เลือกหัวข้อที่อ่าน
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีกี่ชนิด
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีสาเหตุเกิดจากอะไร
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีอาการอย่างไร
- ภาวะแทรกซ้อนของโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมีอะไรบ้าง
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีวิธีรักษาอย่างไร
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีวิธีการป้องกันอย่างไร
โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ คืออะไร
โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) เกิดจากเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเป็นถุงบาง ๆ ที่เรียกกันว่า "ถุงหุ้มหัวใจ (pericardium)" เกิดการอักเสบบวม ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บแปลบที่หน้าอก เนื่องจากการเสียดสีของเยื่อหุ้มหัวใจที่อักเสบ ถึงแม้ว่าโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่ไม่รุนแรงอาจหายได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่ผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่รุนแรงจำเป็นต้องรับประทานยา น้อยรายที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด อย่างไรก็ตามการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงทีและการเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีกี่ชนิด
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลัน
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่กลับมาเป็นซ้ำ อาจเกิดขึ้น 4-6 สัปดาห์หลังมีอาการครั้งแรก โดยระหว่างนั้นผู้ป่วยไม่มีอาการแสดงใด ๆ
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแบบต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยจะมีอาการต่อเนื่องกัน 4-6 สัปดาห์
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง คือถุงหุ้มหัวใจอักเสบนานตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปหลังมีอาการครั้งแรก
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและบีบรัด เป็นโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่รุนแรง โดยเนื้อเยื่อถุงหุ้มหัวใจจะมีลักษณะแข็ง มีพังผืด หนาขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติ มักเกิดขึ้นหลังมีอาการโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อปรสิต
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่หาสาเหตุไม่พบ
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากอุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บทางกาย เช่น การได้รับบาดเจ็บที่หน้าอกจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากภาวะไตล้มเหลว
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากมะเร็ง
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีสาเหตุเกิดจากอะไร
- การติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส
- การได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษาที่บริเวณหน้าอก เนื่องจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- อุบัติเหตุที่หน้าอก เช่น หน้าอกกระแทกกับพวงมาลัยรถ ถูกยิงหรือแทง การได้รับการผ่าตัดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจทำให้หัวใจได้รับความเสียหาย นำไปสู่โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ นอกจากนี้การผายปอดกู้ชีพ (CPR) อาจทำให้หัวใจได้รับบาดเจ็บจนเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้เช่นกัน แต่มักพบได้น้อยมาก
- ยาและสารพิษ
- ความผิดปกติทางเมตาบอลิกซินโดรม เช่น ภาวะไตวาย
- มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคหนังแข็ง โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผสม โรคหลอดเลือดอักเสบหลายระบบโรคไข้เมดิเตอร์เรเนียนซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังชนิดเป็นแผลหรือโรคโครห์น
การพิจารณาหาสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบอาจเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามการหาสาเหตุของโรคอาจไม่สำคัญเท่ากับการที่โรคตอบสนองต่อยาที่ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อของผู้ป่วยโดยยังไม่ทราบชนิดเชื้อก่อโรค (Empiric Anti-inflammatory Treatment) อันได้แก่ การใช้ยาแอสไพรินและยาไอบูโปรเฟน
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีอาการอย่างไร
อาการของโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมักขึ้นอยู่กับชนิดของโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- เจ็บหน้าอก ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกเจ็บแปลบที่หน้าอกเหมือนมีอะไรมาทิ่มแทง บางรายอาจรู้สึกเหมือนมีแรงกดที่หน้าอก
- เจ็บที่กระดูกหน้าอกหรือหน้าอกด้านซ้ายร้าวไปยังไหล่ซ้ายและคอ ซึ่งจะแย่ลงเมื่อไอ หายใจเข้าลึก ๆ นอนหงาย และดีขึ้นเมื่อโน้มตัวไปข้างหน้าหรือลุกขึ้นนั่ง
- ไอ
- อ่อนเพลีย
- มีไข้ต่ำ ๆ
- ใจสั่น
- ขาและท้องบวม
- หายใจไม่ทันเมื่อนอนหงาย
อาการอย่างไรที่ควรพบแพทย์
เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เนื่องจากอาการของโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคหัวใจและปอด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมีอะไรบ้าง
- ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและบีบรัด อาจทำให้ขาและท้องบวม ร่วมกับอาการหายใจหอบเหนื่อย
- ภาวะบีบรัดหัวใจ (cardiac tamponade) เป็นอาการวิกฤติที่ขัดขวางการสูบฉีดเลือดของหัวใจ ทำให้เลือดออกมาจากหัวใจน้อยลง ความดันโลหิตลดลง เป็นอันตรายต่อชีวิต จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุด
โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- การซักประวัติและการตรวจร่างกาย โดยระหว่างการตรวจร่างกาย แพทย์จะใช้หูฟังทางการแพทย์ฟังเสียงหัวใจว่ามีเสียงเยื่อหุ้มหัวใจเสียดสีกันหรือไม่
- การตรวจเลือด เพื่อหาสัญญาณของกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การอักเสบ หรือการติดเชื้อ
- การเอกซเรย์หน้าอก เพื่อประเมินขนาดหัวใจและตรวจว่ามีน้ำในปอดหรือไม่
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ EKG) เพื่อตรวจการเต้นของหัวใจ ผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมักมีสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เปลี่ยนไป
- การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (ECHO) เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจและตรวจหาภาวะน้ำใน
- การตรวจ MRI หัวใจ เพื่อตรวจหาน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ถุงหุ้มหัวใจอักเสบหรือหนาขึ้น โดยแพทย์จะทำการฉีดสารทึบรังสีชื่อว่า gadolinium เพื่อให้ภาพชัดขึ้น
- การตรวจ CT สแกนเพื่อตรวจการสะสมของแคลเซียมในถุงหุ้มหัวใจ น้ำที่คั่งในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ อาการอักเสบ เนื้องอก และโรคที่อาจส่งผลต่ออวัยวะรอบหัวใจ การตรวจ CT สแกนจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและบีบรัด
- การสวนหัวใจ เพื่อตรวจแรงบีบของหัวใจ ซึ่งจำเป็นต่อการวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและบีบรัด
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีวิธีรักษาอย่างไร
วิธีการรักษาโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแตกต่างกันไปตามสาเหตุของโรคและความรุนแรงของอาการ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่ไม่รุนแรงอาจดีขึ้นโดยไม่ต้องได้รับการรักษา
- ยา สามารถช่วยบรรเทาอาการบวมและการอักเสบ
- ยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟนหรือแอสไพริน
- ยา Colchicine ลดการอักเสบ ซึ่งมีประสิทธิภาพต่อการรักษาโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันหรือโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแบบต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยาอาจส่งผลต่อการทำงานของยาชนิดอื่น ๆ ก่อนรับประทานจึงควรขอคำแนะนำจากแพทย์ ผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไตไม่ควรรับประทานยา colchicine
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ สำหรับผู้ที่กลับมาเป็นซ้ำหรืออาการไม่ดีขึ้นเมื่อรับประทานยาชนิดอื่น ๆ
- ยาปฏิชีวนะสำหรับโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการเจาะระบายของเหลวออก
- การผ่าตัด
- การเจาะระบายของเหลวออกจากเยื่อหุ้มหัวใจ
- การตัดถุงหุ้มหัวใจ โดยแพทย์จะนำถุงหุ้มหัวใจออกก่อนที่จะแข็งตัวเนื่องจากโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและบีบรัด
ผู้ป่วยต้องใช้เวลาพักฟื้นนานเท่าไรหลังเข้ารับการรักษา
การรับประทานยาจะทำให้อาการดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ การพักฟื้นหลังการเข้ารับการผ่าตัดใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ระหว่างที่กำลังพักฟื้นอยู่นั้น ผู้ป่วยควรงดกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก ๆ หรือการเล่นกีฬา เพราะกิจกรรมเหล่านี้อาจทำให้อาการกำเริบได้
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีวิธีการป้องกันอย่างไร
- การปฏิบัติตามสุขลักษณะนิสัยที่ดี โดยการล้างมือเป็นประจำ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
- หลีกเลี่ยงการพบปะผู้ป่วยโรคไวรัสหรือโรคที่มีอาการคล้ายไข้หวัด
- เข้ารับวัคซีนที่จำเป็น เช่น วัคซีนโควิด 19 วัคซีนโรคหัด วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้น้อยวัคซีนโควิด 19 อาจเพิ่มความเสี่ยงของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กชายอายุ 12-17 ปี ก่อนเข้ารับวัคซีนสามารถปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและความเสี่ยงของวัคซีนได้
ควรเตรียมตัวก่อนพบแพทย์อย่างไรบ้าง
- จดบันทึกอาการที่มี ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทาน
- จดคำถามที่ต้องการถามแพทย์ เช่น
- อะไรคือสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจอะไรเพิ่มเติมหรือไม่
- มีการรักษาด้วยวิธีใดบ้าง มีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่
- อาการจะดีขึ้นเมื่อไร
- ภาวะแทรกซ้อนของโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบคืออะไร
- มีข้อห้ามในการออกกำลังกายหรือรับประทานอาหารใด ๆ หรือไม่
- เตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่แพทย์อาจถาม ยกตัวอย่างเช่น
- มีอาการปวดตรงที่ใดบ้าง อาการปวดรุนแรงหรือไม่
- มีอาการอะไรบ้าง เริ่มมีอาการครั้งแรกเมื่อไร
- อาการเป็น ๆ หาย ๆ หรือไม่
- มีอาการหายใจไม่ทันหรือไม่
- อาการดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่าทางหรือไม่
- เมื่อไม่นานมานี้มีเป็นไข้บ้างหรือไม่
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบบ้างหรือไม่
- สูบบุหรี่หรือไม่
- น้ำหนักลดลงแบบไม่มีสาเหตุหรือไม่
คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
การรักษาโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้หายจากโรคได้ การปฏิบัติตามคำแนะนำการรักษาจะช่วยลดโอกาสในการเป็นซ้ำ ผู้ป่วยจึงควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง