ขั้นตอน การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธีโมหส์ - Mohs Surgery for Skin Cancer, Procedure, Benefits

ผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธีโมหส์ (Mohs Surgery)

การผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธีโมหส์ (Mohs surgery) คือ วิธีการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังด้วยเทคนิคการผ่าตัดเฉพาะบริเวณมะเร็งผิวหนังและขอบรอบรอยโรคออกเป็นชั้นบาง ๆ ทีละชั้น และนำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

แชร์

ผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธีโมหส์ (Mohs Surgery)

การผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธีโมหส์ (Mohs surgery) คือ วิธีการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังด้วยเทคนิคการผ่าตัดเฉพาะบริเวณมะเร็งผิวหนังและขอบรอบรอยโรคออกเป็นชั้นบาง ๆ ทีละชั้น และนำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยกล้องจุลทรรศน์ หากผลการตรวจยืนยันโรคมะเร็งผิวหนัง แพทย์จะทำการผ่าตัดผิวหนังซ้ำในชั้นที่ลึกขึ้นและส่งตรวจจนกว่าจะไม่พบมะเร็ง เทคนิคการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งผิวหนังออกได้ทั้งหมด ช่วยรักษาเนื้อเยื่อผิวหนังปกติเอาไว้ได้มากที่สุด และเป็นวิธีการรักษามะเร็งผิวหนังที่มีอัตราการหายขาดจากโรคมากที่สุด

ทำไมต้องผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs Surgery?

ในอดีต แพทย์จะรักษามะเร็งผิวหนังด้วยวิธีการผ่าตัดเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็งผิวหนังออกไปในแนวตั้งเป็นบริเวณกว้าง โดยไม่ได้วินิจฉัยถึงขอบเขตการกระจายตัวสู่เนื้อเยื่อใกล้เคียงบริเวณใต้ผิวหนังชั้นลึกในแนวนอน รวมถึงขอบรอบรอยโรคนอกเหนือจากผิวหนังชั้นบนที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดใหญ่ และอาจทำให้ไม่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งออกได้ทั้งหมดจากการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว และทำให้ผู้รับการรักษากลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ    

ในภายหลัง ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน Fredric E Mohs จึงคิดค้นเทคนิคการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs Micrographic Surgery (MMS) ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดเนื้อเยื่อและขอบรอบรอยโรคในแนวนอน ทั้งด้านกว้างและด้านลึกออกเป็นชั้นบาง ๆ และนำมาตรวจหาเซลล์มะเร็งด้วยกล้องจุลทรรศน์ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยหากผลการตรวจพบเป็นเซลล์มะเร็ง แพทย์จะทำการผ่าตัดผิวหนังซ้ำในชั้นที่ลึกลงไป จนกว่าผลการตรวจจะเป็นลบ หรือไม่พบเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ วิธีการนี้ ช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้อย่างทันท่วงที และช่วยรักษามะเร็งผิวหนังระยะแรกเริ่มให้หายขาดได้ถึงร้อยละ 99 และมีแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กมาก ทั้งนี้ หากแพทย์ตรวจพบเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น แพทย์จะพิจารณาการรักษาอื่น ๆ ร่วม เช่น การให้ยา เคมีบำบัด หรือการฉายแสง

Mohs Surgery for Skin Cancer Th มะเร็งผิวหนัง มีสาเหตุจากอะไร

มะเร็งผิวหนัง มีสาเหตุจากอะไร?

มะเร็งผิวหนังมีสาเหตุเกิดจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม ดังนี้

  • การตากแดดบ่อย ๆ เป็นเวลานาน การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตทั้ง UVA และ UVB ในปริมาณมาก
  • สารเคมีบางชนิด เช่น สารหนูที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภค
  • มีประวัติการได้รับการฉายรังสีรักษามาก่อน
  • มีประวัติเป็นผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น การติดเชื้อ HIV  หรือการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ 
  • การทานยากดภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง
  • แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกที่พัฒนากลายเป็นมะเร็ง 
  • กรรมพันธุ์ มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
  • เป็นผู้ที่มีผิวขาวซีด หรือคนเผือก

การผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs Surgery รักษาโรคอะไร?

  • มะเร็งผิวหนังมะเร็งชนิดเบซัลเซลล์ (Basal cell carcinomas: BCCs)
  • มะเร็งผิวหนังชนิดสแควมัสเซลล์ (Squamous cell carcinomas: SCCs)
  • มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma)
  • มะเร็งผิวหนังชนิดอื่น ๆ เช่น 

อาการมะเร็งผิวหนัง Skin Cancer Features and Symptoms Treatable With Mohs Surgery Th

ลักษณะ อาการมะเร็งผิวหนัง ที่รักษาได้ด้วยวิธี Mohs Surgery

  • มะเร็งผิวหนังบริเวณตา จมูก ปาก หู หนังศีรษะ หรืออวัยวะเพศ
  • มะเร็งผิวหนังในระยะแรกเริ่ม
  • มะเร็งผิวหนังที่กลับมาเป็นซ้ำ
  • มะเร็งผิวหนังที่เจริญเติบโตและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว รุนแรง
  • มะเร็งผิวหนังที่ไม่มีขอบเขตชัดเจน
  • มะเร็งผิวหนังที่เกิดขึ้นบนแผลเป็น
  • มะเร็งผิวหนังที่ตัดออกไม่หมดหลังวิธีการผ่าตัดแบบธรรมดา

ใครที่ควรรักษามะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs Surgery?

  • ผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือก้อนที่ผิวหนังที่มีขนาดหรือรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือก้อนที่ผิวหนังที่เกิดขึ้นใหม่และไม่หายไปภายใน 4-6 สัปดาห์
  • ผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือก้อนแข็ง ๆ ผิวขรุขระ หรือแผลตกสะเก็ดแข็งขรุขระคล้ายหูด
  • ผู้ที่มีตุ่มเนื้อสีชมพู แดง ผิวเรียบมัน มีเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ กระจายบริเวณตุ่มเนื้อ
  • ผู้ที่มีตุ่มเนื้อสีชมพู แดง แข็ง ๆ ด้านบนอาจเป็นขุยหรือตกสะเก็ด มีเลือดออก และค่อย ๆ ขยายขนาดใหญ่ขึ้น
  • ผู้ที่มีไฝ ปาน หรือขี้แมลงวันที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสี ขนาด หรือรูปร่างที่เปลี่ยนไป
  • ผู้ที่มีไฝ ปาน หรือขี้แมลงวันที่มีอาการคันและแตกเป็นแผล และมีเลือดไหลซึม 
  • ผู้ที่มีไฝ ปาน หรือขี้แมลงวันขึ้นบนศีรษะ ใบหน้า ตา หู จมูก ลำคอ นิ้วมือ นิ้วเท้า หรืออวัยวะเพศ
  • ผู้ที่มีแผลเรื้อรังไม่หายภายใน 4 สัปดาห์

การวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังก่อนการรักษาด้วยวิธี Mohs Surgery

การวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังก่อนการรักษาด้วยวิธี Mohs Surgery มีขั้นตอนอย่างไร?

แพทย์ผิวหนังจะทำการตรวจวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังด้วยการสอบถามอาการ และตรวจร่างกายบริเวณที่พบตุ่มเนื้อ ก้อนเนื้อ ไฝ ปาน หรือผิวหนังที่พบความผิดปกติและเนื้อเยื่อโดยรอบ รวมถึงการซักประวัติ ดังนี้

การซักประวัติ

  • สอบถามระยะเวลาที่พบผิวหนังผิดปกติ ความเร็วในการเจริญเติบโต สี ขนาด รูปร่าง อาการ มีเลือดไหลซึมหรือไม่
  • ประวัติทางการแพทย์ โรคประจำตัว ยารักษาโรครวมถึงอาหารเสริมที่ทานเป็นประจำ
  • ประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
  • อาชีพการงาน กิจกรรมที่ชอบทำ ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต 

การตรวจชิ้นเนื้อ

แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อผิวหนังที่พบความผิดปกติ และส่งตรวจทางพยาธิวิทยาในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อวินิจฉัยชิ้นเนื้อว่าเป็นเซลล์มะเร็งผิวหนังหรือไม่ เป็นมะเร็งชนิดใด และอยู่ในระยะไหน

ทางเลือกในการรักษา

แพทย์จะแจ้งผลการตรวจวินิจฉัยให้ทราบ และอธิบายทางเลือกในการรักษา เช่น การให้ยาและ/หรือร่วมกับการรักษา ดังนี้

  • การขูดและจี้ด้วยไฟฟ้า ในรอยโรคมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
  • การจี้เย็นด้วยไนโตรเจนเหลว เพื่อหยุดการแบ่งตัวของเซลล์เนื้อร้าย และสร้างเซลล์ผิวใหม่
  • การผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธีโมหส์ (MMS) โดยการผ่าตัดชั้นผิวหนังมะเร็งและขอบรอบรอยโรคออกทีละชั้นและส่งตรวจจนกว่าจะไม่พบเซลล์มะเร็ง

Mohs Surgery Th

การผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs Surgery มีวิธีการอย่างไร?

การผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธีโมหส์ (Mohs Micrographic Surgery: MMS) รพ.เมดพาร์ค ใช้มาตรฐานสากล (Gold standard) ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งผิวหนังด้วยวิธีการผ่าตัดแบบ Mohs โดยศัลยแพทย์ผิวหนังที่มีความชำนาญเฉพาะทางที่ได้รับการฝึกทักษะเฉพาะ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสัมฤทธิ์ผลในการรักษาเป็นสำคัญ โดยการผ่าตัดจะใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน และสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นโดยไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs

  • ก่อนการผ่าตัด 1 สัปดาห์ แพทย์จะขอให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดงดยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น ยา Aspirin ยา Ibuprofen ยา Naproxen หรือ ยา Plavix
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ทานยารักษาโรคประจำตัว ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) *ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ในวันก่อนผ่าตัด และในวันผ่าตัด
  • รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายในวันก่อนผ่าตัด และในวันผ่าตัด
  • พักผ่อนให้เพียงพอในคืนก่อนวันผ่าตัด

ขั้นตอนการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs

  • เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อธิบายขั้นตอนการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs และมอบเอกสารยินยอมเข้ารับการผ่าตัด
  • แพทย์ผิวหนังอาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัด สำหรับผู้เข้ารับการผ่าตัดบางราย
  • พยาบาลทำความสะอาดร่างกายบริเวณที่ทำการผ่าตัด และทายาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ศัลยแพทย์ผิวหนังทำการมาร์คจุดบริเวณมะเร็งผิวหนังและขอบรอบรอยโรคที่จะทำการผ่าตัดทั้งด้านซ้าย-ขวา ด้านบน-ล่าง
  • ศัลยแพทย์ผิวหนังฉีดยาชาเฉพาะจุดบริเวณมะเร็งผิวหนังที่ทำการผ่าตัด และขอบรอบรอยโรค
  • ศัลยแพทย์ผิวหนังทำการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังออกด้วยวิธี Mohs โดยรวมถึงส่วนที่นูนของเนื้องอกและขอบรอบรอยโรคในแนวนอน ทั้งด้านกว้างและด้านลึกให้เป็นชั้นบาง ๆ ลึกประมาณ 45 องศา ตามขนาด และรูปร่างที่ได้ทำการมาร์คเอาไว้ โดยรักษาเนื้อเยื่อชั้นผิวหนังปกติเอาไว้ให้ได้มากที่สุด 
  • ศัลยแพทย์ผิวหนังนำชั้นเนื้อเยื่อผิวหนังที่ถูกตัดออกส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ทันที โดยพยาธิแพทย์จะใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์ชิ้นเนื้อไม่เกิน 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อของแต่ละบุคคล
  • พยาธิแพทย์ตรวจดูบริเวณแผลผ่าตัดทั้งขอบด้านลึกและขอบด้านนอกอย่างละเอียดด้วยกล้องจุลทรรศน์
  • หากผลการตรวจชั้นเนื้อเยื่อยืนยันโรคมะเร็งผิวหนังที่รอยตัด ศัลยแพทย์ผิวหนังจะทำการตัดชั้นเนื้อเยื่อผิวหนังซ้ำในชั้นที่ลึกขึ้น และนำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจนกว่าจะไม่พบเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ที่บริเวณรอยโรคนั้น 
    หลังเสร็จสิ้นการผ่าตัด ศัลยแพทย์ผิวหนังจะพิจารณาวิธีการปิดแผล เช่น การเย็บแผล การปลูกถ่ายผิวหนังส่วนอื่นบนแผล หรือการปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลเพื่อให้แผลหายเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องเย็บ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาด ความกว้าง ความลึก และตำแหน่งของแผลของแต่ละบุคคล

ขั้นตอนหลังการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs

  • ในกรณีที่ไม่เย็บแผล หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ (Normal saline) เช็ดแผลให้แห้ง และทายาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งเช้า- เย็น เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อและช่วยให้แผลหายเร็ว
  • ในกรณีที่เย็บแผล หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำจนถึงวันตัดไหม หากแผลหรือผ้าปิดแผลเปียกน้ำ ค่อย ๆ แกะผ้าปิดแผลออก เช็ดแผลให้แห้ง และเปลี่ยนผ้าปิดแผลใหม่
  • ถ้ามีเลือดไหลออกจากแผล ให้ใช้ผ้าสะอาดกดแผลประมาณ 20 นาทีเพื่อห้ามเลือด หากเลือดไม่หยุดไหลให้พบแพทย์เพื่อตรวจอาการ
  • หากมีอาการผิดปกติที่แผล เช่น มีเลือดไหลออกมาก แผลบวมช้ำ ปวดบวม หรือมีหนองไหล ให้พบแพทย์เพื่อตรวจอาการ
  • หากมีอาการปวดแผลมาก ให้ทานยาแก้ปวดตามแพทย์สั่งทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง *ยกเว้น Aspirin
  • มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อประเมินผลหลังการรักษา หลังจากนั้นแพทย์จะทำนัดเพื่อติดตามอาการทุก ๆ ปีเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ
  • หากมีผื่น ตุ่มเนื้อ หรือก้อนเนื้อ ไฝ หรือปาน หรือความผิดปกติใด ๆ ที่รอยโรคเดิม ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจอาการโดยเร็ว

การดูแลตนเอง หลังการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs Surgery

การดูแลตนเอง หลังการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs Surgery

  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไปเป็นประจำทุกวัน 20-30 นาที และควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันรังสี UVA และ UVB
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางแสงแดดร้อนแรง โดยเฉพาะในช่วงเวลา 9.00-17.00 น. ที่อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้กลับมาเป็นมะเร็งผิวหนังซ้ำ
  • สวมเสื้อผ้าปกปิดผิวให้มิดชิดจากแสงแดด สวมหมวก หรือกางร่มเพื่อไม่ให้เผชิญกับแสงแดดโดยตรง
  • เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงฝุ่นควัน มลภาวะอันเป็นพิษ ควันบุหรี่มือสอง 
  • ทานผัก ผลไม้ อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หมั่นสังเกตผิวของตนเองเป็นประจำ หากพบความผิดปกติให้รีบพบแพทย์

ความเสี่ยงจากการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs Surgery 

ความเสี่ยงจากการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs surgery ได้แก่ การมีเลือดออกมาก ห้อเลือด บวมช้ำใต้ผิวหนัง เจ็บแผล หรือการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับอัตราการช่วยให้หายขาดจากโรคสูง การรักษามะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs surgery ถือเป็นวิธีการรักษามะเร็งผิวหนังที่มีประสิทธิภาพมาก มีความปลอดภัยสูง และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้เป็นอย่างดี

ข้อดีของการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs Surgery คืออะไร?

  • มีอัตราการหายขาดจากโรคมะเร็งผิวหนังสูงสุดถึงร้อยละ 99 สำหรับผู้ที่เป็นโรคมะเร็งผิวหนังครั้งแรก
  • มีอัตราการหายขาดจากโรคมะเร็งผิวหนังสูงสุดถึงร้อยละ 94 ในผู้ที่กลับมาเป็นซ้ำ
  • เป็นการรักษาที่ให้ผลการรักษาที่ดีทั้งมะเร็งเบซัลเซลล์ สแควมัสเซลล์ เมลาโนมาบางชนิด และไม่ใช่เมลาโนมา
  • เป็นการรักษามะเร็งผิวหนังที่ขึ้นบนจุดสำคัญที่มีความบอบบาง เช่น ใบหน้า ตา หู จมูก ลำคอ นิ้วมือ นิ้วเท้า หรืออวัยวะเพศ
  • เป็นการผ่าตัดด้วยเทคนิคแผลเล็ก เจ็บน้อย หายไว และมีแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กมาก
  • ช่วยรักษาเนื้อเยื่อชั้นผิวหนังตามธรรมชาติเอาไว้ได้มากที่สุด 
  • ช่วยลดอัตราการกลับมาเป็นมะเร็งผิวหนังซ้ำได้มากที่สุด
  • ระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นเพียง 5-10 นาทีในแต่ละรอบ และใช้เวลาในการรอผลการตรวจชิ้นเนื้อไม่เกิน 1 ชั่วโมง
  • เป็นการรักษาที่เสร็จสิ้นภายในวันเดียว โดยไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล

ผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs Surgery รพ.เมดพาร์ค

การผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธี Mohs Surgery รพ.เมดพาร์ค

ศูนย์ผิวหนัง ความงาม และเส้นผม รพ.เมดพาร์ค นำโดยทีมแพทย์ และศัลยแพทย์ผิวหนังผู้ชำนาญการด้านโรคผิวหนังและมะเร็งผิวหนังที่มีประสบการณ์และความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งผิวหนังทุกชนิดที่มีความยากและซับซ้อนด้วยวิธี Mohs Surgery และวิธีการอื่น ๆ โดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่ทันสมัย ผสานเทคนิคการผ่าตัดเฉพาะทางขั้นสูงที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย ช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้การติดตามประเมินผลหลังการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ช่วยให้แผลหายไว และช่วยให้ผู้รับการรักษามีโอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งผิวหนังได้อย่างถาวร

Mohs Surgery ห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา รพ. เมดพาร์ค

ห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา รพ. เมดพาร์ค

ห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา (Clinical Pathology Lab) รพ.เมดพาร์ค เป็นห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐาน ISO 15189 และ ISO 15190 นำโดยทีมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีประสบการณ์ พร้อมด้วยอุปกรณ์การแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาตรฐานสากล ช่วยให้การตรวจวิเคราะห์ชิ้นเนื้อมีความถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ ช่วยให้ทราบผลการตรวจชิ้นเนื้อได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ร่นระยะเวลาการฟังผล ไม่ต้องส่งตรวจต่อยังห้องปฏิบัติการอื่น ช่วยให้กระบวนการวินิจฉัยโรคและการพยากรณ์โรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว และช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทันท่วงที

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 29 มี.ค. 2024

แชร์