมื่อเหงือกอักเสบ มักจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • เหงือกบวม กดเจ็บ มีสีแดงเข้ม
  • เลือดออกง่ายขณะใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงฟัน
  • เหงือกร่น
  • มีกลิ่นปาก

ควรไปพบทันตแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการของโรคเหงือกอักเสบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์สามารถป้องกันได้หากได้รับการดูแลทางทันตกรรมอย่างสม่ำเสมอ

สาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ

โรคเหงือกอักเสบเป็นผลจากการดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์และเหงือกบวมอักเสบ

  • คราบจุลินทรีย์ คราบจุลินทรีย์เกิดจากการทำปฎิกิริยาระหว่างแบคทีเรียกับอาหารประเภทแป้งหรือน้ำตาล มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีลักษณะเป็นฟิล์มเหนียวเคลือบฟัน ควรแปรงฟันเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ออกทุกวันเพราะคราบจะกลับเกาะมาที่ฟันได้ง่าย
  • หินปูน หินปูนหรือหินน้ำลายคือคราบจุลินทรีย์ที่แข็งตัวติดแน่นอยู่ตามบริเวณร่องเหงือก สร้างความระคายเคือง และจำเป็นต้องให้ทันตแพทย์ขูดออกให้เท่านั้น
  • ร่องเหงือกอักเสบ เมื่อมีการสะสมของคราบหินปูนมากจนสร้างความระคายเคืองให้เหงือก เหงือกจะเริ่มบวม อักเสบ เลือดออกได้ง่าย และอาการอาจลุกลามทำให้ฟันผุ หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษาเหงือกอักเสบ อาจจะทำให้เป็นโรคปริทันต์และฟันอาจจะหลุดไปในที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ

โรคเหงือกอักเสบเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยโอกาสเกิดโรคจะสูงขึ้นเมื่อพบว่ามีปัจจัยดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • การดูแลช่องปากที่ไม่เหมาะสม
  • ปากแห้ง
  • การเคี้ยวยาสูบหรือสูบบุหรี่
  • ภาวะทุพโภชนาการและการขาดวิตามินซี
  • อายุที่มากขึ้น
  • การอุดฟันที่ไม่เหมาะสม หรือฟันเก
  • โรคประจำตัว เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคภูมิคุ้มกับบกพร่องหรือโรคเอดส์ การรักษาโรคมะเร็ง การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด
  • ยารักษาโรคลมชักบางชนิด ยาต้านแคลเซียม ยาโรคความดันโลหิตสูง
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เนื่องจากการตั้งครรภ์ มีประจำเดือน ทานยาคุมกำเนิด
  • พันธุกรรม

ภาวะแทรกซ้อน

เหงือกอักเสบเรื้อรังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคทางระบบทางเดินหายใจ โรครูมาตอยด์ เพราะแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคปริทันต์อาจกระจายเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางช่องเหงือก อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม

โรคเหงือกอักเสบเนื้อตายเฉียบพลันเป็นอาการของเหงือกอักเสบขั้นรุนแรง ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เลือดออก และเกิดแผลบริเวณเหงือก

การป้องกันโรคเหงือกอักเสบ

  • การดูแลสุขภาพช่องปาก ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งทุกเช้าและก่อนเข้านอน หรือแปรงฟันหลังมื้ออาหารด้วย ควรใช้ไหมขัดฟันก่อนการแปรงฟันเพื่อกำจัดเศษอาหาร
  • การพบทันตแพทย์ตามนัด ควรพบทันตแพทย์เพื่อทำความสะอาดช่องปากทุก 6-12 เดือน การสูบบุหรี่ ใช้ยาบางชนิด หรือมีอาการปากแห้ง จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปริทันต์มากขึ้น แนะนำให้พบทันตแพทย์บ่อยกว่านั้น และอาจทำการเอกซ์เรย์ช่องปากทุกปี เพราะสามารถตรวจช่วยพบปัญหาทางทันตกรรมที่ไม่พบระหว่าการตรวจช่องปากทั่วไป
  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และในกรณีที่เป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพราะมีส่วนช่วยให้เหงือกแข็งแรง

การตรวจวินิจฉัยโรคเหงือกอักเสบ

  • ทันตแพทย์จะดูประวัติทันตกรรมและประวัติสุขภาพ ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เกิดอาการ
  • ทันตแพทย์จะตรวจฟัน เหงือก ลิ้น และปากเพื่อหาคราบจุลินทรีย์และอาการอักเสบ
  • การวัดร่องเหงือกโดยใช้เครื่องมือตรวจปริทันต์สอดเข้าไปในร่องเหงือกหลาย ๆ ครั้ง ในกรณีที่สุขภาพช่องปากไม่มีปัญหา ร่องเหงือกจะลึก 1-3 มม. แต่หากเป็นโรคเหงือกร่องจะลึกกว่า 4 มม. หากร่องลึกทันตแพทย์อาจจะให้เอกซ์เรย์ช่องปากเพื่อประเมินกระดูกฟัน
  • หากยังหาสาเหตุของโรคเหงือกไม่ได้ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม

การรักษาโรคเหงือกอักเสบ

  • การทำความสะอาดช่องปากโดยทันตแพทย์ ทันตแพทย์จะทำการขูดฟันและเกลารากฟันเพื่อนำคราบจุลินทรีย์และหินปูนออก การขูดหินน้ำลายคือการนำหินปูนและแบคทีเรียออกจากผิวฟันและร่องเหงือก การเกลารากฟันเป็นการขจัดแบคทีเรียที่เกิดจากการอักเสบออกจากร่องเหงือก ขัดผิวฟันให้เรียบเนียนป้องกันการกลับมาของหินปูนและแบคทีเรีย เพื่อให้เหงือกกลับมามีสุขภาพที่ดี ทันตแพทย์อาจใช้เครื่องมือ แสงเลเซอร์ หรือเครื่องอัลตราโซนิกในการทำความสะอาดช่องปาก
  • การอุดฟัน ควรปรึกษาทันตแพทย์ หากฟันที่อุดนั้นทำให้เหงือกระคายเคือง หรือทำให้แปรงฟันไม่สะดวก
  • การดูแลช่องปากอย่างสม่ำเสมอ หลังจากที่ทันตแพทย์ทำความสะอาดช่องปาก อาการมักจะดีขึ้น เหงือกจะกลับมามีสีชมพูอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรักษาความสะอาดช่องปากอย่างเป็นประจำ ควรขอคำแนะนำจากทันตแพทย์ถึงวิธีแปรงฟันและการทำความสะอาดช่องปากที่ถูกวิธี

      การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันและการดูแลสุขภาพช่องปากที่บ้าน

      เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นโรคเหงือกอักเสบอีก ควรปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้

      • แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง หรือหลังรับประทานอาหาร
      • ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนและเปลี่ยนแปรงสีฟันใหม่ทุก ๆ 4 เดือน
      • ใช้แปรงฟันไฟฟ้า ซึ่งขจัดคราบจุลินทรีย์และหินปูนได้ดี
      • ใช้ไหมขัดฟันเสมอ
      • บ้วนน้ำยาบ้วนปากเพื่อลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์
      • ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดฟัน เช่น ไหมขัดฟันพร้อมด้ามจับ หรือแปรงซอกฟัน ซึ่งเหมาะกับการทำความสะอาดร่องฟัน นอกเหนือจากการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันแบบปกติ
      • พบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
      • ไม่สูบบุหรี่หรือเคี้ยวยาสูบ

      การเตรียมตัวก่อนพบทันตแพทย์

      ไปตามนัดทุกครั้ง และปรึกษาทันตแพทย์หากเริ่มมีอาการเหงือกอักเสบ

      ก่อนพบทันตแพทย์ อาจจะเตรียมข้อมูลดังต่อไปนี้

      • อาการที่มี ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับโรคเหงือกอักเสบ
      • ข้อมูลส่วนตัว รวมถึงโรคประจำตัว
      • ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้อยู่
      • คำถามที่ต้องการถาม

      คำถามที่อาจจะอยากถามทันตแพทย์

      • อะไรคือสาเหตุของโรค
      • ต้องทำการตรวจอะไรเพิ่มเติมหรือไหม
      • สามารถเรียกเก็บค่ารักษาจากบริษัทประกันได้หรือไม่
      • มีการรักษาแบบอื่น ๆ อีกหรือไม่
      • ควรดูแลสุขภาพฟันอย่างไรเมื่ออยู่ที่บ้าน
      • มียาสีฟัน แปรงฟัน หรือไหมขัดฟันที่ควรใช้เป็นพิเศษหรือไม่
      • ควรใช้น้ำยาบ้วนปากหรือไม่
      • สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
      • จะหาข้อมูลเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากเพิ่มเติมได้จากที่ไหน

      คำถามที่ทันตแพทย์อาจจะถาม

      • เริ่มมีอาการตั้งแต่เมื่อไร
      • มีอาการนานต่อเนื่องกันหรือเป็น ๆ หาย ๆ
      • แปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันบ่อยแค่ไหน
      • ไปพบทันตแพทย์บ่อยแค่ไหน
      • มีโรคประจำตัวใด ๆ หรือไม่
      • ใช้ยาอะไรอยู่หรือไม่

      คลิปวิดีโอเกี่ยวกับโรคเหงือกอักเสบ

      สุขภาพช่องปาก EP.2 อย่ามองข้าม เหงือกร่น เหงือกบวม เหงือกอักเสบ

        บทความโดย

        เผยแพร่เมื่อ: 26 ก.ย. 2022

        แชร์

        แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

      • Link to doctor
        ทพญ. วิมลกาญจน์ ดำรงรัตน์นุวงศ์

        ทพญ. วิมลกาญจน์ ดำรงรัตน์นุวงศ์

        • ทันตกรรม
        • ทันตกรรมโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์
        ทันตกรรมทั่วไป, ทันตกรรมโรคเหงือก
      • Link to doctor
        ทพ. สุพลเทพ ตีระกนก

        ทพ. สุพลเทพ ตีระกนก

        • ทันตกรรม
        • ทันตกรรมโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์
        ทันตกรรมโรคเหงือก
      • Link to doctor
        ทพญ. ศุภลักษณ์ พนมยงค์

        ทพญ. ศุภลักษณ์ พนมยงค์

        • ทันตกรรม
        • ทันตกรรมโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์
        ทันตกรรมโรคเหงือก
      • Link to doctor
        ทพญ ปารณีย์ ไพรัตน์

        ทพญ ปารณีย์ ไพรัตน์

        • ทันตกรรม
        • ทันตกรรมโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์