อาการ สาเหตุ การรักษาและป้องกันภาวะเหงือกร่น - Gum Recession - Symptoms, Causes, Treatment and Prevention

ภาวะเหงือกร่น (Gum Recession)

ภาวะเหงือกร่น คือ โรคเหงือกประเภทหนึ่งที่เนื้อเยื่อเหงือกร่นออกจากเนื้อฟันจนเผยให้เห็นรากฟัน ภาวะนี้ทำให้ฟันผุได้ง่ายขึ้นและทำให้เกิดอาการเสียวฟันขณะแปรงฟันหรือรับประทานอาหาร

แชร์

ภาวะเหงือกร่น

ภาวะเหงือกร่น คือ โรคเหงือกประเภทหนึ่งที่เนื้อเยื่อเหงือกร่นออกจากเนื้อฟันจนเผยให้เห็นรากฟัน ภาวะนี้ทำให้ฟันผุได้ง่ายขึ้นและทำให้เกิดอาการเสียวฟันขณะแปรงฟันหรือรับประทานอาหาร ภาวะเหงือกร่นอาจเกิดขึ้นกับฟันซี่เดียวหรือหลายซี่ และเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่มักพบได้มากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี

อาการเหงือกร่น

  • เหงือกเลื่อนลงจนเห็นรากฟัน
  • รู้สึกไม่สบายหรือมีอาการปวดตึงบริเวณขอบเหงือก
  • เสียวฟันเมื่อรับประทานของร้อน ของเย็น หรือของหวาน
  • รู้สึกเสียวฟันเมื่อแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน หรือขณะทันตแพทย์ทำความสะอาดช่องปาก

ควรพบทันตแพทย์เมื่อไร

โดยปกติแล้วควรพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพื่อเข้ารับการตรวจและทำความสะอาดช่องปากอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการข้างต้นสามารถพบทันตแพทย์ได้ทันทีเพื่อหาสาเหตุของอาการ ภาวะเหงือกร่นที่ไม่รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การสูญเสียกระดูกฟัน ฟันหลุด ฟันโยก เศษอาหารติด หรือฟันผุบริเวณรากฟัน

สาเหตุของภาวะเหงือกร่น

  • เนื้อเยื่อเหงือกบางเนื่องจากกรรมพันธุ์
  • การแปรงฟันที่รุนแรงเกินไป
  • การสะสมของคราบจุลินทรีย์หรือคราบหินปูนจากการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างไม่ทั่วถึง
  • โรคปริทันต์อักเสบ
  • ฟันซ้อนเกหรือการเรียงตัวของฟันผิดปกติ
  • มีประวัติจัดฟัน
  • การเคี้ยวยาสูบหรือสูบบุหรี่
  • การเจาะปากหรือเจาะลิ้น

การตรวจวินิจฉัย

ภาวะเหงือกร่น มักตรวจพบระหว่างการตรวจสุขภาพช่องปากประจำปี โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือตรวจปริทันต์วัดระยะและประเมินความลึกของร่องเหงือก ซึ่งผู้ที่มีสุขภาพเหงือกที่ดี ความลึกของเหงือกจะอยู่ที่ 1 - 3 มิลลิเมตร ในขณะที่ผู้ที่เหงือกอักเสบความลึกของเหงือกจะอยู่ที่ราว 4 มิลลิเมตร และจะลึกกว่า 5 มิลลิเมตรในผู้ป่วยโรคปริทันต์ ทั้งนี้ผู้ที่มีภาวะเหงือกร่นมักมีภาวะสูญเสียกระดูกฟันร่วมด้วย

การรักษาภาวะเหงือกร่น

ภาวะเหงือกร่นนั้นไม่สามารถรักษาให้เหงือกกลับมาเป็นอย่างเดิมได้ การรักษาอย่างทันท่วงทีจะสามารถหยุดและป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงไปกว่าเดิม โดยวิธีการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค ในกรณีที่ไม่รุนแรง อาจสามารถทำการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดได้ ยกตัวอย่างเช่น การรักษาโรคปริทันต์อักเสบ การอุดฟันในกรณีที่มีฟันสึกร่วมด้วย หรือการจัดฟัน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะต้องเข้ารับการผ่าตัด

การรักษาเหงือกร่นโดยไม่ต้องผ่าตัด

  • การรักษาโรคปริทันต์อักเสบ หากเหงือกร่นเนื่องจากโรคปริทันต์อักเสบ แพทย์จะแนะนำวิธีแปรงฟันและรักษาความสะอาดช่องปากอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แพทย์จะทำความช่องปากอย่างล้ำลึก อันได้แก่ การขูดหินปูนและเกลารากฟันเพื่อกำจัดหินปูนที่อยู่บริเวณผิวรากฟันและใต้เหงือกลึก และอาจทายาปฏิชีวนะในเหงือก
  • การอุดฟันในกรณีที่มีฟันสึกร่วมด้วย แพทย์จะทำการติดวัสดุสีเหมือนฟัน (composite resin) เพื่อปิดรากฟัน
  • การจัดฟัน ฟันเก ฟันซ้อน ฟันขึ้นผิดแนวอาจเป็นสาเหตุของภาวะเหงือกร่น การจัดฟันจะช่วยปรับตำแหน่งฟันและแนวเหงือกกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมได้

ภาวะเหงือกร่นนั้นทำให้ส่วนของรากฟันโผล่ขึ้นมา ซึ่งสารเคลือบรากฟันนั้นจะบางกว่าสารที่เคลือบฟัน ทำให้รู้สึกเสียวฟันได้ง่าย แพทย์จะทำการเคลือบฟลูออไรด์และสารป้องกันการเสียวฟันเพื่อช่วยบรรเทาอาการ โดยผู้ป่วยสามารถใช้ยาสีฟันป้องกันอาการเสียวฟันร่วมด้วยได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้นานหลายสัปดาห์กว่าจะเห็นผล

การรักษาเหงือกร่นโดยการผ่าตัด

การปลูกถ่ายเหงือก เป็นวิธีที่การรักษาภาวะเหงือกร่นที่มีประสิทธิภาพ มักทำโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านปริทันตวิทยา ซึ่งจะนำเนื้อเยื่อจากเพดานปากมาเย็บติดเข้ากับเหงือกเพื่อปิดรากฟัน

การป้องกันเหงือกร่น

การหมั่นดูแล รักษาสุขภาพช่องปากสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเหงือกร่นได้ โดยเฉพาะให้ผู้ที่เนื้อเยื่อเหงือกบางเนื่องจากกรรมพันธุ์

  • แปรงฟันให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง
  • ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์และเข้ารับการรักษาตามนัด
  • เลือกใช้แปรงขนอ่อนในการแปรงฟัน
  • งดสูบบุหรี่หรือเคี้ยวยาสูบ

หากสังเกตเห็นสัญญาณของภาวะเหงือกร่น ควรพบทันตแพทย์ทันที

Gum   Infographic Th

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 19 ก.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ทพญ. วิมลกาญจน์ ดำรงรัตน์นุวงศ์

    ทพญ. วิมลกาญจน์ ดำรงรัตน์นุวงศ์

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์
    ทันตกรรมทั่วไป, ทันตกรรมโรคเหงือก
  • Link to doctor
    ทพญ ปารณีย์ ไพรัตน์

    ทพญ ปารณีย์ ไพรัตน์

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์
  • Link to doctor
    ทพ. สุพลเทพ ตีระกนก

    ทพ. สุพลเทพ ตีระกนก

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์
    ทันตกรรมโรคเหงือก