สาเหตุ ไขมันในเลือดสูง คลอเลสเตอรอลสูง ไขมันแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร (Dyslipidemia or Hyperlipidemia)

ไขมันในเลือดสูง ไขมันในเลือดแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร

ภัยเงียบที่นำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวผิดปกติ โรคไขมันในเลือดสูงจะไม่แสดงอาการอะไร จะทราบก็ต่อเมื่อเจาะเลือดตรวจหาระดับไขมันแต่ละชนิด

แชร์

ไขมันในเลือดสูง ไขมันในเลือดแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร

ไขมันในเลือดแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร ภาวะไขมันในเลือดสูงผิดปกติ (Dyslipidemia or Hyperlipidemia)  คือ ภัยเงียบที่นำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวผิดปกติ (Atherosclerosis) เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease) โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease) โรคของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Peripheral arterial disease)

โดยปกติ ร่างกายคนเราจะมีไขมันอยู่ 2 ชนิด คือ

  1. คอเลสเตอรอล (Cholesterol) แบ่งเป็น  2 ชนิด
    • ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL-C) หรือไขมันชนิดไม่ดี เป็นอันตรายเพราะจะสะสมในผนังหลอดเลือด เกิดโรคหลอดเลือดตีบตันและตีบแข็ง
    • ชนิดความหนาแน่นสูง (HDL-C) หรือไขมันชนิดดี เพราะช่วยนำไขมันชนิดไม่ดีออกจากกระแสเลือด ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคของหลอดเลือด
  2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) คือไขมันซึ่งร่างกายได้รับจากอาหารโดยตรงหรือร่างกายสร้างขึ้นเมื่อรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป โดยพลังงานส่วนเกินจะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ และสะสมเป็นเนื้อเยื่อไขมันตามส่วนต่าง ๆ

      ปกติ ระดับไขมันในร่างกายคือ

      • คอเลสเตอรอลรวม ต่ำกว่า 200 มก./ดล.
      • ไตรกลีเซอไรด์ ต่ำกว่า 150 มก./ดล.
      • ไขมันชนิดไม่ดี LDL-C ต่ำกว่า 130 มก./ดล.
      • ไขมันชนิดดี HDL-C สูงกว่า 40 มก./ดล. ในผู้ชาย สูงกว่า 50 มก./ดล. ในผู้หญิง


      สาเหตุของโรค 

      • ความผิดปกติทางพันธุกรรม ครอบครัวมีประวัติไขมันในเลือดสูง
      • สัมพันธ์กับโรคอื่น เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคของต่อมไร้ท่อ ภาวะอ้วน
      • ยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมน สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ
      • การบริโภคอาหารที่มากเกิน ได้แก่ อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือไขมันทรานส์สูง นำไปสู่ภาวะคอเลสเตอรอลสูง การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลมาก และการดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
      • ขาดการออกกำลัง ร่างกายขาดการใช้พลังงาน


      อาการและอาการแสดง

      โดยปกติ โรคไขมันในเลือดสูงจะไม่แสดงอาการอะไร จะทราบก็ต่อเมื่อเจาะเลือดตรวจหาระดับไขมันแต่ละชนิด แต่หากมีระดับไขมันในเลือดสูงแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือโรคบางอย่างตามมา เช่น เป็นตับอ่อนอักเสบ ส่งผลให้ปวดท้อง เมื่อระดับไตรกลีเซอไรด์สูงมาก อาจเกิดปื้นหนาสีเหลืองบริเวณผิวหนังที่หนังตา ฝ่ามือ ซึ่งเกิดจากการสะสมของคอเลสเตอรอลที่ผิวหนัง ชั้นใต้ผิวหนัง

      ผู้ป่วยที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เมื่อเกิดการอุดตันจะมีอาการแสดงของการขาดเลือดจากอวัยวะนั้น เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดส่วนปลายที่ขาอุดตัน

      ควรไปพบแพทย์เมื่อใด

      ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยแพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคไขมันในเลือดสูงจากการเจาะเลือดตรวจหาระดับไขมันแต่ละชนิด

      ผู้ที่ควรได้รับการตรวจคัดกรอง:

      • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปทั้งเพศชายและเพศหญิง
      • ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ได้แก่ ผู้มีประวัติสูบบุหรี่ ผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคอ้วน หรือโรคที่มีการอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบ โรค SLE
      • ผู้ที่มีญาติสายตรงผู้ชายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเมื่ออายุ < 55 ปี ผู้หญิงเมื่ออายุ < 65 ปี
      • ผู้ป่วยที่มีอาการหรืออาการแสดงของระดับไขมันในเลือดสูง หรือมีหลักฐานของการมีหลอดเลือดแดงแข็ง

      การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยภาวะไขมันในเลือดผิดปกติควรทำหลังผู้ป่วยอดอาหารมาอย่างน้อย 12 ชม. โดยจะตรวจหาระดับ Total Cholesterol, Triglycerides, HDL-C และระดับ LDL-C ซึ่ง LDL-C สามารถวัดได้โดยตรงจากเลือด (direct LDL-C) หรือจากการคำนวณโดยใช้สูตร Friedewald’s formula

      Calculated LDL-C มก./ดล. = total cholesterol HDL-C – (triglycerides/ 5)

      ข้อจำกัดของการคำนวณ คือ ผู้ป่วยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง จะทำให้คำนวณระดับ LDL-C ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะสูงเกิน 400 มก./ดล. และสูตรนี้ไม่สามารถใช้คำนวณได้ถ้าผู้ป่วยไม่ได้อดอาหารมาก่อน

      แนวทางในการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง

      สิ่งแรกที่ควรทำคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง

      1. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที จำนวน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยหวังประสิทธิผลต่อการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
      2. ควบคุมการรับประทานอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ไม่มากเกินไป ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว หรือไขมันทรานส์
        • กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated fatty acid) คือ ไขมันที่ไม่สามารถรับหรือเติมอะตอมไฮโดรเจนเพิ่มได้อีก เช่น ไขมันคอเลสเตอรอล ไขมันไตรกลีเซอไรด์ พบได้ในอาหาร เช่น ไขมันสัตว์ เนื้อหมู เนื้อวัว  ไขมันจากกะทิ มะพร้าว เนย  ไข่แดง  เมื่อบริโภคไขมันอิ่มตัวในปริมาณมาก ไขมันจะไปสะสมในเซลล์ไขมันทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดโรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง  อย่างไรก็ตาม ไขมันอิ่มตัวก็ยังมีความจำเป็นต่อร่างกาย เพียงแต่ต้องบริโภคในปริมาณที่จำกัด
        • แนะนำเลือกรับประทานไขมันประเภท กรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acid) เป็นไขมันที่ได้จากพืช (ยกเว้นจากพืชบางชนิด เช่น กะทิ และน้ำมันปาล์ม ที่เป็นไขมันอิ่มตัว)และปลาทะเล ไขมันไม่อิ่มตัว มีผลต่อโรคอ้วนและโรคหลอดเลือดน้อยกว่าไขมันอิ่มตัว  แบ่งแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ
          • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว พบได้ในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันดอกคำฝอย อะโวคาโด ถั่ว เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ
          • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน พบได้ในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดทานตะวัน และ ปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า
      3. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
      4. งดสูบบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุทำให้ไขมันดี HDL-C ลดต่ำลง
      5. เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแป้งมาก อาหารที่มีน้ำตาลสูงและเครื่องดื่มที่มีรสหวานจากน้ำตาล เพราะจะทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูง
      6. ปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินการรักษาที่เหมาะสมว่าควรได้รับยาเพื่อลดปริมาณไขมันในเลือดหรือไม่
      7. ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงร่วมและตรวจติดตามระดับไขมันในเลือด


      บทความโดย

      • พญ. ณิยวรรณ ศุภมงคล
        พญ. ณิยวรรณ ศุภมงคล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน

      เผยแพร่เมื่อ: 13 ก.ย. 2022

      แชร์

      แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

    1. Link to doctor
      นพ. โอภาส นวสิริพงศ์

      นพ. โอภาส นวสิริพงศ์

      • เวชศาสตร์ป้องกัน
      เวชศาสตร์ป้องกัน, Checkup and Health Promotion
    2. Link to doctor
      ผศ.(พิเศษ) นพ. สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์

      ผศ.(พิเศษ) นพ. สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์

      • เวชศาสตร์ครอบครัว
      Family Medicine, เวชศาสตร์ป้องกัน
    3. Link to doctor
      นพ. สุทธิชัย โชคกิจชัย

      นพ. สุทธิชัย โชคกิจชัย

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน (ทางคลินิก)
      โรคภูมิแพ้, เวชศาสตร์ป้องกัน
    4. Link to doctor
      นพ. ทวีสิน ธีระธนานนท์

      นพ. ทวีสิน ธีระธนานนท์

      • เวชศาสตร์ป้องกัน
      เวชศาสตร์ป้องกัน, Checkup and Health Promotion
    5. Link to doctor
      นพ. เสฏฐศิริ แสงสุวรรณ

      นพ. เสฏฐศิริ แสงสุวรรณ

      • เวชศาสตร์ป้องกัน
      • เวชศาสตร์ทางทะเล
      • อาชีวเวชศาสตร์
      เวชศาสตร์ป้องกัน, อาชีวเวชศาสตร์, เวชศาสตร์ทางทะเล
    6. Link to doctor
      ผศ.พญ. พรรณวรา ปริตกุล

      ผศ.พญ. พรรณวรา ปริตกุล

      • เวชศาสตร์ป้องกัน
      • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
      เวชศาสตร์ป้องกัน
    7. Link to doctor
      พญ. นันทรัตน์ วงษ์วรอาภรณ์

      พญ. นันทรัตน์ วงษ์วรอาภรณ์

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม
      อายุรกรรมทั่วไป, เวชศาสตร์ป้องกัน
    8. Link to doctor
      นพ. พศวัต วุฒิไกรวิทย์

      นพ. พศวัต วุฒิไกรวิทย์

      • เวชศาสตร์ป้องกัน
      เวชศาสตร์ป้องกัน, เวชศาสตร์วิถีชีวิต, อาชีวเวชศาสตร์, การสร้างเสริมสุขภาพ, การแพทย์ทางไกล