เนื้องอกมดลูก ห้ามกินอะไร เพิ่มความเสี่ยงทำให้อาการแย่ลง
รู้ไหมว่า 80% ของผู้หญิง มักจะเป็นเนื้องอกก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และมีโอกาสเป็นเนื้องอกมดลูกได้ ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ไปรบกวนสุขภาพและชีวิตประจำวัน หากลองไปเสิร์ชค้นหา จะพบความเชื่อมากมายที่แชร์บนอินเทอร์เน็ต ว่าเมื่อมีเนื้องอกมดลูก ห้ามกินสิ่งนั้นสิ่งนี้ เดี๋ยวอาการจะแย่ลง หรือถ้ายังไม่เป็น มันก็จะไปเพิ่มความเสี่ยง บทความนี้จะมาตอบคำถาม และหาความเชื่อมโยงของอาหารที่จะส่งผลต่ออาการเนื้องอกมดลูกกัน
เนื้องอกมดลูก คืออะไร
เนื้องอกมดลูก (Fibroids) คือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติในมดลูก เรียกอีกอย่างว่าเนื้องอกในมดลูก Myomas และ Leiomyomas
แม้โดยปกติ เนื้องอกมดลูก จะไม่พัฒนาเป็นมะเร็ง ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและปัญหาสุขภาพได้ และเมื่อมีเนื้องอกก่อตัวขึ้นภายในและรอบ ๆ ผนังมดลูก ซึ่งประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออื่น ๆ เนื้องอกนั้นก็อาจมีขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดพืช หรือมีขนาดใหญ่กว่าลูกเทนนิสเลยทีเดียว
ในปัจจุบัน แพทย์ไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของเนื้องอก แต่การปล่อยให้มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น รวมไปถึงการที่ร่างกายมีสารบางชนิดต่ำเกินไปด้วย
อาหารที่ส่งผลต่อเนื้องอกมดลูก
มีงานวิจัยบางชิ้น แสดงให้เห็นว่า อาหารบางชนิด สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกมดลูก หรือช่วยให้อาการต่าง ๆ เบาลง เช่น ความเจ็บปวด และการตกเลือด
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิด เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีการรับประทานอาหารชนิดใดเพียงชนิดหนึ่งแล้วจะช่วยป้องกันหรือรักษาเนื้องอกมดลูก เพียงแต่อาจช่วยลดความเสี่ยงหรือช่วยให้อาการดีขึ้นได้ด้วยการกินอาหารบางชนิดอย่างเหมาะสม อาหารเหล่านั้นได้แก่
1. ผักผลไม้
การกินผักผลไม้เยอะ ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคและความเจ็บป่วยได้หลายประการ อาทิ โรคหัวใจ และโรคมะเร็งบางชนิด และยังพบว่าช่วยลดความเสี่ยงเนื้องอกมดลูกอีกด้วย และแม้ผักผลไม้ทุกชนิด จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมอยู่แล้ว แต่ก็มีบางชนิด ที่สามารถช่วยต้านเนื้องอกมดลูกได้ เช่น แอปเปิล บรอกโคลี ผักกาด ผลไม้ตระกูลส้ม เช่น ส้ม มะนาว เกรปฟรุ้ต มะเขือเทศ
หากถามว่าทำไมผักผลไม้ถึงช่วยได้ คำตอบคือ
- ผักผลไม้นั้นมีใยอาหารสูง ที่ช่วยให้ร่างกายสามารถขับเอสโตรเจนส่วนเกินผ่านอุจจาระ จึงลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดเนื้องอกมดลูกได้
- ช่วยให้ BMI ต่ำ เพราะเป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ หากกินผักผลไม้แทนการกินอาหารพลังงานสูง ๆ ก็จะช่วยลด BMI หรือดัชนีมวลกายให้ต่ำ เพราะหากปล่อยให้มีค่า BMI สูง ก็จะเพิ่มระดับเอสโตรเจนในร่างกาย ที่เพิ่มความเสี่ยงเนื้องอกมดลูก
- สารอาหารสูง เพราะมีวิตามิน แร่ธาตุ และแอนติออกซิแดนต์ที่จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูกได้
2. ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ
บางงานวิจัยระบุว่า ในผลิตภัณฑ์จากนมที่อุดมไปด้วยแคลเซียม อาจลดความเสี่ยงต่อเนื้องอกมดลูก แต่ถึงอย่างไรก็แนะนำแบบไขมันต่ำ และมีโพรไบโอติกส์ เช่น โยเกิร์ต ที่มีแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี
การกินอาหารประเภทนี้ในปริมาณที่พอเหมาะ อาจไม่การันตีว่าจะช่วยให้ไม่มีเนื้องอกมดลูก แต่ก็มีประโยชน์และมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงได้บ้าง หากแพ้แลคโตส สามารถกินแคลเซียมจากโยเกิร์ต นมจากพืช ที่มีแคลเซียมและโพรไบโอติกส์อยู่ อย่างไรก็ตาม สามารถตรวจสอบจากข้อมูลโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์ได้
3. อาหารอุดมวิตามินดี
วิตามินดีมีความสำคัญต่อกระดูก ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบประสาท มีบางงานวิจัยแนะนำให้กินวิตามินดีให้เพียงพอเพื่อลดความเสี่ยงเนื้องอกมดลูก สำหรับอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ปลาทะเล เช่น ปลาทูน่า ปลาเทราต์ ปลาแซลมอน รวมไปถึงพืช เช่น อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต
การขาดวิตามินดีพบได้บ่อย เนื่องจากเป็นวิตามินที่พบในอาหารที่กินในชีวิตประจำวันค่อนข้างน้อย หากมีภาวะขาดวิตามินดี แพทย์อาจแนะนำให้กินในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
อาหารที่เพิ่มความเสี่ยง เนื้องอกมดลูก ทำให้อาการแย่ลง
ในขณะที่อาหารบางชนิดช่วยลดความเสี่ยงเนื้องอกมดลูก แต่ในอาหารบางชนิดอาจให้ผลกลับกัน และควรลดหรือหลีกเลี่ยง ได้แก่
1. เนื้อแดง เนื้อแปรรูป
อย่างที่รู้กันว่าเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปนั้น อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคและภาวะต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ซึ่งก็รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงเนื้องอกมดลูกด้วย ซึ่งตรงนี้ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม และในบางการศึกษา พบว่า ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกมดลูก มีรายงานว่า บริโภคเนื้อแดง และเนื้อแปรรูปมากกว่าในคนที่ไม่ได้มีเนื้องอกมดลูก ซึ่งในตอนนี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่ไม่ดี มลพิษ หรือองค์ประกอบอื่น ๆ ของพวกเขาด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ดี แม้จะไม่จำเป็นต้องตัดเนื้อแดงออกจากรายการอาหาร แต่การจำกัดปริมาณให้ลดลง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย หากเป็นโรคหัวใจ หรือโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ก็ควรบริโภคไขมันอิ่มตัวให้น้อยลง
2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม และมีความเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มความเสี่ยงเนื้องอกมดลูกด้วย จากบางงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะไปทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาจทำให้เกิดเนื้องอกมดลูกได้
ดังนั้น การไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มในปริมาณที่เหมาะสม คือ 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย และ 1 แก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้
3. น้ำตาล
อาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว อาจทำให้อาการเนื้องอกมดลูกแย่ลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น ร่างกายสร้างอินซูลินมากเกินไป ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและมีผลต่อการเติบโตของเนื้องอก จึงควรรับประทานแต่น้อย
อย่างไรก็ดี เมื่อมีเนื้องอกมดลูก ควรรับคำปรึกษาจากแพทย์เจ้าของไข้อย่างใกล้ชิด ทั้งการดูแลตัวเอง อาหารการรับประทานยา เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ